เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาซูเราะฮ์กุ้ลฮุวัลลอฮ์ จะเข้าใจว่ามุสลิมเชื่อว่าอัลลอฮ์มิได้ถือกำเนิดจากผู้ใดและมิได้ให้กำเนิดผู้ใด ศาสนาเอกเทวนิยมล้วนเชื่อเช่นนี้ ซึ่งแนวทางของพระเยซูก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน เหตุเพราะศาสนาเทวนิยมล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญาและธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ สติปัญญาก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าพระผู้สร้างทุกสรรพสิ่งย่อมไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใด แน่นอนว่าผู้มีคุณลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่ต้องมีบิดาหรือบุตร เพราะการมีบิดาหรือบุตรบ่งบอกถึงการมีสรีระเชิงวัตถุ ซึ่งย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งพาอวัยวะ และแน่นอนว่าพระเจ้าปราศจากข้อบกพร่องเหล่านี้
ส่วนความเชื่อที่แพร่หลายในหมู่ชาวคริสเตียนในปัจจุบันนั้น ชี้ให้เห็นว่ามีการบิดเบือนคำสอนอันทำให้ผิดเพี้ยนไปจากศาสนาคริสต์ดั้งเดิม
หนึ่งในโองการของซูเราะฮ์กุ้ลฮุวัลลอฮ์ฯกล่าวว่า อัลลอฮ์คือ”เศาะมัด”(ผู้เป็นที่พึ่งของสรรพสิ่งทั้งปวง[1]) นักอธิบายกุรอานบางท่านเชื่อว่า لم یلد و لم یولد (มิได้ให้กำเนิดและมิได้ถือกำเนิด) เป็นการขยายความคำว่า “เศาะมัด”[2] ซึ่งสื่อว่า พระองค์เป็นที่พึ่งสูงสุดเนื่องจากมิได้ถือกำเนิดและมิได้ให้กำเนิด.
ในเชิงสติปัญญาแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่อัลลอฮ์ผู้เป็นที่พึ่งสูงสุด จะมีบิดาหรือบุตร เนื่องจากการที่สิ่งๆหนึ่งจะให้กำเนิดอีกสิ่ง ย่อมแสดงว่าสิ่งนั้นสามารถแบ่งส่วนได้ และทุกสิ่งที่แบ่งส่วนได้ย่อมมีองค์ประกอบเชิงวัตถุ กล่าวคือ เมื่อมีสัดส่วน ก็ไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากสัดส่วนของตน เพราะหากสัดส่วนต่างๆไม่ครบถ้วน สิ่งนั้นย่อมไม่บังเกิดขึ้น สรุปคือ ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าให้กำเนิดนั้น ถือเป็นโมฆะในแง่ของสติปัญญา เนื่องจากความเชื่อเช่นนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าพระเจ้ายังต้องพึ่งพาสิ่งอื่น ซึ่งขัดกับสถานะความเป็นพระเจ้า อันแสดงว่าผู้ที่เชื่อเช่นนี้ยังไม่รู้จักพระเจ้าอย่างแท้จริง
ส่วนที่ว่าพระเจ้ามิได้ถือกำเนิดจากผู้ใดนั้น ก็เนื่องจากผู้ที่ถือกำเนิดย่อมต้องพึ่งพาผู้ให้กำเนิด นั่นหมายความว่า หากเราเชื่อว่าอัลลอฮ์ถือกำเนิดจากผู้อื่น แสดงว่าต้องพึ่งพาผู้นั้น ซึ่งเราได้อธิบายไปแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ที่พระผู้เป็นปฐมเหตุที่ทุกสรรพสิ่งต้องพึ่งพา กลับต้องพึ่งพาผู้อื่นเสียเอง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงไม่อาจจะยอมรับได้ว่าพระเจ้าถือกำเนิด หรือให้กำเนิดผู้อื่น
เมื่อเป็นเช่นนี้ หากพบคำสอนในศาสนาใดที่ขัดต่อหลักสติปัญญาที่ว่าพระเจ้าย่อมไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใด และทุกสิ่งต้องพึ่งพาพระองค์ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องถือว่าศาสนาที่มีคำสอนดังกล่าวถูกบิดเบือนจากแนวทางดั้งเดิม(แห่งเตาฮีด)เสียแล้ว
เราเชื่อว่าท่านนบีอีซา(อ.)และศาสนทูตทุกท่านเชื่อในเตาฮีด และเชิญชวนประชาชาติสู่หลักการแห่ง“ลัมยะลิด วะลัมยูลัด”ทั้งสิ้น กุรอานเล่าว่า ในวัยแบเบาะ ท่านนบีอีซา(อ.)ได้เอ่ยถ้อยคำปาฏิหารย์ที่ว่า“ฉันคือบ่าวของอัลลอฮ์ พระองค์ทรงประทานคัมภีร์แก่ฉัน และแต่งตั้งให้ฉันเป็นนบี”[3] ฉะนั้น การที่คนกลุ่มหนึ่งมองข้ามเหตุผลทางสติปัญญาและถือว่าท่านเป็นบุตรของพระเจ้านั้น เกิดจากสาเหตุที่มีการเบี่ยงเบนแนวทางของศาสนาดังกล่าว ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าการเบี่ยงเบนเริ่มโดย“นักบุญเปาโล”
ในอดีต นักบุญเปาโลเคยเป็นยิวกลุ่มฟารีสี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งตนเป็นศัตรูกับชาวคริสเตียนอย่างชัดเจนด้วยการทรมานและสังหารกลุ่มชาวคริสต์ ในช่วงเวลานี้เองที่นักบุญเปาโลเข้ารีตเป็นคริสเตียน และได้กลายเป็นนักเผยแพร่มือฉมัง เขาเผยแพร่คำสอนของพระเยซูในลักษณะที่สอดคล้องกับรสนิยมของบุคคลทั่วไปในยุคนั้น และพยายามอธิบายเหตุผลที่ตนเองเข้ารีตเป็นคริสเตียนด้วยเหตุผลจากคัมภีร์โตร่าห์(เตารอต) เขาเผยแพร่คริสตศาสนาเป็นเวลายี่สิบปี และใช้เวลาหลายปีในการเรียบเรียงมุขปาฐะและคำสอนต่างๆจากพระเยซูคริสต์
หลักคำสอนสำคัญของนักบุญเปาโลได้แก่
1. คริสตศาสนาเป็นศาสนาแห่งโลก
2. ตรีเอกานุภาพ อันส่งผลให้ต้องเชื่อว่าพระเยซูและพระจิตก็คือพระเจ้า
3. พระเยซูในฐานะพระบุตร อาสาลงมาไถ่บาปแทนมนุษย์
4. พระเยซูฟื้นคืนชีพจากสุสาน และขึ้นสู่ฟากฟ้าเคียงข้างพระบิดา
นักบุญเปาโลคือผู้วางรากฐานความเชื่อที่ว่า“พระเยซูคือพระเจ้า”คนแรก เขากล่าวว่า“พระเยซูผู้ปลดปล่อย ได้สถาปนาอาณาจักรแห่งพระเจ้าบนพื้นพิภพ และหลังจากฟื้นคืนชีพแล้ว พระองค์จะกลับมาอีกครั้ง ฉะนั้น พระเยซูจึงเป็นผู้ปลดปล่อยโลกนี้และโลกหน้า พระองค์คือพระเจ้า ผู้มีอยู่ก่อนทุกสรรพสิ่ง และทุกสรรพสิ่งล้วนมาจากพระองค์”[4]
ชาวคริสต์บางคนไม่สามารถยอมรับความเชื่อที่เบี่ยงเบนของนักบุญเปาโลได้ อัครสาวกของพระเยซูบางท่านแสดงท่าทีคัดค้านนักบุญเปาโลอย่างชัดเจน ความเชื่อที่นักบุญเปาโลพยายามเผยแพร่ว่าพระเยซูคือพระบุตรและเป็นพระเจ้านั้น อ่อนแอถึงขั้นที่คัมภีร์ไบเบิ้ลเองก็ไม่สามารถพิสูจน์ความเชื่อดังกล่าวได้เลย[5] ซ้ำร้ายยังสามารถที่จะใช้คัมภีร์ไบเบิ้ลหักล้างความเชื่อดังกล่าวได้ด้วย[6]
คัมภีร์ไบเบิ้ลประกอบด้วยพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ พันธสัญญาเดิมก็คือคัมภีร์ของชาวยิวที่เรียกว่าโตร่าห์(เตารอต)ซึ่งประกอบด้วย 39 บท ส่วนพันธสัญญาใหม่ก็คือคัมภีร์ ไบเบิ้ลอันเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งสองส่วนนี้ประกอบเป็นพระคัมภีร์ อันเป็นที่ยอมรับของชาวคริสเตียน
ในพันธสัญญาเดิมไม่มีเนื้อหาที่บ่งบอกว่าพระเยซูคือบุตรของพระเจ้าเลย ส่วนพันธสัญญาใหม่(ที่ชาวคริสเตียนอ้างว่ามีระบุไว้ว่าพระเยซูเป็นพระเจ้า)นั้น บางที่ก็มีนัยยะว่าพระเยซูคือมนุษย์ธรรมดา(และมิได้เป็นพระเจ้าหรือบุตรของพระเจ้า) และบางที่ก็มีนัยยะว่าพระเยซูคือพระเจ้าหรือพระบุตรของพระองค์
เราขอนำเสนอและวิพากษ์วิจารณ์ดังนี้
ก. พระเยซูในฐานะมนุษย์ปุถุชน
1. “นี่คือบ่าวของข้า ซึ่งข้าได้คัดเลือกเขา และเป็นผู้ที่ข้ารักและพึงพอใจ”[7]
2. ในหนังสือภารกิจ(ส่วนหนึ่งของคัมภีร์ไบเบิ้ล)มีอยู่ว่า “พระเจ้าของอับราม และอิสอัคและยาค็อบ พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเรา ได้เทิดเกียรติแก่เยซูผู้เป็นบ่าวของพระองค์”[8]
เนื้อหาเหล่านี้ระบุชัดเจนว่าพระเยซูคือบ่าวที่ได้รับการคัดสรรโดยพระเจ้า
ข. พระเยซูในฐานะพระเจ้า
1. ในพระวรสารของนักบุญมาระโก 16:37-39 มีอยู่ว่า “แท้ที่จริงแล้ว ชายผู้นี้(พระเยซู)คือบุตรของพระเจ้า”[9]
สามารถวิเคราะห์ได้ว่า แม้ข้อความนี้จะระบุว่าเป็นพระบุตร แต่ต้องถือว่าบุตรในที่นี้เป็นความหมายเชิงอุปมาอุปไมย มิไช่ความหมายตรงตัว เนื่องจากในไบเบิ้ลยังมีระบุไว้ว่า “แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ พระองค์ทรงประทานอำนาจให้เป็นบุตรของพระเจ้า คือคนทั้งหลายที่เชื่อในพระนามของพระองค์
ซึ่งมิได้เกิดจากเลือด หรือความประสงค์ของเนื้อหนัง หรือความประสงค์ของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า”[10]
และอีกแห่งได้กล่าวว่า“ท่านที่รักทั้งหลาย ขอให้เรารักซึ่งกันและกัน เพราะว่าความรักมาจากพระเจ้า และทุกคนที่รักก็บังเกิดจากพระเจ้า และรู้จักพระเจ้า”[11]
ฉะนั้น หากคุ้นเคยกับสำนวนของไบเบิ้ลจะทราบว่า ผู้ศรัทธาและผู้บำเพ็ญความดีทุกคนล้วนได้รับฐานะบุตรของพระเจ้าทั้งสิ้น แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่เคยมีใครประกาศว่าเหล่าผู้ศรัทธาก็เป็นคณะพระบุตรเสียที บุตรที่ระบุในโองการต่างๆเหล่านี้หาได้แตกต่างจากโองการที่ระบุว่าพระเยซูเป็นพระบุตรไม่ นอกจากผู้ศรัทธาแล้ว บุคคลบางคนยังได้รับการระบุว่าเป็นพระบุตรเช่นกัน อาทิเช่น โองการที่พระเจ้ากล่าวเกี่ยวกับศาสดาโซโลมอน(สุลัยมาน)ว่า “เราจะเป็นบิดาของเขา และเขาจะเป็นบุตรของเรา”[12] แต่ก็ไม่มีใครกล่าวอ้างว่าท่านศาสดาโซโลมอนเป็นพระบุตรแต่อย่างใด
ฉะนั้น แม้สมมติว่าไบเบิ้ลปัจจุบันเป็นคัมภีร์อินญีลของพระเยซู แต่ก็ไม่สามารถจะใช้ยืนยันได้ว่าพระเยซูคือพระบุตรและพระเจ้าเป็นพระบิดา ชี้ให้เห็นว่าการบิดเบือนดังกล่าวเกิดขึ้นในภายหลัง
ค. คัมภีร์ไบเบิ้ลมีเนื้อหาที่ขัดแย้งกันเอง ทำให้ไม่อาจจะยอมรับได้ว่าเป็นคัมภีร์จากฟากฟ้าทั้งหมด ดังตัวอย่างที่นำเสนอไปแล้วว่า บางโองการระบุว่าพระเยซูเป็นบ่าว แต่บางโองการระบุว่าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า(ในกรณีที่ยังยืนกรานจะตีความคำว่า“บุตร”ในลักษณะการให้กำเนิด)
ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้เองที่ทำให้บาทหลวงคริสต์บางคนวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อดังกล่าว ดังที่บาทหลวงเอเรียสแห่งอเล็กซานเดรียได้แย้งความเชื่อนี้ในปีคศ. 325 ว่า “พระเจ้าย่อมจำแนกจากสิ่งถูกสร้างทั้งปวง จึงเป็นไปไม่ได้ที่พระเยซูที่ถือกำเนิดเหมือนมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และอาศัยบนโลก จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระเจ้าที่ท่านเพิ่งจะรู้จัก”[13]
ข้อท้วงติงดังกล่าวส่งผลให้มีการประชุมสังคายนาใหญ่ที่นครนีเซีย ในที่สุดก็มีมติให้ความเชื่อเรื่องบุตรของพระเจ้ากลายเป็นหลักศรัทธาที่คริสตศาสนิกชนทุกคนต้องยึดถือ จึงกล่าวได้ว่า แม้ความเชื่อนี้จะนำเสนอโดยนักบุญเปาโลก็จริง แต่การประชุมดังกล่าวได้ตราให้ทัศนะของนักบุญเปาโลกลายเป็นหลักศรัทธาที่มิอาจปฏิเสธได้ อันส่งผลให้ทัศนคติดังกล่าวยังคงแพร่หลายในหมู่ชาวคริสเตียนถึงทุกวันนี้
สรุปว่าไม่มีข้อขัดแย้งใดๆระหว่างศาสนาเทวนิยม แต่ศาสนาคริสต์ปัจจุบันได้ออกห่างจากคำสอนของนบีอีซา(อ.) เพราะมิเช่นนั้น เราจะได้เห็นว่าคำสอนของนบีอีซา(อ.)หาได้ผิดแผกไปจากอิสลามไม่ และจะประจักษ์ว่าอิสลามคือศาสนาที่สมบูรณ์ ที่จะเติมเต็มแก่ศาสนาทุกศาสนาในอดีต
[1] อัลอิคลาศ,2 แปลโดยอ.มะการิม ชีรอซี
[2] อัลมีซานฉบับแปล,เล่ม 20,หน้า 27, และ ตัฟซีรเนมูเนะฮ์,เล่ม 27,หน้า 439.
[3] มัรยัม,30 قالَ إِنِّی عَبْدُ اللَّهِ آتانِیَ الْکِتابَ وَ جَعَلَنی نَبِیًّا
[4] ประวัติศาสนาและนิกาย,อับดุลลอฮ์ มุบัลลิฆี,เล่ม 2,บทชีวประวัตินักบุญเปาโล. และ ดู เว็บไซต์อิมามญะว้าด(อ.)
[5] แม้เราจะไม่สามารถยอมรับได้ว่าไบเบิ้ลปัจจุบันคือคัมภีร์อินญีลที่ประทานแก่นบีอีซา(อ.)
[6] รู้จักและศึกษาคริสตศาสนา,ฝ่ายเผยแพร่ของเฮาซะฮ์,หน้า 25.
[7] พระวรสาร นักบุญมัทธิว 12:18
[8] หนังสือกิจการอัครสาวก 3:13
[9] พระวรสาร นักบุญมาระโก 16:37-39
[10] พระวรสาร นักบุญยอห์น, 1:12,13
[11] จดหมายนักบุญยอห์น ฉบับที่หนึ่ง 4:7
[12] หนังสือพงศาวดาร 17:13