Please Wait
5888
อิสลามเป็นศาสนาสุดท้าย บทบัญญัติต่างๆของอิสลามล้วนมีลักษณะถาวร และดังที่อิสลามสามารถตอบโจทก์ได้ในอดีต ก็ย่อมจะต้องตอบทุกโจทก์ในอนาคตได้เช่นกัน
อีกด้านหนึ่ง นับวันก็ยิ่งจะมีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นรายวัน ซึ่งล้วนไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อต้องพิจารณาปัญหาใหม่ๆโดยอ้างอิงหลักการที่เปรียบเสมือนกฏหมายแม่ อิสลามจึงกำหนดวิธีการเฉพาะกิจโดยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญปัญหาศาสนาที่รู้ทันสถานการณ์โลก ทำการค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาต่างๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขและความจำเป็นต่างๆของสังคมและประชาคมโลก เพื่อให้ได้มาซึ่งปรัชญา แนวคิด และระบอบอิสลามอย่างแท้จริง
อุละมาอ์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละยุคสมัยและแต่ละสังคมในการวินิจฉัยปัญหาใหม่ๆบนพื้นฐานของบทบัญญัติแม่ที่มีลักษณะถาวร อาทิเช่น อิมามโคมัยนี, ชะฮีดมุเฏาะฮะรี, อายะตุ้ลลอฮ์ชะฮีดศ็อดร์ ฯลฯ โดยหากบรรดาปราชญ์ศาสนามิได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เราคงไม่มีโอกาสได้สัมผัสอิสลามที่แท้จริงในปัจจุบัน
โดยทั่วไปแล้ว ทุกแนวคิดย่อมจะสนับสนุนให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและเชื่อมั่นในอุดมการณ์มากที่สุด เป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบังคับใช้กฏระเบียบต่างๆ ผู้ที่จะนำแนวทางอิสลามมาประยุกต์ใช้ในสังคมก็ย่อมต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับปรัชญาและระบอบอิสลาม การจะเข้าถึงปรัชญาจะต้องผ่านเทววิทยาอิสลาม และการจะเข้าถึงระบอบอิสลามก็ย่อมต้องผ่านวิชาฟิกเกาะฮ์เชิงวิเคราะห์ ซึ่งล้วนนำเสนอโดยบรรดาฟะกีฮ์ผู้ครบถ้วนด้วยเงื่อนไขที่จำเป็น ส่วนเครื่องมือในการประยุกต์บทบัญญัติให้ทันยุคสมัยถือเป็นหน้าที่ของมนุษยศาสตร์แขนงต่างๆ ซึ่งยิ่งศาสตร์เหล่านี้กว้างไกลเท่าใดก็ยิ่งส่งผลให้เครื่องมือเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในจุดนี้ไม่ถือเป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดาฟะกีฮ์ แต่ต้องประสานกับผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แขนงอื่นๆด้วย
เมื่อกล่าวถึงฟะกีฮ์ในฐานะนักบริหารผู้เชี่ยวชาญการประยุกต์ใช้บทบัญญัติ เราหมายถึงบรรดาฟะกีฮ์ที่รอบรู้และครบถ้วนด้วยเงื่อนไขที่จำเป็นเท่านั้น ส่วนฟะกีฮ์ที่ไม่มีความรอบรู้ นอกจากจะไม่มีคุณค่าใดๆในทัศนะอิสลามแล้ว ในเชิงคำศัพท์ยังปราศจากนัยยะใดๆอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว ทุกแนวคิดย่อมจะสนับสนุนให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและเชื่อมั่นในอุดมการณ์มากที่สุด เป็นผู้กำหนดนโยบายและควบคุมดูแลการบังคับใช้กฏระเบียบต่างๆ
เนื่องจากอิสลามเป็นศาสนาสุดท้าย ซึ่งมีบทบัญญัติที่มีลักษณะถาวรและครอบคลุมทุกชนชั้นของสังคม อันทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของทุกสังคมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ดังที่มีฮะดีษกล่าวว่า“ฮะล้าลของนบีมุฮัมมัดจะฮะล้าลจวบจนกิยามะฮ์ และฮะรอมของนบีมุฮัมมัดจะฮะรอมจวบจนกิยามะฮ์”[1]
ในอีกด้านหนึ่ง เป็นธรรมดาของกาลเวลาที่จะแปรผันและก่อให้เกิดประเด็นใหม่ๆที่แตกต่างจากสภาวะในอดีตโดยสิ้นเชิง ในกรณีเช่นนี้ ถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ศาสนาที่มีบทบัญญัติถาวรจะสอดประสานกับยุคสมัยที่แปรผันอยู่ตลอดเวลา?
ประเด็นนี้เองที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของปราชญ์นักวินิจฉัยทางศาสนา(ฟะกีฮ์)ในฐานะที่จะทำการเชื่อมประสานปัจจัยอันถาวรเข้ากับปัจจัยที่ผันแปรอย่างลงตัว
บรรดาฟะกีฮ์ใช้วิธีการทางเทววิทยาในการค้นหาคำตอบที่ครอบคลุม และการเข้าถึงแก่นปรัชญาของศาสนา และใช้วิธีการทางวิชาฟิกเกาะฮ์เชิงวิเคราะห์ในการสถาปนาประมวลกฏหมายและระบอบอิสลาม[2] โดยบรรดาฟะกีฮ์ทำหน้าที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพทุกยุคสมัย
ประเด็นผู้นำสังคมก็เช่นกัน แน่นอนว่าทุกสังคมย่อมต้องมีผู้นำ อิสลามได้มอบหมายหน้าที่ชี้นำสังคมแก่เหล่าฟะกีฮ์ ทั้งนี้ก็เพราะว่าประเด็นการเมืองการปกครองมิได้อยู่นอกปริมณฑลคำสอนทางศาสนาอิสลาม และคำสอนอันกว้างไกลของอิสลามได้นำเสนอระบอบที่สมบูรณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้แล้ว ซึ่งนอกจากสติปัญญาจะไม่ค้านแล้ว ยังเล็งเห็นความสำคัญเชิงปรัชญาของกระบวนการดังกล่าวอีกด้วย
หากเราจะมองการเมืองในมุมมองของศาสนา และหากถือว่ารัฐมีหน้าที่ปกป้องคุณค่า อุดมการณ์อิสลาม และบทบัญญัติศาสนาแล้ว สติปัญญาย่อมกำหนดว่าผู้เชี่ยวชาญด้านบทบัญญัติศาสนาเท่านั้นที่ควรดำรงตำแหน่งสูงสุดของรัฐ ซึ่งหากมีบุคคลที่ปราศจากบาป(มะอ์ศูม)ก็ถือว่าเหมาะสมแก่ตำแหน่งผู้นำมากที่สุด แต่หากไม่มีบุคคลเช่นนี้ ฟะกีฮ์ผู้ทรงธรรมและเชี่ยวชาญการบริหารคือผู้ที่เหมาะสมที่สุดรองลงมา
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สติปัญญากำหนดว่าผู้ที่จะอยู่ ณ จุดสูงสุดของรัฐแห่งศรัทธาในอุดมคตินั้น จะต้องเป็นผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์มากที่สุด และโดยบทบัญญัติอิสลามแล้ว ฟะกีฮ์ผู้ทรงธรรมคือผู้ที่มีความเหมาะสมสูงสุดในยุคสมัยที่ผู้เป็นมะอ์ศูมยังอยู่ในภาวะเร้นกาย
[1] อัลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 58 ฮะดีษที่19, عَلِیُّ بْنُ إِبْرَاهِیمَ عَنْ مُحَمَّدِ بْنِ عِیسَى بْنِ عُبَیْدٍ عَنْ یُونُسَ عَنْ حَرِیزٍ عَنْ زُرَارَةَ قَالَ سَأَلْتُ أَبَا عَبْدِ اللَّهِ ع عَنِ الْحَلَالِ وَ الْحَرَامِ فَقَالَ حَلَالُ مُحَمَّدٍ حَلَالٌ أَبَداً إِلَى یَوْمِ الْقِیَامَةِ وَ حَرَامُهُ حَرَامٌ أَبَداً إِلَى یَوْمِ الْقِیَامَةِ لَا یَکُونُ غَیْرُهُ وَ لَا یَجِیءُ غَیْرُهُ وَ قَالَ قَالَ عَلِیٌّ ع مَا أَحَدٌ ابْتَدَعَ بِدْعَةً إِلَّا تَرَکَ بِهَا سُنَّةً
[2] ดู: รากฐานทางเทววิทยาของกระบวนการอิจติฮาด,หน้า 383-405 และ ระบอบเศรษฐกิจอิสลาม,อ.ฮาดะวี,หน้า 21-44.