ความหวัง ความรัก และความกริ่งเกรงที่มีต่ออัลลอฮ์ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นในชีวิตของเราทุกคนเป็นปกติ เพียงแต่เราอาจจะเคยชินเสียจนไม่รู้ตัว แม้แต่การเดินเหินตามปกติของเราก็เกิดจากปัจจัยทั้งสามประการดังกล่าว เนื่องจากหากไม่มีความหวัง เราก็จะไม่ก้าวเท้าเดิน และหากไม่ก้าวเท้าเดิน ก็จะไม่มีวันถึงจุดหมาย และหากไม่มีความกลัว เราก็จะไม่ระวังตัว จนอาจประสบอุบัติเหตุได้ ซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถไปถึงจุดหมายได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกประการก็คือ การใช้สอยเครื่องอำนวยความสะดวกเช่น ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า เตาแก๊ส ฯลฯ เรามีความสุขและรักที่จะใช้สอยสิ่งเหล่านี้ แต่หากเราใช้สอยโดยไม่ระมัดระวังและไม่เกรงภัยที่อาจเกิดขึ้น เครื่องอำนวยความสะดวกเหล่านี้ก็อาจเป็นอันตรายแก่เราได้ทุกเมื่อ
ด้วยเหตุนี้เอง การผนวกความรัก ความกลัว และความหวังเข้าด้วยกัน จึงไม่ไช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใด
ในกรณีของอัลลอฮ์ก็เช่นกัน ควรต้องกริ่งเกรง รักและคาดหวังในพระองค์ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากความรักและความหลงใหลในพระองค์จะสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์เคลื่อนไหวสู่การปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์พึงพอพระทัย เพื่อให้ได้รับความการุณย์และลาภเนียะมัตต่างๆทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนความกริ่งเกรงก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ต้องนอบน้อมยอมสยบต่อคำบัญชาของพระองค์ และพยายามหลีกห่างกิเลสตัณหาและปัจจัยต่างๆที่จุดเพลิงพิโรธของพระองค์
การจับคู่กันระหว่างความหวังและความกลัวนี้ จะทำให้บุคคลทั่วไปได้อยู่เย็นเป็นสุข และปราศจากความหวาดผวาในโลกหน้า เนื่องจากโลกนี้คือสถานที่หว่านเมล็ดพันธุ์ เมล็ดที่หว่านไปต้องได้รับการปกป้องจากภัยคุกคามเพื่อรอให้ถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต และในวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ย่อมไม่จำเป็นต้องมีการปกป้องใดๆอีกต่อไป
โดยลำพังแล้ว ความกลัวจะนำมาซึ่งความท้อแท้ ความเบื่อหน่าย และความเครียด ส่วนความหวังและความรักนั้น หากไม่กำกับไว้ด้วยความกลัว ก็จะนำพาสู่ความลำพองตน ความดื้อรั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณสมบัติที่ไม่พึงประสงค์ทั้งสิ้น
ความรัก ความหวัง และความกลัวนั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบและเข้าใจกันดีอยู่แล้ว มนุษย์เราเมื่อเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ใดปรากฏการณ์หนึ่ง อาจจะเกิดความกลัวเนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้:
ก. รู้สึกถึงอันตรายที่จะคุกคามชีวิต ทรัพย์สิน เกียรติยศ
ข. รับรู้ถึงความยิ่งใหญ่หรือความสำคัญของสิ่งนั้นๆ
ค. ไม่ทราบว่าสิ่งนั้นจะมีผลลัพท์อย่างไร
อย่างไรก็ดี ในบางกรณี สาเหตุเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อมๆกัน
ส่วนความรักก็อาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้:
ก. ความรักที่เกิดจากการรับรู้จุดเด่นหรือแรงดึงดูดของบุคคลอื่น ทำให้มีคำกล่าวที่ว่าความรักทำให้คนตาบอด อย่างไรก็ดี คำพูดนี้จะถูกต้องก็ต่อเมื่อจุดเด่นเหล่านี้เป็นความสวยงามผิวเผินไม่ยั่งยืน แต่หากความสวยงามเหล่านี้เกิดจากกริยามารยาทที่งดงาม หรือความโดดเด่นอันเป็นเอกหลักษณ์ นอกจากจะไม่ทำให้ตาบอดแล้ว ยังทำให้เข้าใจและเข้าถึงความเป็นจริง
ข. ความรักที่เกิดจากการต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อช่วยให้ตนเองบรรลุเป้าหมาย ในกรณีนี้เป็นการรักตนเองมากกว่าที่จะเป็นการรักผู้อื่น
ค. ความรักที่เกิดจากความทราบซึ้งในบุญคุณเนื่องจากได้รับผลประโยชน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณผู้เป็นที่รัก
ง. ผู้เป็นที่รักปรารถนาจะรับความรักจากผู้มีความรัก เพราะหวังดีและต้องการให้ผู้มีความรักได้ประสบความเจริญก้าวหน้า
ทั้งนี้ เหตุปัจจัยแห่งความรักทั้งหมดที่กล่าวมา อาจเกิดขึ้นประการเดียวหรือเกิดขึ้นพร้อมกันหลายประการสำหรับแต่ละกรณี
หากจะพิจารณาให้ดีก็จะพบว่า ทั้งความรัก ความหวัง และความกลัว ล้วนแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลุ่มปัจจัยดังกล่าวจะอยู่รวมกันเสมอ แม้ในบางกรณีอาจจะมีอิทธิพลไม่เท่ากัน คนทั่วไปมักจะมองข้ามปัจจัยเหล่านี้เนื่องจากความเคยชิน โดยไม่รู้ว่าปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อเราอย่างยิ่ง ความหวังและความปรารถนาสร้างแรงจูงใจให้คนเราประกอบกิจวัตรประจำวัน หรือแม้แต่ยอมเสี่ยงกระทำในสิ่งอันตราย ขณะเดียวกันความกลัวก็จะทำให้มีความระมัดระวังและความรอบคอบมากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าหากมนุษย์เรามีเพียงความหวังและความปรารถนา ก็มักจะมองโลกในแง่ดีโดยไม่ระมัดระวัง อันเป็นเหตุให้ประสบเหตุร้ายในชีวิต แต่ถ้ามนุษย์มีเพียงความกลัว ก็จะระแวงทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งข้าวปลาอาหาร เพราะมัวแต่ัระแวงว่าอาจจะสำลักอาหารจนถึงแก่ชีวิตได้ เช่นนี้ก็มี
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ฉงนใจว่า“ความหวังและความกลัวอัลลอฮ์จะรวมกันได้อย่างไร”ต่างหากที่ต้องกลับไปเรียนรู้ธรรมชาติมนุษย์ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน
กล่าวคือ ระดับของความรัก ความหวัง และความกริ่งเกรงพระองค์ที่มีในใจผู้ศรัทธานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
ก. บุคคลคนนั้นรู้จักอัลลอฮ์ รู้จักคุณลักษณะเชิงวิจิตร และคุณลักษณะเชิงบริสุทธิของพระองค์เพียงใด
ข. บุคคลคนนั้นมีประวัติอย่างไร
ค. บุคคลคนนั้นมั่นใจอนาคตของตนเพียงใด
ผู้ที่ยึดมั่นคุณลักษณะเชิงบริสุทธิของพระองค์เป็นหลัก หรือเคยมีประวัติด่างพร้อยในอดีต ระดับความกลัวของเขามักจะสูงกว่าความหวัง และในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ยึดมั่นในคุณลักษณะเชิงวิจิตรเป็นหลัก และเคยได้สัมผัสความเมตตาของพระองค์ ตลอดจนมีประวัติที่ใสสะอาด หรือเคยเตาบะฮ์จากบาปมาแล้ว บุคคลประเภทนี้มักจะมีระดับความหวังที่สูงกว่าความกลัว ส่วนบุคคลทั่วไปที่มีคุณสมบัติกลางๆ ในลักษณะที่ไม่มั่นใจว่าความดีของตนจะเพียงพอหรือไม่ อีกทั้งไม่มั่นใจว่าจะรอดพ้นไฟนรกหรือเปล่า แต่ยังหวังว่าพระองค์จะอภัยโทษให้ในวันพิพากษา บุคคลประเภทนี้สามารถรักษาสมดุลย์ระหว่างปัจจัยทั้งสามได้
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความรักและความกลัวของคนส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความโลภและผลประโยชน์ กล่าวคือ คนส่วนใหญ่รักอัลลอฮ์เพราะหวังจะได้รับลาภต่างๆในสรวงสวรรค์ หรือไม่ก็เพราะเกรงกลัวการลงโทษในนรก แต่ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่หลงใหลความวิจิตร ความบริสุทธิ เกียรติยศและความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ ซึ่งนอกจากบรรดาศาสดาและเหล่าตัวแทนศาสดาแล้ว น้อยนักที่จะมีผู้บรรลุสถานะเช่นนี้
ท่านอิมามอลี(อ.)ได้จำแนกบุคคลทั้งสามกลุ่มดังกล่าวไว้ว่า “กลุ่มหนึ่งภักดีต่ออัลลอฮ์เพื่อหวังลาภยศในสวรรค์ นี่คือการภักดีวิถีพ่อค้า ส่วนอีกกลุ่มภักดีต่อพระองค์เพียงเพราะกลัวไฟนรก ซึ่งก็เป็นการภักดีวิถีทาส กลุ่มสุดท้ายภักดีต่ออัลลอฮ์เพราะเหตุผลที่พระองค์ควรค่าแก่การภักดี นี่แหล่ะคือการภักดีวิถีอิสรชน[1] (อิสระจากความต้องการส่วนตัว)
ด้วยเหตุนี้เองที่ครูบาอาจารย์ด้านจริยธรรมกล่าวกันว่า ความรักคือหนึ่งในฐานรากสำคัญของการอบรมวิถีอิสลาม อัลกุรอานในฐานะคัมภีร์ด้านจริยธรรมก็ถือว่าความรักเป็นแกนหลักของความดีงามทั้งปวง ท่านอิมามศอดิก(อ.) ก็เคยกล่าวไว้ว่า“อัลลอฮ์ทรงบ่มเพาะกริยามารยาทของท่านนบี(ซ.ล.)ด้วยความรัก”[2]
กุรอานและฮะดีษอุดมไปด้วยปัจจัยการทำให้กลัว(แจ้งข่าวร้าย) และสร้างความหวัง (แจ้งข่าวดี) ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวนับเป็นเป้าหมายหลักสำหรับผู้มีศรัทธาในระดับพื้นฐาน และเป็นตัวจุดประกายและสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ที่มีศรัทธาในระดับปกติ ซึ่งจะทำให้มนุษย์ค่อยๆเกิดแรงจูงใจด้วยการกำชับและสนับสนุน แล้วจึงใช้ความรักเป็นแรงบันดาลใจต่อไป[3] ฉะนั้น จึงไม่ไช่เรื่องแปลกประหลาดที่ความรักความหวัง และความกริ่งเกรงอัลลอฮ์จะมีปฏิกริยาสอดประสานกัน เพราะปฏิกริยาเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการอบรมจริยธรรมมนุษย์ เนื่องจากด้วยกับปัจจัยความกลัวเท่านั้นที่มนุษย์จะออกห่างจากกิเลสตัณหาอันเป็นต้นเหตุของความพิโรธของพระองค์ ส่งผลให้มีความนอบน้อมยอมสยบต่อพระองค์มากขึ้น และด้วยกับปัจจัยความรักและความหวังเท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์ปรารถนาที่จะปฏิบัติศาสนกิจและกุศลกรรมทุกประเภทที่ทำให้ใกล้ชิดพระองค์
สรุปคือ ความหวังและความกลัวจะกระตุ้นให้มนุษย์ประดับประดาตนเองด้วยการกระทำความดี และปลดเปลื้องกิเลสตัณหาและบาปกรรมทุกประการ
และนี่ก็คือสภาวะในอุดมคติที่อัลลอฮ์ทรงตระเตรียมไว้สำหรับมนุษย์ ส่งผลให้ซึมซับศีลธรรมจากอัลลอฮ์ และก้าวสู่สถานะความเป็นเคาะลีฟะฮ์ของพระองค์ อันจะส่งผลให้ได้รับความปลอดภัยและความสุขสบายในโลกหน้า ดังที่โองการกุรอานกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง อาทิเช่น “ผู้ที่มีศรัทธาต่ออัลลอฮ์และปรโลก และปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม ผลรางวัลของพวกเขาจะสถิตอยู่ ณ พระองค์อัลลอฮ์ และไม่เหลือความกลัวและความโศกเศร้าที่จะคุกคามพวกเขาอีกต่อไป”[4]
ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ความกลัวที่ปราศจากความหวัง จะทำให้หัวใจตายด้าน ซึมเศร้า สิ้นหวัง ละทิ้งเตาบะฮ์ และทำให้จมปลักอยู่ในวังวนแห่งบาป สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับโทษทัณฑ์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ส่วนความหวังที่ปราศจากความกลัว ก็จะทำให้เกิดความลำพองตนและผัดผ่อนการเตาบะฮ์โดยหวังจะกระทำในบั้นปลายชีวิต ทำให้คาดหวังผิดๆว่าจะได้รับความเมตตาจากพระองค์แน่นอน ที่ว่าผิดก็เพราะว่าหากไม่พยายามแสวงหาด้วยการกระทำก็ไม่ควรคาดหวังความเมตตาใดๆจากพระองค์ ด้วยเหตุนี้เองที่ท่านอิมามฮุเซน(อ.)กล่าวในดุอาอะเราะฟะฮ์ว่า “มืดบอดเถิด สองตาที่ไม่เห็นว่าพระองค์เฝ้าดูการกระทำ และผู้ที่พระองค์มิได้ประทานความรักให้ ย่อมเป็นผู้ขาดทุน” ฉะนั้น ทุกคนจะได้เห็นผลกรรมของความกลัวและความหวังในโลกหน้า จำพวกหนึ่งถูกลงโทษเนื่องจากใช้ประโยชน์จากลาภของพระองค์ในทางที่มิชอบ หรือมีอาการสิ้นหวังในพระองค์จึงหันไปทำบาปจนหนำใจ หรือถูกหลอกให้เริงโลกย์จนลืมเก็บเกี่ยวกุศลกรรม อีกจำพวกหนึ่งได้รับลาภบริสุทธิ์ โดยไม่ต้องกลัวเกรงสิ่งใด พวกเขาคือผู้ที่ได้รักษาสมดุลย์ระหว่างความกลัวและความหวัง ทำให้สามารถเป็นแนวหน้าในการงดเว้นบาปและตักตวงบุญ
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาศึกษาจากหมวด “ความกลัวและความหวัง” หรือ “ความรัก” หรือ “การอุปถัมภ์”ในหนังสือจริยธรรมอิสลามทั่วไป อาทิเช่น
1. ระดับจริยธรรมในกุรอาน,อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี,หน้า
อธิบายสี่สิบฮะดีษ, อิมามโคมัยนี,หน้า
จริยศาสตร์ในกุรอาน, มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี,หมวดความกลัวและความหวัง.