สติปัญญาถือเป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายใน ส่วนชะรีอัต(ศาสนา)ก็ถือเป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายนอก ทั้งสองมีหน้าที่นำพามนุษย์สู่ความผาสุกและความสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายในและภายนอกจะขัดแย้งกันเอง
จากการที่สติปัญญานับเป็นปรากฏการณ์หนึ่ง และการที่ทุกปรากฏการณ์มีข้อจำกัด ศักยภาพของสติปัญญาก็มิอาจอยู่เหนือกฏเกณฑ์นี้ได้ จึงมีศักยภาพประมวลผลในระดับของสรรพสิ่งถูกสร้างเท่านั้น โดยไม่อาจที่จะหยั่งรู้ถึงสถานภาพที่แท้จริงของพระเจ้าได้อย่างถี่ถ้วนเนื่องจากทรงปราศจากข้อจำกัด
สติปัญญาสามารถเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวมของระบบระเบียบหรือบทบัญญัติต่างๆได้ แต่กระนั้นก็ยังต้องพึ่งพาศาสนาอยู่บ้าง แต่ในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อยของวันปรโลก หรือหลักเกณฑ์ของศาสนบัญญัติต่างๆนั้น สติปัญญาไม่สามารถจะเข้าถึงได้เลยหากปราศจากคำบอกเล่าของศาสนา สภาวะเช่นนี้จึงไม่ก่อให้เกิดความผิดฝาผิดตัวระหว่างแนวคิดอิสลามและวิถีแห่งปัญญา
อย่างไรก็ดี บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างสติปัญญาและศาสนาในกรณีที่เราสอดแทรกสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปริมณฑลของสติปัญญา หรือกระบวนการทางความคิดของเราไม่เข้ารูปเข้ารอย หรือกรณีที่เราจำกัดความหมายของสติปัญญาให้แคบลง
อนึ่ง คงเป็นการดีหากคุณจะกรุณายกตัวอย่างสักประเด็นตามที่คุณกล่าวไว้
นักวิชาการนิยามสติปัญญาว่าเป็นเป็นอมฤตภาพเชิงเดียวที่ทำให้มนุษย์สามารถรับรู้ข้อเท็จจริง สติปัญญาคือการรับรู้สัจธรรมและเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพของจิตตรึกตรอง[1]
ส่วนในแง่ปรัชญา เราสามารถแบ่งสติปัญญาออกเป็น ปัญญาภาคทฤษฎี และปัญญาภาคปฏิบัติ ปัญญาภาคทฤษฎีมีหน้าที่รับรู้และจำแนกปรากฏการณ์ต่างๆ[2] ส่วนปัญญาภาคปฏิบัติก็คือปัจจัยที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์[3] จำแนกสิ่งที่ควรกระทำออกจากสิ่งที่มิชอบ กล่าวได้ว่าปัญญาประเภทนี้เป็นฐานรากสำหรับการดำเนินชีวิตของผู้คนเนื่องจากเป็นตัวตัดสินใจกระทำหรืองดเว้นพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง[4] ปัญญาภาคปฏิบัติตรงกับสิ่งที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)อธิบายไว้ว่า العقل ما عبد به الرحمن و اکتسب به الجنان (ปัญญาคือสิ่งที่นำพาสู่การภักดีพระเจ้าและใช้ในการไขว่คว้าสรวงสวรรค์)[5]
สรุปเบื้องต้นว่า สติปัญญาที่กล่าวถึงในประเด็นนี้หมายถึงศักยภาพในการเข้าใจ ซึ่งมีคุณสมบัติที่เข้าใจเชิงองค์รวม
สติปัญญามีสถานภาพสูงส่งในทัศนะอิสลาม ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี กล่าวไว้ในตัฟซี้รอัลมีซานว่า “สติปัญญาคือพลังที่ประเสริฐสุด”[6] อัลลอฮ์จึงทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานถึงสามร้อยโองการเพื่อรณรงค์ให้มนุษย์หมั่นใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากสติปัญญา[7] ท่านอัลลามะฮ์ฯเชื่อว่าอิสลามให้ความสำคัญต่อสติปัญญาเป็นพิเศษ ดังที่ไม่สามารถพบเห็นโองการใดในกุรอานเลยที่จะชักชวนให้มนุษย์คล้อยตามอย่างไม่ลืมหูลืมตา
[8]ด้วยเหตุนี้เองที่ไม่อาจจะเชื่อได้ว่าอิสลามและวิถีแห่งปัญญาจะขัดแย้งกันเอง อย่างไรก็ดี บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างสติปัญญาและศาสนาในกรณีที่เราเพิ่มปัจจัยภายนอกเข้าไปในปริมณฑลของสติปัญญา หรือกระบวนการทางความคิดของเราไม่เข้ารูปเข้ารอย หรือกรณีที่เราจำกัดความหมายของสติปัญญาให้แคบลงกว่าที่ควร
เมื่อพิจารณาถ้อยธรรมของท่านอิมามอลี(อ.)ในหนังสือนะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์ว่าด้วยเรื่องของภารกิจของบรรดานบี ท่านกล่าวว่า:
و یثیروا لهم دفائن العقول [9](บรรดานบีได้กระตุ้นศักยภาพที่ซ่อนเร้นของสติปัญญา) ทำให้ทราบได้ว่าสติปัญญาและศาสนกิจไม่เพียงแต่จะไม่ขัดกัน แต่ยังทำงานสอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
กล่าวคือ ท่านอิมามอลี(อ.)ถือว่าการปลุกจิตสำนึกและปัญญาของมนุษยชาติเป็นภารกิจสำคัญของบรรดานบี
สติปัญญาและจิตสำนึกมีลักษณะคล้ายหีบสมบัติที่บรรจุสัจธรรมและข้อเท็จจริงไว้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้บรรดานบีจึงพร่ำสอนในสิ่งที่สอดรับกับตรรกะและปัญญาธรรม ในวิชาอุศูลุ้ลฟิกฮ์มีหลักการหนึ่งทีว่า
کل ما حکم به العقل حکم به الشرع ทุกมติที่สติปัญญาบังคับใช้ ศาสนาก็บังคับใช้เช่นกัน[10] ในทางตรงกันข้ามก็ถูกต้อง นั่นก็คือ ทุกมติที่ศาสนาบังคับใช้ สติปัญญาก็บังคับใช้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ปัญญาจึงกลายเป็นหนึ่งในรากฐานของศาสนบัญญัติ
สรุปคือศาสนบัญญัติทั้งหมดไม่ขัดต่อสติปัญญา อันที่จริงคำสอนของบรรดานบีก็คือปัญญาธรรมที่มนุษย์หลงลืมเนื่องจากการลวงล่อของชัยฏอน บรรดานบีมีหน้าที่เผยปัญญาธรรมของมนุษยชาติให้เป็นที่ประจักษ์
จะว่าไปแล้ว วิธีที่บรรดานบีเชิญชวนผู้คนสู่สัจธรรมก็มิได้แตกต่างไปจากวิธีที่มนุษย์เข้าถึงสัจธรรมด้วยกระบวนการที่ถูกต้องทางปัญญาเท่าใดนัก จะต่างกันก็ตรงที่บรรดานบีได้รับสัจธรรมจากต้นกำเนิดอันบริสุทธิ์แห่งวะฮีย์ แต่ถึงแม้บุคคลเหล่านี้จะมีความเชื่อมโยงกับโลกุตรธรรม แต่ก็ถ่อมตนแสดงเทศนาตามระดับความคิดของผู้คนทั่วไป บรรดานบีรณรงค์ให้มนุษยชาติกระตุ้นศักยภาพของสามัญสำนึกที่มีอยู่ เพื่อการไตร่ตรองด้วยเหตุผลอันแข็งแกร่ง ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่าบรรดานบีย่อมไม่ไช่บุคคลที่จะบีบบังคับให้ประชาชนคล้อยตามอย่างหูหนวกตาบอดและปราศจากวิจารณญาณ กุรอานกล่าวว่า “จงกล่าวเถิด(โอ้มุฮัมมัด) นี่คือแนวทางของฉัน ฉันและผู้เจริญรอยตามฉันเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ด้วยวิจารณญาณ(บะศีเราะฮ์)”[11]
ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างศาสนาและสติปัญญา เนื่องจากทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันในแง่ต้นกำเนิด จุดประสงค์ และวิธีการ ศาสนาที่แท้จริงจะเชิญชวนมนุษย์ให้ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือในการสร้างเสริมศรัทธาต่อโลกุตรธรรม สติปัญญาและฮะดีษเชื่อมโยงกันในลักษณะลูกโซ่ สติปัญญาคือเครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายในมนุษย์ ส่วนชะรีอัตศาสนาก็เป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายนอก ซึ่งทั้งสองทำงานสอดประสานกัน นำพาให้มนุษย์พ้นจากวังวนแห่งกิเลศตัณหาเพื่อทะยานสู่ความผาสุกอันนิรันดร์ ดังที่ท่านอิมามกาซิม(อ.)กล่าวไว้ว่า “อัลลอฮ์ได้ประทานเครื่องพิสูจน์สัจธรรมแก่มนุษย์ทั้งจากภายในและภายนอก เครื่องพิสูจน์จากภายนอกก็คือบรรดานบีและอิมาม ส่วนเครื่องพิสูจน์จากภายในก็คือสติปัญญา”[12]
ฉะนั้นจึงไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างเครื่องพิสูจน์สัจธรรมภายในและภายนอกเด็ดขาด ฮุจญะฮ์(เครื่องพิสูจน์)ในที่นี้หมายถึงการนำทาง และโดยทั่วไป ผู้นำทางคือผู้ที่เชี่ยวชาญเส้นทางที่ทอดสู่จุดหมายปลายทาง ท่านอิมามกาซิม(อ.)ต้องการสื่อว่าการจาริกสู่อัลลอฮ์ต้องมีผู้นำทางสองแบบ ผู้นำทางภายในและผู้นำทางภายนอก อย่างไรก็ดี สองผู้นำทางนี้ยังต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันอยู่ และมนุษย์จะถึงจุดหมายได้ด้วยการนำทางที่สอดประสานกันเท่านั้น
ซึ่งก็เป็นไปตามวจนะของท่านอิมามฮุเซน(อ.)ที่ว่า “จุดสูงสุดของสติปัญญาอยู่ที่การปฏิบัติตามสัจธรรม”[13] และดังที่กุรอานกล่าวว่า“อัลลอฮ์คือสัจธรรม”[14] และ“สัจธรรมมาจากพระองค์”[15] ในเมื่อการปฏิบัติตามสัจธรรมคือจุดอิ่มตัวของปัญญา อัลลอฮ์ผู้เป็นสัจธรรมได้บัญชาให้เราปฏิบัติตามเครื่องพิสูจน์สัจธรรมจากภายนอก ดังที่ทรงตรัสว่า จงภักดีต่ออัลลอฮ์และจงภักดีต่อศาสนทูตและผู้ครองสิทธิ(ผู้เป็นตัวแทนศาสนทูต)ในหมู่สูเจ้า [16]
พึงสังเกตุว่าประเด็นทางศาสนาขั้นสูงบางข้ออาจไม่สอดคล้องกับแนวคิดสหชาตปัญญาตามนิยามของเดการ์ต หรืออาจไม่ตรงกับปัญญาตามนิยามของสำนักคิดปฏิบัตินิยม(Pragmatism) หรืออาจขัดกับปัญญาเชิงทฤษฎีในนิยามของค้านท์ (เดการ์ตไม่เชื่อเกี่ยวกับปัญญาเชิงองค์รวม และพูดถึงสหชาตปัญญาหรือความคิดเชิงย่อยที่มีมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น ส่วนพวกปฏิบัตินิยมเชื่อว่าปัญญาที่มีประโยชน์คือปัญญาที่ไขปัญหาเชิงประสบการณ์เชิงผัสสะนิยมได้เท่านั้น และค้านท์เชื่อว่าปัญญาภาคทฤษฎีไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และมติของสติปัญญาไม่มีคุณค่าใดๆในเชิงวิชาการ)
แน่นอนว่าคุณธรรมอิสลามอย่างเช่นการเสียสละ การพลีชีพ การบริจาค การศรัทธาต่อสิ่งที่เหนือญาณวิสัย และอื่นๆอีกมากมาย ย่อมไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดสหชาตปัญญาเชิงย่อยของเดการ์ต นอกจากนี้ เรายังจะต้องจำแนกปัญญาออกจากการคาดเดาที่อาจเข้าแทนที่ปัญญา ซึ่งจะทำให้หลงคิดไปว่าสิ่งนั้นเป็นสัจธรรม ดังที่กุรอานกล่าวว่า و هم یحسبون اَنهم یحسنون صنعاً؛ (และพวกเขาคิดว่าตนเองกำลังประกอบคุณความดีอยู่)[17] ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงความคิดเพ้อฝันที่เป็นโมฆะ
ดังที่ได้พิสูจน์แล้วว่าศาสนาและสติปัญญาทำงานสอดประสานกัน และได้ปฏิเสธว่าอิสลามมิได้ขัดแย้งกับกระบวนการทางปัญญาเนื่องจากมีจุดเริ่มต้น จุดประสงค์ และเป้าหมายเดียวกัน ฉะนั้น หากพบกรณีความขัดแย้งระหว่างศาสนาและสติปัญญา จะต้องตรวจสอบว่ามติของปัญญานั้นๆตรงกับมาตรฐานที่ถูกต้องในกระบวนความคิดแล้วหรือไม่ หรือเป็นไปได้ว่าเราอาจนึกว่าทัศนะของตนคือคำสอนของศาสนาที่ขัดกับสติปัญญา
อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงเสมอว่าความเชื่อทางศาสนาและศาสนกิจบางประการอาจจะพ้นญาณวิสัย ซึ่งแม้สติปัญญาจะไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุถึงแก่นความเข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้ได้ อาทิเช่น ความเชื่อปลีกย่อยเกี่ยวกับปรโลก และหลักเกณฑ์ของศาสนกิจบางประการ
ขอย้ำอีกครั้งว่า มีสองปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสติปัญญากับศาสนกิจบางประการ
1. การที่ศีลธรรมพื้นฐานของอิสลามมากมายอยู่พ้นญาณวิสัยของสหชาตปัญญาที่เข้าใจเพียงประเด็นปลีกย่อย
2. การที่ทฤษฎีหรือข้อสันนิษฐานบางประการถูกแอบอ้างว่าเป็นการชี้ขาดของสติปัญญา จึงต้องแยกให้ชัดเจน
และด้วยการที่สติปัญญาถือเป็นเครื่องพิสูจน์สัจธรรมที่พระเจ้าทรงประทานแก่มนุษย์ ฉะนั้น ผู้ใดที่ศึกษาคัมภีร์ศาสนาด้วยต้นทุนทางสติปัญญา เขาจะได้รับชุดความรู้อันบริสุทธิ์ไม่ว่าจากตัวบทศาสนาหรือหลักคิดทางปัญญา แต่หากผู้ใดศึกษาคัมภีร์บนพื้นฐานของกระบวนการทางความคิดที่อ่อนเปลี้ย ก็เปรียบเสมือนฝุ่นผงที่กลบความเข้าใจในคัมภีร์เสียหมด
หากถามว่าสามารถปกป้องคำสอนหลักและปลีกย่อยของศาสนาด้วยกระบวนการทางสติปัญญาได้ทั้งหมดหรือไม่? ตอบว่าสติปัญญาเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าใจศาสนา แต่ไม่ไช่ปัจจัยที่เพียงพอ เนื่องจากไม่สามารถจะใช้กระบวนการทางสติปัญญาพิสูจน์ศาสนกิจปลีกย่อยได้ เพราะสิ่งปลีกย่อยอยู่นอกญาณวิสัยของสติปัญญา ไม่ว่าจะเป็นข้อปลีกย่อยทางธรรมชาติหรือศาสนบัญญัติก็ตาม กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางวิชาการก็ดี ประสบการณ์ก็ดี สิ่งจริงแท้หรือสมมติขึ้นก็ดี หากเป็นข้อปลีกย่อย ก็อยู่นอกเขตการพิสูจน์โดยสติปัญญาทั้งสิ้น และสิ่งที่อยู่นอกเขตของสติปัญญาย่อมไม่อาจพิสูจน์ด้วยสติปัญญาได้ แต่สามารถพิสูจน์หรือตีความเชิงองค์รวมได้ ไม่ว่าจะทางธรรมชาติหรือศาสนบัญญัติ
สรุปคือ จากการที่สติปัญญาไม่สามารถเข้าถึงประเด็นบางประเด็นได้ ทำให้ต้องพึ่งพาการชี้นำจากศาสนา ฉะนั้น ตรรกะของสติปัญญาก็คือ ฉันเข้าใจว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ฉันไม่เข้าใจและยังต้องพึ่งพาศาสนา[18]
อ่านเพิ่มเติมได้ที่
1. การครุ่นคิดในกุรอาน,อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี
2. ฮิกมะฮ์ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในนะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,อ.ญะวาดี ออโมลี
3. ชะรีอัตจากมุมแห่งสารธรรม,อ. ญะวาดี ออโมลี,หน้า 199-224
4. ศาสนศึกษา, อ.ญะวาดี ออโมลี,หน้า 170-174
5. ความเชื่อและคำถามต่างๆ,มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหรานี,หน้า 51-58
6. พื้นฐานทางเทววิทยาของอิจติฮ้าด,มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหรานี,หน้า 280-284
7. นิตยสารโพ้รเซมอน,ฉบับพิเศษที่ ,เดือนโมรด้อด, ปี (ฮ.ศ.สุริยุคติ) บทความ: อิสลามและปัญญา สอดคล้องหรือขัดแย้ง,ฮะมี้ดริฎอ ริฎอนิยอ
[1] ศัพท์แวดวงปรัชญา,อลี คะระญี,หน้า 171,172
[2] สิบมุขปาฐะ,ชะฮีดมุเฏาะฮะรี,หน้า 30,31
[3] ร่อฮี้กิมมัคตูม,อ.ญะวาดี ออโมลี,เล่ม,หน้า 153
[4] สิบมุขปาฐะ,ชะฮีดมุเฏาะฮะรี,หน้า 30,31
[5] อุศูลุลกาฟี,กุลัยนี,เล่ม 1,หน้า 11,ฮะดีษที่ 3
[6] อัลมีซาน,มุฮัมมัดฮุเซน ฏอบาฏอบาอี,เล่ม 3,หน้า 57
[7] อ้างแล้ว,เล่ม 5,หน้า 255
[8] ปัญญานิยมในตัฟซี้รศตวรรษที่สิบสี่,ชอดี นะฟีซี,หน้า 194,195
[9] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,คุฏบะฮ์ที่ 1
[10] ตะฮ์ซีบุ้ลอุศู้ล,ซัยยิดอับดุลอะอ์ลา ซับซะวอรี,เล่ม 1,หน้า 145และ อุศูลุลฟิกฮ์,มุฮัมมัดริฎอ มุซ็อฟฟัร,เล่ม 1,หน้า 217
[11] ซูเราะฮ์ยูซุฟ, 108
[12] ดู: มีซานุ้ลฮิกมะฮ์ฉบับย่อ,มุอัมมัด เรย์ชะฮ์รี,หน้า 358,ฮะดีษที่ 4387
[13] อ้างแล้ว,หน้า 395,ฮะดีษที่ 4407
[14] ซูเราะฮ์ลุกมาน, 30
[15] ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน, 60
[16] ซูเราะฮ์นิซาอ์, 59
[17] อัลกะฮ์ฟิ, 104
[18] ศาสนศึกษา(บทเรียนปรัชญาศาสนา),อ.ญะวาดี ออโมลี,หน้า 127-174