Please Wait
8290
คำถามนี้ไม่มีคำตอบแบบสั้น ปรดเลือกปุ่มคำตอบที่สมบูรณ์
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์สำคัญอย่างวีรกรรมกัรบะลา ที่อุดมไปด้วยคุณงามความดีของวีรบุรุษท่านต่างๆนั้น บางครั้งก็พลาดโอกาสที่จะนำเสนอเรื่องราวของเยาวชนคนชายขอบอย่างที่ควรจะเป็น เรื่องราวของท่านหญิงรุก็อยยะฮ์เกือบจะกลืนหายไปในเรื่องราวของอิมามฮุเซน(อ.)และเหล่าวีรชนในกัรบะลาท่านอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เอง ตำราทางประวัติศาสตร์จึงมิได้กล่าวถึงลูกสาววัยเยาว์ของท่านอิมามฮุเซน(อ.) ที่มีนามว่ารุก็อยยะฮ์ ทว่าตำราที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กัรบะลาอ้างถึงคำพูดของอิมามฮุเซน(อ.)ว่า
یا اُختَاه، یا اُم کُلثُوم وَ اَنتِ یا زَینَب وَ اَنتِ یا رُقَیّه وَ اَنتِ یا فاطِمَه و اَنتِ یا رُباب! اُنظُرنَ اِذا أنَا قُتِلتُ فَلا تَشقَقنَ عَلَیَّ جَیباً وَ لا تَخمُشنَ عَلَیَّ وَجهاً وَ لا تَقُلنَ عَلیَّ هِجراً[1]
"น้องสาวพี่ โอ้อุมมุกุลษูม และเธอ โอ้ซัยนับ และเธอโอ้รุก็อยยะฮ์ และเธอ ฟาฏิมะฮ์ และเธอ รุบ้าบ! ดูเถิด หากฉันถูกสังหารแล้ว จงอย่าระทมถึงขั้นฉีกเสื้อผ้า อย่าข่วนหน้าตา อย่ากล่าวคำที่ไม่เหมาะสม"[2]
เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาดังกล่าว คงยากที่จะเชื่อว่าท่านอิมามฮุเซนปรารภเช่นนี้กับเด็กหญิงวัยสามหรือสี่ขวบ
อีกฮะดีษหนึ่งรายงานว่า ท่านอิมามฮุเซนกล่าวว่า
"اَلا یا زِینَب، یا سُکَینَة! یا وَلَدی! مَن ذَا یَکُونُ لَکُم بَعدِی؟ اَلا یا رُقَیَّه وَ یا اُمِّ کُلثُومِ! اَنتم وَدِیعَةُ رَبِّی، اَلیَومَ قَد قَرَبَ الوَعدُ"[3]
"โอ้ซัยนับ โอ้สะกีนะฮ์ โอ้ลูกพ่อ ใครจะอยู่กับพวกเธอภายหลังจากฉันเล่า? โอ้รุก็อยยะฮ์ โอ้อุมมุกุลษูม พวกเธอทุกคนคืออะมานะฮ์จากพระเจ้า บัดนี้ใกล้เวลาที่สัญญาไว้แล้ว"
จากเนื้อหาข้างต้น เป็นไปได้ว่ารุก็อยยะฮ์ในฮะดีษนี้ก็คือรุก็อยยะฮ์วัยสามปีนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ตำราที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับเรื่องราวของเด็กหญิงวัยสามหรือสี่ปีคนนี้ก็คือ หนังสือ "กามิ้ล บะฮาอี" ประพันธ์โดย อิมาดุดดีน เฏาะบะรี หนังสือนี้รายงานว่า "อิมามฮุเซน(อ.)มีบุตรสาววัยสี่ปีอยู่หนึ่งคน ซึ่งถวิลหาพ่อเป็นอย่างยิ่ง คืนหนึ่งเธอฝันว่าได้นั่งอยู่เคียงข้างพ่อ เมื่อตื่นขึ้นมาจึงเรียกหาพ่อว่า "พ่ออยู่ใหนจ๊ะ หนูทนไม่ไหวแล้ว" พี่ป้าน้าอาถามว่า "หนูฝันเห็นอะไรหรือ?" เธอตอบว่า "หนูนั่งข้างๆพ่อ และพ่อกอดหนู" เมื่อยะซีดได้ยินเสียงกรีดร้อง จึงสั่งการว่า "ทหาร! จงนำหัวของพ่อไปให้เด็กดูหน่อยซิ" เมื่อหนูน้อยเปิดผ้าคลุมถาดออกและเห็นศีรษะของพ่อในนั้น เธอกรีดร้องและสิ้นใจ"[4]
อย่างไรก็ดี บรรดาอุละมาอ์เชื่อว่าเด็กหญิงคนนี้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยพิสูจน์จากเบาะแสบางประการ ผู้ประพันธ์หนังสือ บุคลิกภาพของอิมามฮุเซน(อ.) เคยสอบถามจากท่านอายะตุลลอฮ์มัรอะชี นะญะฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และสายรายงานฮะดีษถึงเรื่องนี้ ท่านตอบว่า "แม้ว่าตำราที่มีชื่อเสียงจะไม่ได้กล่าวถึงเด็กน้อยคนนี้ แต่เรื่องดังกล่าวก็แพร่หลายเกินกว่าจะปฏิเสธได้"[5]
นิตยสาร ซาอิร จัดพิมพ์โดย ออสทอเน กุดส์ เราะเฎาะวี ฉบับที่ 135, เดือนอิสฟันด์ 1384 นำเสนอเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับกุโบรของท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ไว้ โดยมีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้ "อายะตุลลอฮ์ มีรซอ ฮาชิม โครอซอนีเล่าว่า ท่านเชคมุฮัมมัด อลี ชามี ผู้รู้แห่งนครนะญัฟเล่าให้ฉันฟังว่า ตาของเขาที่ชื่อ ซัยยิด อิบรอฮีม ดิมัชกี (ซึ่งมีอายุมากกว่าเก้าสิบปี และสืบเชื้อสายถึงซัยยิดมุรตะฎอ) ท่านมีลูกสาวสามคน คืนหนึ่ง ลูกสาวคนโตฝันเห็นท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ โดยท่านหญิงมาวานให้ช่วยไปบอกพ่อให้แจ้งแก่ผู้ว่าฯว่า มีน้ำซึมเข้ามาในกุโบรของฉัน และต้องได้รับการซ่อมแซม ลูกสาวเล่าให้ท่านฟัง แต่ท่านมิได้คิดจะจัดการใดๆ เพราะเกรงว่าจะเดือดร้อน (เนื่องจากผู้ว่าฯถือตามมัซฮับอื่น) ลูกสาวฝันเช่นนี้ถึงสามคืนติดกัน กระทั่งคืนที่สี่ ท่านซัยยิดฝันเห็นด้วยตนเองว่าท่านหญิงรุก็อยยะฮ์ปรารภอย่างฉุนเฉียวว่า ทำไมท่านไม่ไปแจ้งแก่ผู้ว่าฯให้มาซ่อมแซมกุโบรเล่า? รุ่งขึ้นท่านจึงไปหาผู้ว่าฯและเล่าความฝันให้เขาทราบ ผู้ว่าฯเรียกประชุมอุละมาอ์ซุนหนี่และชีอะฮ์ และขอให้ทุกคนอาบน้ำฆุสุลและเตรียมตัวเปิดกุญแจสุสาน โดยหากใครสามารถเปิดได้ก็ให้รับหน้าที่ขุดหลุมและนำศพออกมา ปรากฏว่าซัยยิดอิบรอฮีมเท่านั้นที่เปิดได้ เมื่อเข้าไปก็พบว่าน้ำซึมเข้ามาจริงๆ ท่านจึงวางศพเด็กน้อยไว้บนตักของตนถึงสามวันติดต่อกัน ระหว่างนี้ท่านร่ำไห้ตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลานมาซ ท่านก็ประคองศพไปวางบนผ้าขาวบริสุทธิ์ หลังนมาซเสร็จจึงประคองศพวางบนตักเช่นเดิม โดยในระหว่างการซ่อมแซมกุโบรสามวันนี้ ซัยยิดไม่หิวกระหาย และไม่ง่วงเหงาหาวนอนเลย หลังจากสามวันจึงได้บรรจงวางศพในกุโบรที่ซ่อมเสร็จแล้วดังเดิม และวันที่ 23 เราะบีอุษษานี ฮ.ศ.1323 ฮัจยีมีรซอ อลี อัศฆ็อร อะตาเบก อะมีนุสสุลฏอน สมุหนายกของอิหร่านเป็นผู้ปฏิสังขรกุโบร และตกแต่งเสร็จในปีฮ.ศ. 1419 โดยช่างฝีมือชาวอิหร่านและใช้วัสดุจากประเทศอิหร่าน
[1] อิบนิฏอวู้ส,อบุลกอซิม อบุลฮะซัน บิน สะอ์ดุดดีน, อัลลุฮู้ฟ อะลา ก็อตลัต ฏุฟู้ฟ, หน้า 141 สำนักพิมพ์โอสเวะฮ์,กุม,พิมพ์ครั้งแรก, และ อะอ์ลามุ้ลวะรอ,หน้า 236
[2] คัดจากระเบียน ผลวิจัยทัศนะทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท่านหญิงรุก็อยยะฮ์(อ.)
[3] คณะผู้เขียน,สารานุกรมพจนารถอิมามฮุเซน(อ.),หน้า 511, สำนักพิมพ์ ดารุ้ลมะอ์รู้ฟ,กุม,พิมพ์ครั้งแรก
[4] อิมาดุดดีน เฏาะบะรี, กามิล บะฮาอี,เล่ม 2,หน้า 179 (ศตวรรษที่หกฮ.ศ.) (หนังสือเล่มนี้ประพันธ์โดยผู้รู้ที่เลื่องชื่อ เชค อิมาดุดดีน ฮะซัน บิน อลี บิน มุฮัมมัด เฏาะบะรี ถือแนวอิมามียะฮ์ ซึ่งประพันธ์มอบแด่บะฮาอุดดีน ผู้ครองนครอิศฟะฮานในยุคฮุลากูคาน. ใน: ญะวาด มุฮัดดิษี, ปทานุกรมอาชูรอ, หน้า 200 เรื่องราวดังกล่าวของรุก็อยยะฮ์รายงานจากมุนตะฮัลอาม้าลของเชคอับบาส กุมี,หน้า 437 เนื้อหาเดียวกันนี้มีรายงานใน ตารีค อัลฟี, หน้า 861, ส่วนหนังสือ มะอาลิสซิบฏ็อยน์,เล่ม 2,หน้า 127 ก็ระบุว่าเด็กหญิงคนนี้ชื่อรุก็อยยะฮ์
[5] บุคลิกภาพของอิมามฮุเซน(อ.),หน้า 615