การสัญญาว่าจะมอบผลบุญให้อย่างที่กล่าวมา มิได้ขัดต่อความยุติธรรมหรือหลักดุลยภาพระหว่างการกระทำกับผลบุญแต่อย่างใด เพราะหากจะนิยามความยุติธรรมว่าคือ"การวางทุกสิ่งในสถานะอันเหมาะสม"ซึ่งในที่นี้ก็คือการวางผลบุญบนการกระทำที่เหมาะสม ก็ต้องเรียนว่ามีความเหมาะสมเป็นอย่างดี เนื่องจาก
ก. จุดประสงค์ของฮะดีษที่อธิบายผลบุญเหล่านี้คือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของอิบาดะฮ์ที่กล่าวถึง มิได้ต้องการจะดึงฮัจย์หรือญิฮาดลงต่ำแต่อย่างใด ซ้ำยังถือว่าฮะดีษประเภทนี้กำลังยกย่องการทำฮัจย์หรือญิฮาดทางอ้อมได้อีกด้วย เนื่องจากยกให้เป็นมาตรวัดอิบาดะฮ์ประเภทอื่นๆ ดังที่เรามักเปรียบเปรยสิ่งมีค่ากับทองคำ
ข. ฮะดีษเหล่านี้มิได้หมายรวมถึงภาวะที่ฮัจย์ หรือญิฮาด ฯลฯ เป็นวาญิบ
ค. ในการวัดความสำคัญ ไม่ควรใช้ปริมาณ หรือความยากง่ายในเชิงกายภาพเป็นมาตรฐานเสมอไป แต่ต้องคำนึงว่าเจตนา ระดับความนอบน้อม ขีดศรัทธาและความเชื่อ ล้วนมีผลต่อระดับผลบุญมากกว่าปัจจัยข้างต้นเสียอีก ฉะนั้น หากอิบาดะฮ์ใดมีคุณลักษณะเด่นดังกล่าวก็ย่อมสามารถนำมาเทียบผลบุญของพิธีฮัจย์หรือการเป็นชะฮีดได้
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงว่าดุอาหรือบทซิยารัตต่างๆนั้น อุดมไปด้วยสารธรรมคำสอนทางศาสนาซึ่งย่อมมีผลต่อความศรัทธาของผู้อ่าน จึงอาจมีคุณค่ามากกว่าการกระทำอื่นๆที่มิได้มีลักษณะเฉพาะดังกล่าว
โดยทั่วไปแล้วในยามสงบไร้ศึกสงคราม หรือนอกเทศกาลฮัจย์ คนเรามักจะประสบกับอารมณ์ไฝ่ต่ำและการลวงล่อของชัยฏอนบ่อยเป็นพิเศษ และเนื่องจากมนุษย์มักจะโน้มเอียงไปตามกิเลส ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เลือกที่จะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยนมาซ บทดุอา หรือบทซิยารัต แทนการบำเรอกิเลสตัณหา บุคคลผู้นี้ย่อมต้องเพ่งจิตสำนึกอันบริสุทธิ์อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งอาจมีผลบุญมากกว่าคนทั่วไปที่ประกอบพิธีฮัจย์หรือต่อสู้ญิฮาดเสียด้วยซ้ำ
แต่หากจะนิยามความยุติธรรมว่าคือการไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ต้องเรียนว่าในประเด็นนี้ไม่มีการละเมิดสิทธิผู้ใด เพราะแม้สมมุติว่าอัลลอฮ์ประทานผลบุญมากเกินไป นั่นก็ยังไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิของมนุษย์คนใดอยู่ดี เนื่องจากการประทานผลบุญถือเป็นเมตตาธรรมของพระองค์ หาไช่สิทธิของบ่าวแต่อย่างใด
เมื่อคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้ก็จะทราบว่าผลบุญสอดคล้องกับการกระทำทุกประการ
1. ผลบุญจากอัลลอฮ์หาไช่เป็นสิทธิของบ่าวที่ต้องได้รับ แต่เป็นเมตตาธรรมที่พระองค์ประทานตามความเหมาะสมในแง่พฤติกรรมและศักยภาพที่มนุษย์มีในโลกดุนยา[1]
โดยปกติแล้ว มนุษย์ไม่มีสิทธิเรียกร้องผลบุญใดๆจากอัลลอฮ์(หากพระองค์ไม่ได้สัญญา) ทั้งนี้ก็เพราะทุกความดีที่มนุษย์ทำ ล้วนกระทำด้วยศักยภาพที่พระองค์ประทานให้ทั้งสิ้น แต่พระองค์เลือกที่จะสัญญาว่าจะประทานผลบุญแก่มนุษย์ก็เพราะทรงมีเมตตาธรรมและวิทยปัญญา ฉะนั้น เมตตาธรรมอันล้นพ้นของพระองค์ก็คือมาตรวัดพิกัดผลบุญสำหรับทุกความดีที่มนุษย์กระทำ หาไช่ความยากลำบาก หรือระยะเวลา หรือตัวแปรอื่นๆไม่ ด้วยเหตุนี้ ปริมาณเนี้ยะมัตและผลบุญต่างๆที่พระองค์จะทรงประทานให้ จึงมิได้ขัดต่อหลักความยุติธรรมของพระองค์แต่อย่างใด เนื่องจากพระองค์มิได้ละเมิดสิทธิของผู้ใด ซ้ำยังเป็นการประทานที่เกินสิทธิของมนุษย์อีกด้วย
2. การที่ดุอาหรือการซิยารัตจะมีผลบุญมากมายมหาศาลได้นั้น ต้องมีปัจจัยต่อไปนี้อย่างครบถ้วนเสียก่อน
ก. ปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาครบถ้วนเสียก่อน: ฉะนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ต้องประกอบพิธีฮัจย์หรือต่อสู้ญิฮาดแต่กลับเลือกทำนมาซหรือดุอาแทนนั้น แทนที่จะได้รับผลบุญ เขากลับจะต้อง
ประสบกับการลงทัณฑ์อะซาบของพระองค์อีกด้วย
ข. มีสำนึกทางศาสนาและความบริสุทธิใจอย่างเต็มเปี่ยม: ดังที่มีฮะดีษมากมายระบุว่าเงื่อนไขของการได้รับผลบุญมหาศาลของซิยารัตบางบทคือการมีสำนึกทางศาสนา[2] ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า"มนุษย์จะฟื้นคืนชีพตามแต่เจตนาของแต่ละคน"[3] จากจุดนี้ทำให้ทราบว่าบรรทัดฐานของการตอบแทนผลบุญมิไช่ความยากง่ายของอิบาดะฮ์ แต่เป็น"เหนียต"หรือเจตนาเท่านั้นที่จะมีผลต่อผลบุญมากกว่าความยากง่ายและปริมาณของอิบาดะฮ์แต่ละประเภท
การเพ่งจิตสำนึกอันบริสุทธิ์ทางศาสนานั้น ยากลำบากไม่แพ้การต่อสู้ญิฮาด หรืออาจจะยากกว่าด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้เองที่เราเห็นผู้คนมากมายเข้าร่วมต่อสู้ญิฮาดหรือร่วมประกอบพิธีฮัจย์ แต่น้อยคนนักที่จะพิชิตยอดเขาแห่งจิตสำนึกอันผ่องแผ้วทางศาสนาได้ มีฮะดีษหลายบทที่รณรงค์ให้สาวกของท่านซิยารัตบรรดาอิมาม โดยเฉพาะอิมามริฎอ(อ.)[4] ซึ่งเนื้อหาของฮะดีษเหล่านี้บอกแก่เราว่าการซิยารัตมีผลบุญสองประเภทโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของการซิยารัต จึงเข้าใจได้ว่าผลบุญการซิยารัตของแต่ละคนมิได้เท่ากันเสมอไป ผลบุญที่ฮะดีษระบุไว้จึงเป็นการระบุถึงพิกัดสูงสุดของผลบุญ แต่มิได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับแม้จะมีสภาพจิตใจที่แตกต่างกัน
3. บทดุอาและซิยารัตมากมายมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่สารธรรมคำสอนของอิสลาม: บรรดาอิมาม(อ.)เองก็ใช้ดุอาและซิยารัตในการนำเสนอหลักธรรมแก่สังคมเนื่องจากบางสถานการณ์ไม่อาจใช้วิธีอื่นได้ ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การพิทักษ์รักษาดุอาและซิยารัตเหล่านี้ก็ถือเป็นการพิทักษ์รักษาหลักญิฮาด พิธีฮัจย์ ตลอดจนชะรีอัตและคำสอนอิสลามโดยรวม และหลักธรรม(ในดุอา)เหล่านี้แหล่ะ ที่ช่วยรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางไปทำฮัจย์หรือต่อสู้ญิฮาด
4. โดยทั่วไปแล้วในยามสงบไร้ศึกสงคราม หรือนอกเทศกาลฮัจย์ คนเรามักจะประสบกับการลวงล่อของอารมณ์ไฝ่ต่ำและชัยฏอนบ่อยเป็นพิเศษ และเนื่องจากมนุษย์มักจะโน้มเอียงไปตามกิเลส ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เลือกที่จะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ด้วยนมาซ บทดุอา หรือบทซิยารัต แทนการบำเรอกิเลสตัณหา บุคคลผู้นี้ย่อมต้องมีจิตสำนึกอันบริสุทธิ์อย่างเต็มเปี่ยม ดังที่ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวแก่เหล่าสาวกที่กลับจากสมรภูมิรบอันดุเดือดว่า"ขอชมเชยผู้ที่กลับจากญิฮาดเล็ก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่ญิฮาดใหญ่" เหล่าสาวกเอ่ยถามว่าญิฮาดใหญ่คืออะไร ท่านตอบว่า"การญิฮาดกับกิเลสตนเอง"[5]
เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่บรรดาอิมาม(อ.)เล่าถึงผลบุญมหาศาลของดุอา ซิยารัต หรือนมาซบางประเภทนั้น ก็เพื่อต้องการจะฟื้นฟูศีลธรรมภาคสังคมให้พ้นจากบ่วงกิเลสที่ทำให้มนุษย์เกลือกกลั้วในความต่ำทรามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเพื่อส่งเสริมมนุษย์ให้โบยบินในท้องฟ้าแห่งศีลธรรมจรรยา
อย่างไรก็ดี ฮะดีษที่ระบุผลบุญเหล่านี้มีจุดประสงค์ที่จะให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของอิบาดะฮ์บางประเภทเป็นพิเศษ หาได้มีจุดประสงค์จะลดทอนคุณค่าของญิฮาดหรือพิธีฮัจย์แต่อย่างใด ซ้ำยังสามารถกล่าวได้ว่าฮะดีษเหล่านี้กำลังส่งเสริมญิฮาดหรือพิธีฮัจย์ทางอ้อมอีกด้วย เนื่องจากได้ใช้ญิฮาดหรือฮัจย์เป็นมาตรวัดคุณค่าของอิบาดะฮ์ประเภทอื่นๆ เสมือนที่เรามักจะเปรียบสิ่งมีค่ากับทองคำบริสุทธิ์