มีอาริฟ(นักจาริก)ในโลกชีอะฮ์มากมายที่ค้นหาสารธรรมโดยอิงคำสอนอันบริสุทธิ์ของบรรดาอิมาม หรืออาจกล่าวได้ว่าวิถีชีอะฮ์ก็คือการจำแลงอิรฟานและการรู้จักพระเจ้าในรูปคำสอนของอิมามนั่นเอง
ในยุคปัจจุบัน ไม่เพียงแต่สามารถจะขัดเกลาจิตใจและจาริกทางอิรฟานได้ หากแต่ต้องถือเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วน เหตุเพราะการจะบรรลุถึงตักวาในยุคที่โลกเต็มไปด้วยเทคโนโลยีแห่งโลกิยะนั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อเข้าถึงแก่นธรรมแห่งอิรฟานแล้วเท่านั้น ซึ่งจะสามารถพบแหล่งกำเนิดอิรฟานที่ถูกต้องและสูงส่งที่สุดได้ ณ แนวทางอิมามียะฮ์
อิรฟานและชีอะฮ์
มีเหตุผลมากมายที่บ่งชี้ว่าอิรฟานที่แท้จริงมีความเชื่อมโยงกับสำนักคิดชีอะฮ์อย่างชัดเจน อาริฟหลายท่านเชื่อว่าโดยแก่นแท้แล้ว สองแนวคิดข้างต้นนี้ก็คือสิ่งเดียวกัน ท่านซัยยิดฮัยดัร ออโมลี ซึ่งเป็นอาริฟที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า:
“ชีอะฮ์และอิรฟานมีต้นกำเนิดเดียวกัน และดำเนินสู่แก่นธรรมเดียวกัน เนื่องจากแหล่งอ้างอิงของศาสตร์ทุกแขนงของชีอะฮ์ก็คือท่านอิมามอลี(อ.)และวงศ์วานของท่าน ส่วนกรณีของอาริฟ(ตะศ็อววุฟที่แท้จริง)ก็เช่นกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากพวกเขาจะไม่อ้างอิงคำสอนจากผู้ใดนอกจากอิมามอลีและวงศ์วานของท่าน บางคนถือว่าแนวอิรฟานและสำนักอิรฟานต่างๆมีต้นกำเนิดมาจากกุเมล บิน ซิยาด นะเคาะอี ซึ่งเป็นสาวกพิเศษของอิมามอลี บางคนเชื่อว่าแนวทางนี้ได้มาจากฮะซัน บัศรี ซึ่งก็เป็นผู้ที่เลื่อมใสในตัวท่านเช่นกัน บางคนถือว่าได้มาจากอิมามญะฟัร ศอดิก(อ.) ซึ่งเป็นลูกหลานของท่านและมีหลักฐานยืนยันถึงความเป็นอิมาม ... ฉะนั้น บรรดาอิมามของชีอะฮ์จึงเป็นทั้งประมุขด้านชะรีอัต และเป็นผู้นำฝ่ายเฏาะรีกัต และยังเป็นแกนและเสาหลักของฮะกีกัต”[1]
ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างชีอะฮ์และอิรฟานเป็นประเด็นที่กว้างเกินกว่าจะกล่าวถึงในบทความสั้นๆ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และเนื้อหา อย่างไรก็ดี คำสอนของอิรฟานไม่ว่าจะภาคทฤษฎีหรือในแง่วัตถุวิสัยล้วนรณรงค์สู่การเป็น “มนุษย์ผู้สมบูรณ์”ในฐานะที่เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าในหมู่ประชาชนทั้งสิ้น และแน่นอนว่าบรรดาอิมามก็คือบุคคลเหล่านี้ โดยในยุคแห่งการเร้นกายอันเป็นยุคสุดท้ายนั้น ท่านอิมามมะฮ์ดี (อิมามท่านที่สิบสอง) ก็คือกุฏบ์ (แกน) ของเหล่าอาริฟ โดยมีนบีคิเฎรและนบีอีซา ฯลฯ คอยเป็นเสนาบดีและผู้ช่วยของท่าน
ด้วยเหตุนี้จึงมีอาริฟ(นักจาริก)ในโลกชีอะฮ์มากมายที่ค้นหาสารธรรมโดยอิงคำสอนอันบริสุทธิ์ของบรรดาอิมาม หรืออาจกล่าวได้ว่าแก่นคำสอนของหลักอิมามะฮ์และวิลายะฮ์ที่ปรากฏในแนวทางชีอะฮ์ก็คือการจำแลงอิรฟานและการรู้จักพระเจ้าในรูปคำสอนของอิมามนั่นเอง หรือที่เรียกกันว่า “วิลายะฮ์ตั้กวีนี”และระดับขั้นทางใจ ในมุมมองของอิรฟานนั้น อิมามก็คือหัวใจและแกนของโลกทั้งผอง และเป็นภาพลักษณ์ของคุณลักษณะและพระนามของพระองค์ทั้งหมด
สำนักตะศ็อววุฟ
ประเด็นการสืบทอดหรือการเข้าร่วมสำนักอิรฟานนั้น มักได้รับอิทธิพลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างครูอิรฟานและสานุศิษย์ ดังกรณีความสนิทสนมระหว่างชัมส์ ตับรีซี กับ เมาละวี อย่างไรก็ดี มิไช่ว่าศิษย์ทุกคนที่เรียนรู้จากครูบาจะสามารถบรรลุอิรฟานขั้นสูงเสมอไป มีบางคนที่สามารถเข้าถึงแก่นของอิรฟานได้ด้วยเบื้องลึกของตน (ซึ่งตามทัศนะชีอะฮ์แล้ว จะเกิดขึ้นโดยผ่านแก่นแห่งอิมามะฮ์เท่านั้น) ฉะนั้นจึงมีอาริฟหลายคนที่แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากเหล่าอาริฟท่านอื่นให้สามารถสอนแก่ลูกศิษย์ลูกหาได้ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ถือว่าตนเองสังกัดในสำนักใดสำหนักหนึ่งของอิรฟาน อาทิเช่น อิบนิ อะเราะบี ซึ่งถือว่านบีคิเฎรคือครูของตน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่อาริฟที่มีชื่อเสียงล่วงลับไป ก็มักจะมีการถ่ายทอด “เฏาะรีกัต”(แนววิธี)กันในหมู่ลูกศิษย์รุ่นต่อรุ่น ซึ่งอาจมีการสังคายนาหรือบิดเบือนไปตามกาลเวลา ทำให้บางครั้งไม่อาจจะถือว่าการสังกัดสำนักอิรฟานหรือการสืบเชื้อสายถึงอาริฟท่านใดท่านหนึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าแนวทางนั้นคือสำนักอิรฟานที่ถูกต้องเสมอไป
เป็นที่ทราบกันว่าเหล่าอาริฟผู้สมบูรณ์มักใช้ชีวิตปะปนอยู่ในสังคมทั่วไปทุกยุคสมัย โดยอาจจะอยู่ในเครื่องแบบหรืออาชีพใดก็ได้เพื่อจะให้การช่วยเหลือผู้แสวงหาการจาริกอิรฟาน ทั้งนี้ก็เพราะอัลลอฮ์ทรงไม่ประสงค์ที่จะปิดกั้นโอกาส และหากพบว่ามีมุอ์มินที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างบริสุทธิ์ใจในหนทางนี้ พระองค์ก็จะทรงบันดาลให้มีครูบาอาจารย์เข้ามาชี้แนะหนทางอย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถจำกัดนัยยะของอิรฟานไว้แค่สำนักอิรฟานที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะบางครั้งก็ไม่สามารถจะพบอิรฟานได้ในสำนักต่างๆโดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน และก็ไม่อาจจะเชื่อได้เสมอไปว่า ผู้ที่ได้รับเสื้อผ้าซูฟีหรือเข้าสังกัดสำนักต่างๆจะเป็นผู้ที่คงไว้ซึ่งอิรฟานที่แท้จริงแห่งอัลลอฮ์ อันเป็นแก่นแท้ของมัซฮับและชะรีอัตของเหล่าศาสนทูตของพระองค์ ดังวจนะของนักกวีนามฮาฟิซที่ว่า:
“ค่าของซูฟีมิได้ดูกันเพียงแค่ความสมถะ
บ่อยครั้งอาภรณ์ที่ชุนปะนำพาสู่ไฟนรก”
บรรดาอาริฟกำหนดว่า“อานุภาพความรักอัลลอฮ์ที่มีต่อกายและใจของอาริฟ”คือหลักเกณฑ์ที่จะจำแนกอาริฟที่แท้จริงออกจากพวกฉวยโอกาส อาริฟจะสามารถโอนถ่ายอานุภาพดังกล่าวแก่ลูกศิษย์ ซึ่งสามารถสัมผัสได้อย่างยาวนาน ตรงข้ามกับพวกที่แอบอ้างเป็นอาริฟซึ่งถนัดแต่จะใช้คารมรื่นหู เล่ห์เหลี่ยม มายากล และยกคำพูดของอาริฟที่มีชื่อเสียงมาเพื่อระดมคะแนนนิยมและต้มตุ๋นสาวกของตน อุบายเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ทำให้ผู้คนในสังคมมีอคติต่อแนวอิรฟานโดยรวม
อิรฟานที่แท้จริงในยุคปัจจุบัน
ในยุคที่เต็มไปด้วยอบายมุขและเทคโนโลยีที่ฉาบด้วยกิเลสและตัณหาอย่างปัจจุบันนี้ อิรฟานสามารถที่จะมีบทบาทอันโดดเด่นในการช่วยเหลือมนุษยชาติ ไม่เพียงแต่จะเป็นไปได้ที่จะฟื้นฟูอิรฟาน หากแต่ต้องถือเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วน เพราะการเข้าใจเปลือกนอกของศาสนาอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอต่อการถักทอตักวาในเบื้องลึกของจิตใจ แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วยสัมผัสทางจิตวิญญาณเท่านั้น
ในอีกมุมหนึ่ง การประจักษ์ว่าโลกสมัยใหม่ถึงทางตัน โดยที่การเริงโลกีย์ที่แพร่หลายในปัจจุบันไม่สามารถจะบำเรอความกระหายได้อีกต่อไป กระทั่งต้องหันไปพึ่งยาเสพติดและฆ่าตัวตายอย่างแพร่หลาย เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า มนุษยชาติกำลังก้าวสู่ยุคสุดท้ายในแง่อิรฟาน และมีความกระหายที่จะได้หวลคืนสู่คุณธรรมทางจิตวิญญาณอันเป็นคุณธรรมที่สามารถสัมผัสได้ ณ หัวใจ และรับรู้ได้ในโลกนี้โดยไม่ต้องรอถึงโลกหน้า คุณธรรมที่จะสนองให้มนุษยชาติอิ่มเอม และนำพาให้หลุดพ้นจากความไร้แก่นสารของโลกนี้
อิรฟานภาคปฏิบัติ
เบื้องต้นได้เรียนชี้แจงไปแล้วว่า อิรฟานมิไช่สิ่งที่แปลกแยกจากศาสนา แต่เป็นแก่นและเบื้องลึกของศาสนานั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองที่วิธีปฏิบัติเบื้องต้นของอิรฟานก็มีเพียงชะรีอัตเท่านั้น ต่างกันตรงที่ชะรีอัตที่กระทำด้วยสำนึกแห่งอิรฟานย่อมจะมีความลึกซึ้งมากกว่าปกติ อันจะนำพานักจาริกไปสู่เป้าหมายที่สูงขึ้นเรื่อยๆ คำว่าชะรีอัตแปลว่าหนทาง ส่วนอิรฟานและการรู้จักพระองค์ถือเป็นเส้นชัยของหนทางนี้ ชะรีอัตอิสลามมิได้เป็นขนบประเพณีของศาสนาที่แพร่หลายในสังคมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคำสั่งที่จำเป็นต่อการปกปักษ์รักษาอัญมณีอันเลอค่าในตัวมนุษย์ เพื่อจะนำพาสู่การประจักษ์ถึงตนเองและพระเจ้า
หากปฏิบัติตามลำดับของชะรีอัตและตักวา(ซึ่งล้วนเป็นมารยาทของความเป็นมนุษย์)อย่างเคร่งครัดแล้ว เมื่อนั้นหัวใจก็จะมีศักยภาพพอที่จะได้รับอานิสงส์ทางจิตวิญญาณซึ่งเรียกกันว่า“เฏาะรีกัต” และเส้นชัยของหนทางนี้ก็มิไช่อื่นใดนอกจากได้ประจักษ์ถึง“ฮะกีกัต”
เบื้องต้นของการย่างก้าวสู่หนทางจาริกสู่อัลลอฮ์และการมุมานะในหนทางนี้ก็คือการเตาบะฮ์ อันหมายถึงการตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะละทิ้งบาปทั้งมวล เพื่อแผ้วถางหัวใจให้ได้รับการนำทางของพระองค์ การนำทางในที่นี้อาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การได้มีโอกาสพบมนุษย์ผู้สูงส่งอันถือเป็นการนำทางพิเศษของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักจาริกได้พัฒนาถึงขั้นที่สูงขึ้นนั้น ยิ่งจำเป็นต้องมีครูผู้เพียบพร้อม ฉะนั้น ผู้ที่มีโอกาสได้พบและสานสัมพันธ์กับบุคคลพิเศษเหล่านี้จึงถือว่าเป็นผู้ที่มีความผาสุกที่สุดแล้ว
หากนักจาริกมีความมุ่งมันพากเพียรในหนทางอิรฟานอย่างแท้จริง ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดในโลก อัลลอฮ์จะทรงประทานการนำทางพิเศษแก่เขาอย่างแน่นอน เมื่อศึกษาอัตชีวประวัติของนักจาริกที่ยิ่งใหญ่ก็จะพบว่าพวกเขาได้รับโอกาสที่จะพบอาริฟที่สูงส่งได้โดยที่ตนเองก็ไม่เคยคาดฝันมาก่อน ฉะนั้นจึงควรทราบว่า พลานุภาพของพระองค์ในการนำทางนั้น มิได้จำกัดไว้เพียงยุคใดยุคหนึ่ง ดังที่เหล่าอาริฟมีความกระหายที่จะนำทางลูกศิษย์มากกว่าที่ลูกศิษย์แสวงหาอาริฟเสียอีก ฉะนั้น หากมีความบริสุทธิ์ใจในการแสวงหา ย่อมจะมีปฏิกิริยาจากพระองค์อย่างแน่นอน สิ่งที่เราขาดแคลนในยุคปัจจุบันก็คือความมุ่งมั่นที่จะปลดแอกแห่งโลกิยะ หาไม่แล้ว การนำทางพิเศษของอัลลอฮ์มีพร้อมไว้ให้ปวงบ่าวของพระองค์ได้ตักตวงเสมอ
อนึ่ง โลกชีอะฮ์มีอาริฟที่ยิ่งใหญ่เสมอมา ในยุคร่วมสมัยก็มีอาริฟหลายท่านที่ให้การช่วยเหลือและอบรมนักจาริกมากมาย อาทิเช่น อายะตุลลอฮ์ มีรซอ อลี ออฆอ กอฎี, มุลลอ ฮุเซนกะลี ฮะมะดอนี, อายะตุลลอฮ์ อันศอรี ฮะมะดอนี และอีกหลายท่านที่เพียรพยายามอบรมลูกศิษย์มากมายทั้งในแง่วิชาการและอิรฟาน ปัจจุบันลูกศิษย์เหล่านี้ทั้งผู้ที่มีชื่อเสียงและผู้ไม่ประสงค์จะเป็นที่รู้จัก ต่างก็ช่วยกันผดุงไว้ซึ่งแวดวงอิรฟานสืบไป
ท้ายนี้ ขอแนะนำหนังสือ “มะกอล้าต”ประพันธ์โดยอายะตุลลอฮ์ มุฮัมมัด ชะญาอี แก่ผู้สนใจแวดวงจาริกทางอิรฟาน หนังสือดังกล่าวมีสามเล่ม[2] และนำเสนอขั้นตอนการจาริกไว้ดังนี้
1.“ยักเซาะฮ์”หรือแรงจูงใจจากอัลลอฮ์ 2.เตาบะฮ์(การหวลสู่พระองค์) 3.ขัดเกลาจิตใจ(เตาบะฮ์ให้พ้นจากคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์) 4.ปรารถนาและมุ่งมั่น 5.การระมัดระวังขั้นแรก 6.การระมัดระวังขั้นที่สอง
อ่านเพิ่มเติมได้จากระเบียนต่อไปนี้
7709 (ลำดับในเว็บไซต์ 7855), 9043 (ลำดับในเว็บไซต์ 9018)
[1] ออโมลี,ซัยยิดฮัยดัร,ญามิอุ้ลอัสร้อร วะมันบะอุ้ลอันว้าร,หน้า 4,สำนักพิมพ์อิลมีฟัรฮังฆี,ปี 1368
[2] เล่ม1 พื้นฐานภาคทฤษฎีของการขัดเกลา
เล่ม2 การขัดเกลาภาคปฏิบัติ(1)
เล่ม3 การขัดเกลาภาคปฏิบัติ(2)
งานประพันธ์เล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โซรู้ช.