สิ่งที่อิสลามใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกคบค้าสมาคมอันดับแรกก็คือคุณลักษณะทางจิตใจ หาไช่รูปลักษณ์ภายนอกไม่ อย่างไรก็ดี คุณลักษณะภายนอกบางประการอาจเป็นสิ่งสำคัญในบางสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น การที่ไม่ควรคบหากับผู้ที่จะเป็นเหตุให้ถูกสังคมมองในทางที่ไม่ดี
หลักเกณฑ์ของอิสลามคือ ควรต้องมีอีหม่าน, สามารถจุนเจือเพื่อนได้ทั้งทางโลกและทางธรรม, ช่วยตักเตือนในความผิดพลาด ฯลฯ
เพื่อนคือผู้ที่อยู่เคียงข้างยามเดียวดาย ร่วมแบ่งทุกข์ปันสุข หยิบยื่นความช่วยเหลือยามยาก เป็นที่พึ่งได้ยามเผชิญอุปสรรค และเป็นที่ปรึกษายามกังวลใจ อย่างไรก็ดี เนื่องจากเพื่อนของแต่ละบุคคลถือเป็นดัชนีชี้วัดบุคลิกและระดับคุณธรรมได้ นอกจากนี้ เพื่อนยังมีอิทธิพลต่อนิสัยใจคอของมนุษย์เราในช่วงวัยต่างๆค่อนข้างสูง การเลือกคบเพื่อนจึงมีส่วนช่วยประคองศีลธรรมสังคมและพฤติกรรมมนุษย์ได้ ดังที่ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “มิตรสหายเปรียบดั่งผ้าที่นำมาปะชุนสังคม ฉะนั้นจงเลือกคบบุคคลที่คล้ายคลึงกับท่านเถิด”[1]
สัมพันธภาพทางจิตใจย่อมจะนำสู่การเชื่อมโยงทางสังคมที่จับต้องได้ ในทางกลับกัน สัมพันธภาพทางสังคมก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่นิยมการขัดเกลาจิตใจและพัฒนาบุคลิกภาพให้บรรลุซึ่งศีลธรรมจรรยาจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ทางศาสนาเป็นมาตรฐานในการพิจารณาคบหาเพื่อน อีกทั้งยังต้องระมัดระวังอิทธิพลของเพื่อนที่มีต่อจิตใจ จึงกล่าวได้ว่า คุณสมบัติทางนิสัยใจคอคือสิ่งที่อิสลามถือเป็นมาตรฐานหลักในการเลือกคบเพื่อน หาไช่คุณสมบัติภายนอกไม่
ในที่นี้ขอนำเสนอคุณสมบัติทางจิตใจบางประการของเพื่อนดังต่อไปนี้
1. อีหม่านคือฐานรากที่สำคัญที่สุดของมิตรภาพ สิ่งเดียวที่มั่นคงถาวรก็คือศรัทธาที่มีต่อหลักความเชื่อทางศาสนา สายสัมพันธ์ที่อิงความรักในอัลลอฮ์เป็นหลักเกณฑ์ย่อมจะไม่มีวันขาดสะบั้น ทั้งนี้ก็เพราะตั้งอยู่บนรากฐานอันแข็งแกร่ง สิ่งนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของอิสลามที่กำหนดว่าศรัทธาคือรากฐานของทุกสิ่งทุกอย่าง อิสลามถือว่ามิตรภาพหรือความชิงชังที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอีหม่านชี้ให้เห็นถึงสัมพันธภาพที่เหนียวแน่นระหว่างพระเจ้าและมนุษย์
โองการกุรอานหลายบทกล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพยายามระงับมิให้ผู้ศรัทธากระชับสายสัมพันธ์กับเหล่าผู้ปฏิเสธ ผู้ตั้งภาคี และเหล่าผู้กลับกลอก อาทิเช่นโองการที่ว่า “บรรดาผู้ศรัทธามิบังควรเลือกผู้ปฏิเสธเป็นมิตรแทนที่ผู้ศรัทธาด้วยกัน และหากผู้ใดกระทำเช่นนี้ ย่อมถือว่าไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆกับพระองค์ (ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอัลลอฮ์ขาดสะบั้นลง) เว้นเสียแต่ว่าจะงดพฤติกรรมดังกล่าว...”[2]
2. มิตรแท้ควรเป็นผู้ปราดเปรื่องด้วยปัญญา: ปัญญาคือศักยภาพที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจสิ่งต่างๆได้ และเนื่องจากปัญญาเปรียบดั่งประทีปแห่งชีวิตที่ช่วยส่องสว่างสู่ความผาสุกของมนุษย์ เป็นเหตุให้อิสลามถือว่าปัญญาคือหลักเกณฑ์ประการหนึ่งสำหรับการเลือกคบเพื่อน โดยรณรงค์ให้คบค้าสมาคมกับผู้ทรงปัญญาหรือนักวิชาการ
มีฮะดีษจากท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “ไม่มีปัญหาใดๆหากจะคบคนฉลาดหลักแหลม เพราะแม้ว่าเธออาจจะไม่ได้ประโยชน์จากศีลธรรมของเขา แต่จงใช้ประโยชน์จากปัญญาของเขาทว่าพึงหลีกห่างมารยาทอันไม่พึงประสงค์ที่เขามี และจงคบกับผู้มีไมตรีจิตแม้ว่าเธออาจไม่ได้รับประโยชน์จากปัญญาของเขา แต่จงใช้ปัญญาของเธอเรียนรู้ไมตรีจิตจากเขา และจงออกห่างผู้ต่ำต้อยที่ไร้ความคิด”[3]
ท่าน(อ.)ยังได้กล่าวอีกว่า “การคบหาคนฉลาดจะช่วยให้วิญญาณมีชีวิตชีวา”[4]
ทว่าเพื่อนที่เบาปัญญาเปรียบดั่งยาพิษที่บ่อนทำลายสุขภาพจิตทุกเมื่อเชื่อวัน
อิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “ผู้ที่ยังสานสัมพันธ์กับคนเขลาย่อมจะได้รับอิทธิพลจากพฤติกรรมเบาปัญญา อันจะทำให้เขาค่อยๆมีลักษณะนิสัยเช่นนั้น”[5]
3. เพื่อนแท้คือผู้ที่มอบข้อบกพร่องของเราเป็นของขวัญแก่เราเอง: อิสลามถือว่ามิตรภาพที่มีคุณค่าต้องเป็นดั่งน้ำทิพย์ชโลมชีวิตส่วนตัวและสังคมของเราได้ ฉะนั้น ผู้ที่พบเห็นข้อบกพร่องของเราแต่ไม่เตือนให้ทราบ ย่อมไม่ไช่เพื่อนแท้ เพราะจากมุมมองของฮะดีษแล้ว เพื่อนที่แท้จริงเปรียบดุจกระจกเงาที่สะท้อนข้อบกพร่องแก่เราเพื่อให้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้เนื่องจากหวังดีและอยากเห็นเพื่อนประสบความผาสุก จึงได้แจ้งให้ทราบถึงข้อบกพร่องบางประการเพื่อจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงที
กุรอานกล่าวว่า “ปวงบุรุษและสตรีล้วนเป็นกัลญาณมิตรกันและกัน ตักเตือนสู่ความดีและห้ามปรามกันในความชั่ว ดำรงนมาซและชำระซะกาต และภักดีต่ออัลลอฮ์และศาสนทูต ไม่ช้าพระองค์จะทรงประทานเมตตาธรรมแก่พวกเขา พระองค์ทรงยิ่งด้วยพระปรีชาและวิทยปัญญา”[6]
อิมามศอดิกกล่าวว่า “มิตรที่ดีที่สุดของฉันก็คือผู้ที่มอบคำตักเตือนเกี่ยวกับข้อบกพร่องของฉัน”[7]
4. มิตรแท้คือผู้ที่มีจิตดำริในการบรรเทาความเดือดร้อนทั้งในด้านทรัพย์สินและจิตใจเท่าที่สามารถจะกระทำได้
อิมามฮะซัน(อ.)ให้โอวาทเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
“จงเลือกคบผู้ที่เป็นดั่งเครื่องประดับยามคบหา
ผู้ที่รักษาเกียรติของเธอยามเธอที่ช่วยเหลือ
ผู้ที่ยื่นมือเข้าช่วยยามที่เธอต้องการ
ผู้ที่รับรองคำพูด(ที่ถูกต้อง)ของเธอ
ผู้ที่จะสนับสนุนเธอยามที่เธอต่อสู้กับศัตรู
ผู้ที่จะเกื้อหนุนเธอยามที่เธอกระทำความดี
ผู้ที่จะช่วยเติมเต็มให้ยามที่ชีวิตของเธอมีจุดบอด
ผู้ที่รู้คุณเธอยามที่เธอปฏิบัติดีด้วย
ผู้ที่จะหยิบยื่นเสมอเมื่อเธอขอร้อง
และผู้ที่จะเอ่ยปากช่วยเหลือเธอแม้ยามที่เธอเงียบ”[8]
เหล่านี้ถือเป็นคุณสมบัติส่วนบุคคลที่มิตรแท้ควรมี นอกจากนี้ยังควรพิจารณาคุณสมบัติทางสังคม กล่าวคือควรถือวิถีประชาเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสานสัมพันธ์ฉันเพื่อนฝูงด้วย ซึ่งขอนำเสนอโดยสังเขปดังนี้
-
อายุ: ควรพิจารณาสองข้อคิดต่อไปนี้
ก. ในกรณีที่ผู้ที่เราต้องการคบเป็นเพื่อนมีอายุมากกว่า สามารถที่จะศึกษาประสบการณ์จากเขาในฐานะพี่น้องทางศาสนาหรือเพื่อนรุ่นพี่ได้ โดยควรให้เกียรติและระมัดระวังไม่แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัยเดียวกัน และไม่ควรแสดงอากัปกริยาอันจะทำให้ผู้คนในสังคมตำหนิได้
ข. สิ่งที่กล่าวไปแล้วข้างต้นสามารถใช้กับเพื่อนที่มีอายุเท่ากันได้ นั่นเป็นเพราะสถานภาพทางสังคมของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งสำคัญที่พึงให้เกียรติ - ควรคำนึงถึงภูมิหลังทางสังคมของบุคคลที่ต้องการจะคบค้าสมาคมเสมอ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่เป็นที่ยอมรับในสังคมไม่ควรคบหากับบุคคลที่มีบุคลิกภาพเชิงลบในแง่สังคม เพราะถึงแม้ว่าควรจะมีไมตรีกับผู้ที่เราจะตักเตือน แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องคบหาบุคคลดังกล่าวเป็นมิตรสหายใกล้ชิด
- ในกรณีที่บุคคลสองคนสนิทสนมแน่นแฟ้นในลักษณะที่จะทำให้สังคมติฉินนินทาได้ก็ควรระมัดระวังพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดข้อครหาขึ้น ดังที่ท่านอิมามอลี(อ.)เคยกล่าวว่า “พึงหลีกเลี่ยงเหตุปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนกล่าวหาได้ เพราะมิตรชั่วจะหลอกลวงเสมอ”[9]
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ระเบียนต่อไปนี้
คุณสมบัติของผู้ศรัทธา,คำถามที่ 2534 (ลำดับในเว็บไซต์ 2671)
ยามที่ผู้ศรัทธาพบปะกันและกัน,คำถามที่11824 (ลำดับในเว็บไซต์ 13365 )
วิธีคบหาผู้อื่น,คำถามที่8795 (ลำดับในเว็บไซต์ 8752)
ชีวิตปัจเจกและชีวิตสังคม,คำถามที่ 8351(ลำดับในเว็บไซต์ 8370)
[1] ตะมีมี อามิดี,อับดุลวาฮิด บิน มุฮัมมัด, ฆุเราะรุ้ลฮิกัม,หน้า 423,สำนักงานเผยแพร่อิสลาม,กุม,ปี1366
[2] อาลิ อิมรอน,28
[3] กุลัยนี,มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ,อัลกาฟี,เล่ม 2,หน้า 638,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี1365
[4] ฆุเราะรุ้ลฮิกัม,หน้า429,ฮะดีษที่ 9771
[5] มุฮัดดิษ นูรี,มุสตัดร้อก อัลวะซาอิ้ล,เล่ม 8,หน้า 336,สถาบันอาลุลบัยต์(อ.),กุม,ฮ.ศ.1408
[6] เตาบะฮ์,71
[7] อัลกาฟี,เล่ม 2,หน้า 639
[8] มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร, บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 44,หน้า 139,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1404
[9] อามิลี,เชคฮุร,วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 12,หน้า 36,สถาบันอาลุลบัยต์(อ.),กุม,ฮ.ศ.1409