Please Wait
10437
ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ซึ่งได้ถูกตีความว่าเป็นตัวตนหรือจิต, มีหลายมิติด้วยกัน ซึ่งอัลกุรอานได้แบ่งไว้ 3 ระดับด้วยกัน (จิตอัมมาเราะฮฺ, เลาวามะฮฺ, และมุตมะอินนะฮฺ)
จิตที่เป็นอัมมาะเราะฮฺ หมายถึงความปรารถนาด้านความเป็นเดรัจฉาน, ซึ่งครอบคลุมมนุษย์อยู่ หรือสภาพหนึ่งของจิตใจที่โน้มนำมนุษย์ไปสู่การกระทำชั่ว อันเป็นความต้องการอันเป็นกิเลสและตัณหา
ส่วนคำว่า ชัยฏอน ตามรากศัพท์และนิยามที่ให้, หมายถึงทุกการมีอยู่ที่ละเมิดและดื้อรั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นชัยฏอนทั้งหมด บางครั้งก็เป็นญินหรือมนุษย์หรืออาจเป็นเดรัจฉานก็ได้
จุดประสงค์ของอิบลิส, คือชัยฏอนเฉพาะที่มาจากหมู่ญิน แต่เนื่องจากได้อิบาดะฮฺอย่างมากมายจึงได้ถูกยกระดับชั้นไปรวมกับมลาอิกะฮฺ แต่หลังจากกาลเวลาได้ผ่านไประยะหนึ่ง ได้ถูกเนรเทศออกจากความเมตตาของอัลลอฮฺ สืบเนื่องมาจากการฝ่าฝืนคำบัญชาของพระองค์ ที่ทรงสั่งให้กราบอาดัม แต่ชัยฏอนปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตาม ซึ่งมารได้สาบานว่าจะหยุแหย่มนุษย์ทุกคนให้หลงทาง
ผลสรุป จิตที่เป็นอัมมาะเราะฮฺ, ตามความเป็นจริงแล้วก็คือ เครื่องมือชนิดหนึ่งของชัยฏอนมารร้าย ที่ใช้สร้างอิทธิเหนือมนุษย์และบุคคลนั้นก็ถูกนับว่าเป็นพลพรรคของชัยฏอนไปในที่สุด
ดังนั้น การหยุแหย่ของอิบลิสในฐานะที่เป็นชัยฏอนภายนอก, ส่วนการกระตุ้นของจิตที่เป็นอัมมาเราะฮฺและราคะคือมารภายใน, ที่โน้มนำมนุษย์ให้ตกไปสู่ความตกต่ำ.อีกนัยหนึ่งจิตที่เป็นอัมมาเราะฮฺถ้าพิจารณาในแง่ที่เป็นเดรัจฉานซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ได้รับการหยุแหย่จากชัยฏอนมารร้าย ซึ่งชัยฏอนจะเข้ามาที่ละขั้น จนกระทั่งว่าในที่สุดแล้วบุคคลนั้นได้กลายเป็นพลพรรคของมารไปโดยปริยาย
คำตอบสำหรับคำถามนี้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับบทนำดังต่อไปนี้ :
บทนำที่ 1 : จิตและระดับชั้นของจิต
ตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์,มีมิติต่างๆ มากมายซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้ (สภาพความเป็นเดรัจฉาน,มนุษย์,และพระเจ้า) ซึ่งสามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดีจากโองการอัลกุรอานที่กล่าวว่า จิตวิญญาณและจิตของมนุษย์นั้นเป็น 3 ระดับด้วยกัน กล่าวคือ[1]
1-จิตอัมมาเราะฮฺและราคะของความเป็นเดรัจฉาน.
ราคะความเป็นเดรัจฉานของมนุษย์อยู่ในกิเลส, ความปรารถนา, ความโกรธและความต้องการทางจิตนั่นเอง[2] ราคะของจิตปรารถนาและสภาพของจิตใจเช่นนี้ อัลกุรอานเรียกว่า นัฟอัมมาเราะฮฺ , และได้เน้นย้ำว่า “แท้จริง จิตใจกระตุ้นข้างการชั่ว และการกระทำไม่ดีอันนำไปสู่การฝ่าฝืน”[3]
ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเรียกจิตนั้นว่า อัมมาะเราะฮฺ (ผู้ออกคำสั่งให้กระทำชั่ว) ในระดับนี้จะเห็นว่าเขายังไม่ได้พบสติปัญญาและความศรัทธาแม้แต่น้อยนิด เนื่องจากจิตได้ควบคลุมเขาเอาไว้ และทำให้เขาอ่อนนุ่มไปตามคำสั่ง ทว่ามีประเด็นมากมายที่ได้ยอมจำนนต่อจิต และจิตอัมมาเราะฮฺได้เป็นผู้ทำลายเขาจนหมดสิ้น
จากคำพูดของภรรยา อะซีซ ผู้ปกครองอียิปต์[4] ได้ชี้ให้เห็นถึงจิตระดับที่กำลังกล่าวถึง ซึ่งกล่าวว่า
و ما أبرئ نَفْسِی إِنَّ النَّفْسَ لَأَمَّارَةٌ بِالسُّوءِ"
“แท้จริง จิตใจกระตุ้นข้างการชั่ว และการกระทำไม่ดีอันนำไปสู่การฝ่าฝืน”[5]
2- จิตที่เป็นเลาวามะฮฺ :
จิตที่เป็นเลาวามะฮฺ หมายถึงระดับหนึ่งของจิต,เนื่องจากได้ต่อสู้และผ่านการอบรมสั่งสอนแล้ว, ในชั้นนี้จะยกระดับมนุษย์ให้สูงขึ้นไปในระดับหนึ่ง.ในระดับนี้เป็นไปได้ที่ว่าบางครั้งผลของการละเมิด หรือราคะได้หยุแหย่มนุษย์ให้เผอเรอกระทำความผิด หรือฝ่าฝืนคำสั่งได้ แต่หลังจากนั้นเขาจะสำนึกผิดโดยเร็วมีการประณามและตำหนิตัวเอง พร้อมกับตัดสินใจว่าจะทดแทนความผิดที่ตนได้กระทำลงไป นอกจากนั้นยังได้ชำระล้างจิตใจของตนด้วยน้ำของการลุแก่โทษ (เตาบะฮฺ)
อัลกุรอาน เรียกจิตระดับนี้ว่า “นัฟเลาวามะฮฺ” กล่าวว่า “ข้าขอสาบานต่อชีวิตที่ประณามตนเอง (ว่าวันฟื้นคืนชีพนั้นสัจจริง)”[6]
3- นัฟซ์ มุตมะอินนะฮฺ เป็นอีกระดับหนึ่งของจิตภายหลังจากขัดเกลาจิตใจและให้การอบรมโดยสมบูรณ์แล้ว, มนุษย์จะก้าวไปถึงอีกระดับหนึ่ง ซึ่งในระดับนี้จะเห็นว่าไม่มีราคะ ความดื้อรั้น หรือความต้องการใดขึ้นมาเคียงคู่กับความศรัทธา เนื่องจากสติปัญญาและความศรัทธามีความเข้มแข็ง ทำให้สัญชาตญาณและอำนาจชัยฏอนไร้ความสามารถลงทันที เมื่อเผชิญหน้ากับจิตประเภทนี้
และนี่คือตำแหน่งของบรรดาศาสดาทั้งหลาย หมู่มิตรของพระองค์ และผู้เชื่อฟังปฏิบัติตามพวกเขาโดยสัจจริง. พวกเขาได้ศึกษาพลังศรัทธาและความสำรวมตนจากสำนักคิดของอัลลอฮฺ และนับเป็นเวลานานหลายปีที่พวกเขาได้ขัดเกลาและจาริกจิตของตนเอง จนกระทั่งว่าพวกเขาได้รับชัยชนะก้าวไปสู่ระดับสุดท้ายของการทำสงครามใหญ่ (ญิฮาดนัฟซ์)
อัลกุรอาน ได้เรียกจิตระดับนี้ว่า มุฏมะอินนะฮฺ ดังที่กล่าวว่า :
یَا أَیَّتُهَا النَّفْسُ الْمُطْمَئِنَّةُ ارْجِعِی إِلَى رَبِّکِ رَاضِیَةً مَّرْضِیَّةً
“โอ้ ดวงชีวิตที่สงบมั่นเอ๋ย จงกลับมายังพระผู้อภิบาลของเจ้า ขณะที่เจ้ามีความยินดี (ในพระองค์) และเป็นที่ปิติ (ของพระองค์)”[7]
บทนำที่ 2 : อิบลิสและชัยฏอน
1- อิบลิส :
จุดประสงค์ของอิบลิส,คือชัยฏอนเฉพาะเจาะจงที่มาจากหมู่ญินทั้งหลาย, แต่เนื่องจากได้ประกอบอิบาดะฮฺจำนวนมากมาย, จึงได้ถูกยกระดับให้ไปอยู่ในชั้นของมลาอิกะฮฺ แต่หลังจากกาลเวลาได้ผ่านไประยะหนึ่ง,อิบลิสก็ได้ถูกแยกตัวออกจากหมู่มวลมลาอิกะฮฺทั้งหลาย และถูกลดตำแหน่งจากความสูงส่งไปสู่ความต่ำทรามทันที, เนื่องจากอิบลิสได้ฝ่าฝืนคำบัญชาของพระเจ้า มารไม่เชื่อฟังปฏิบัติตามพระองค์อีกต่อไป[8]
2-ชัยฏอน :
ชัยฏอนมาจากรากศัพท์คำว่า “ชะเฏาะนะ” หมายถึงการขัดขืน การไม่เห็นด้วย และความห่างไกล ด้วยเหตุนี้เอง ทุกสิ่งที่ดื้อรั้นอวดดี หรือละเมิดจึงถูกเรียกว่าเป็นชัยฏอน,ซึ่งบางครั้งอาจเป็นมนุษย์ หรือญิน หรือเดรัจฉานก็ได้[9]
ดังที่อัลกุรอานกล่าวว่า “และในทำนองนั้นแหละเราได้ให้นบีทุกคนมีศัตรู คือบรรดาชัยฏอนแห่งมนุษย์และแห่งญินโดยที่พวกเขาต่างก็จะกระซิบกระซาบคําพูด ที่เสริมแต่ง เพื่อหลอกลวงให้แก่กันและกัน”[10]
ด้วยเหตุที่อิบลิสได้ดื้อรั้น ฝ่าฝืนปฏิเสธไม่ปฏิบัติตาม และได้ละเมิดคำสั่ง อีกทั้งเป็นผู้ก่อการเสียหายจึงถูกเรียกว่าเป็น ชัยฏอน
บทนำที่ 3 : ความสัมพันธ์ระหว่างจิตอัมมาเราะฮฺกับชัยฏอน
จิตอัมมาเราะฮฺ ตามความเป็นจริงแล้วเป็นหนึ่งในเครื่องมือทันสมัยของมารร้ายชัยฏอน เป็นหนทางสร้างอิทธิพลของมารเพื่อควบคลุมมนุษย์ และถูกนับว่าเป็นพลพรรคที่แท้จริงของมาร
ดังนั้น การหยุแหย่ของอิบลิสชัยฏอนในฐานะที่เป็น มารภายนอก, ส่วนการกระตุ้นของจิตที่เป็นอัมมาเราะฮฺและราคะคือมารภายใน, ที่โน้มนำมนุษย์ให้ตกไปสู่ความตกต่ำ.
ความพยายามทั้งหมดของชัยฏอนก็คือ การทำให้มนุษย์หลงทางและไปไม่ถึงแก่นของความจริง ในประเด็นนี้ชัยฏอนได้สามบานต่ออำนาจความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺว่า จะทำให้มนุษย์ทุกคนหลงทาง อัลกุรอานกล่าวว่า : “มารกล่าวว่า "ดังนั้น (ขอสาบาน) ด้วยพระอํานาจของพระองค์ แน่นอนข้าฯจะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิด เว้นแต่ปวงบ่าวของพระองค์ในหมู่พวกเขาที่มีใจบริสุทธิ์เท่านั้น"[11]
คำว่า “อัฆวา” มาจากรากศัพท์คำว่า เฆาะนา หมายถึงการต่อต้านความเจริญ, ส่วนความเจริญหมายถึงการไปถึงยังความจริง[12]
ชัยฏอนได้สาบานต่อพลานุภาพความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺว่า จะลวงล่อให้มนุษย์ทั้งหมดหลงทาง[13] ซึ่งชัยฏอนจะหลอกลวงมนุษย์ไปที่ละขั้น และจะทำให้มนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจของตน จนกระทั่งว่ามนุษย์ได้กลายเป็นชัยฏอน และจากเขาได้ทำให้มนุษย์คนอื่นๆ ระหกระเหินหลงทางตามไป
มนุษย์หลังจากได้รับการหยุแหย่จากชัยฏอนมารร้ายแล้ว, เขาได้ยอมจำนนต่อราคะและความปรารถนาแห่งเดรัจฉาน,ตกเป็นทาสของจิตอัมมาเราะฮฺ
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า : “จิตอัมมาเราะฮฺก็เหมือนกับมุนาฟิกีน,จะครอบคลุมมนุษย์โดยกล่าวกับเขาในกรอบของมิตร, จนในที่สุดเขาสามารถควบคลุมมนุษย์ได้ หลังจากนั้นจะโน้นนำเขาไปสู่ขั้นต่อไป”[14]
ชัยฏอนจะหยุ่แหย่บุคคลที่มีความศรัทธาอ่อนแอ และด้วยการช่วยเหลือของราคะ และความปรารถนาแห่งจิตอัมมาเราะฮฺของตนเอง, ทำให้จิตของเขากลายเป็นสถานพำนักสำหรับชัยฏอน และในที่สุดแล้วมารได้สัมผัสทั้งมือและร่างกายของเขา และตนได้ปาวนาตนเองเป็นมิตรผู้ช่วยเหลือมารในที่สุด, เนื่องจากบุคคลที่หัวใจของเขาเป็นสถานพำนักสำหรับชัยฏอน, ดังนั้นเขาไม่เพียงแต่เป็นเจ้าภาพต้อนรับชัยฏอนเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงเขาได้กลายแป็นผู้ช่วยเหลือที่ดีของชัยฏอน[15]
เกี่ยวกับชนกลุ่มดังกล่าวนี้ ท่านอิมามอะลี (อ,) กล่าวว่า : “มันได้มองเห็นโดยอาศัยตาของพวกเขา และมันพูดโดยอาศัยลิ้นของพวกเขา”[16]
สรุป : ชัยฏอนและจิตอัมมาเราะฮฺทั้งสองคือศัตรูของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงได้กล่าวถึงชัยฏอนในฐานะที่เป็นศัตรูเปิดเผยของมนุษย์ และได้แนะนำมนุษย์ว่า จงถือว่าชัยฏอนเป็นศัตรูของพวกเจ้า[17]
รายงานจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) กล่าวว่า จิตอัมมาเราะฮฺ (อำนาจฝ่ายต่ำ) คือศัตรูตัวฉกาจของมนุษย์, ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดสำหรับเจ้าคืออำนาจฝ่ายต่ำของเจ้า”[18] ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงระดับของจิตฝ่ายต่ำ
ปรัชญาของการให้นิยามว่า “ศัตรูที่ร้ายกาจของเจ้าคือจิตฝ่ายต่ำ” จัดว่าเป็นศัตรูภายในของมนุษย์, ศัตรูภายนอกหรือขโมยข้างนอก, ถ้าหากไม่ร่วมมือกับศัตรูหรือขโมยภายในแล้ว, จะไม่สามารถสร้างอันตรายอันใดแก่เราได้อย่างแน่นอน. ศัตรูภายในนั่นเองที่รู้จักและมีข้อมูลทุกอย่าง ซึงมันได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น นำเอาความต้องการของมนุษย์ไปเสนอและรายงานให้ชัยฏอนได้รับรู้
ทางตรงกันข้ามคำสั่งของอิบลิสที่เป็น คำสั่งให้ก่อการเสียหายภายนอก,ได้ตกมาถึงเขาและเขาได้ปฏิบัติตาม ด้วยเหตุนี้เอง จิตอัมมาเราะฮฺจึงถือว่าเป็นพลพรรคของชัยฏอน. ซึ่งคุณลักษณะจำนวนมากมายที่มาจากเขา ได้ถูกนับว่าเป็นพลพรรคของชัยฏอนไปโดยปริยาย[19] ฉะนั้น จิตอัมมาะเราะฮฺซึ่งถือว่าเป็นจิตแห่งเดรัจฉานที่มีอยู่ในมนุษย์,เกิดจากการหยุแหย่และกระซิบกระซาบของชัยฎอน และชัยฏอนจะค่อยๆ ลวงล่อเขาไปที่ละขั้น, จนกระทั่งว่าบุคคลนั้นได้กลายเป็นพลพรรคของชัยฏอนไปโดยปริยาย[20]
[1] ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ, เลาม 25, หน้า 281
[2] ฮักวะตักลีฟ ดัร อิสลาม, อับดุลลอฮฺ ญะวาดี ออมูลี, หน้า 89.
[3] อัลกุรอาน บทยูซุฟ, 53.
[4] นักตัฟซีรบางกลุ่มเชื่อว่า จุดประสงค์จากประโยคดังกล่าวคือศาสดายูซุฟ แต่ทว่าทัศนะนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของนักตัฟซีรส่วนใหญ่, ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ, เล่ม 9, หน้า 433, 434
[5] อัลกุรอาน บทยูซุฟ, 53.
[6] อัลกุรอาน บทกิยามะฮฺ, 2 กล่าวว่า : "وَ لا أُقْسِمُ بِالنَّفْسِ اللَّوَّامَةِ"
[7] อัลกุรอาน บทอัลฟัจญฺ, 27 – 28.
[8] ตัฟซีรมีซาน ฉบับแปลภาษาฟาร์ซี, เล่ม 8, หน้า 26,
[9] อัลมุนญิด ฟิลโลเฆาะฮฺ, ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ, เล่ม 1, หน้า 192.
[10] อัลกุรอาน บทอันอาม, 112 กล่าวว่า : وَ کَذلِکَ جَعَلْنا لِکُلِّ نَبِیٍّ عَدُوًّا شَیاطینَ الْإِنْسِ وَ الْجِنِّ ...
[11] อัลกุรอาน บทซ็อด, 82 - 83 กล่าวว่า : "قالَ فَبِعِزَّتِکَ لَأُغْوِیَنَّهُمْ أَجْمَعینَ
[12] ตัฟซีรมีซานฉบับแปล, เล่ม 1, หน้า 631.
[13] อัลกุรอาน บทซ็อด, 82 - 83 กล่าวว่า : "قالَ فَبِعِزَّتِکَ لَأُغْوِیَنَّهُمْ أَجْمَعینَ
[14] ฆอรรอรุลฮิกัม
[15] มะบาดี อัคลาก ดัรกุรอาน, ญะวาดียฺ ออมูลี, หน้า 115.
[16] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, คำเทศนาที่ 7, กล่าวว่า : فنظر بأعینهم ونطق بالسنتهم؛
[17] อัลกุรอาน บทบะเกาะเราะฮฺ, 168กล่าวว่า : انه لکم عدو مبین؛ แท้จริงมารคือศัตรูที่เปิดเผยของสูเจ้า
[18] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 67, หน้า 64, : قال النبی (ص): «اعدی عدوک نفسک التی بین جنبیک»
[19] ตัฟซีรตัสนีม,อับดุลลอฮฺ ญะวาดี ออมูลี, เล่ม 8, หน้า 516
[20] อัลกุรอาน บทมุญาดะละฮฺ, 19 กล่าวว่า : «استحوذ علیهم الشیطان فانساهم ذکرالله، اولئک حزب الشیطان؛ “ชัยฏอนได้เข้าไปครอบงําพวกเขาเสียแล้ว มันจึงทำให้พวกเขาลืมการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ชนเหล่านั้นคือบรรดาพรรคพวกของชัยฏอน”