การที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ถูกทุบตีมิได้ขัดต่อความกล้าหาญของท่านอิมามอลี(อ.) เพราะในสถานการณ์นั้น ท่านต้องเลือกระหว่างการจับดาบขึ้นสู้เพื่อทวงสิทธิของครอบครัวที่ถูกละเมิด หรือจะอดทนสงวนท่าทีแล้วหาทางช่วยเหลืออิสลามด้วยวิธีอื่น
จากการที่การจับดาบขึ้นสู้ในเวลานั้นเท่ากับการต่อต้านและสร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม อันจะทำให้สังคมมุสลิมยุคแรกอ่อนเปลี้ย ส่งผลให้กองทัพโรมัน เหล่าศาสดาจอมปลอม และผู้ตกศาสนาจ้องตะครุบให้สิ้นซาก ท่านอิมามอลี(อ.)ยอมสละความสุขของตนและครอบครัว เพื่อผดุงไว้ซึ่งอิสลาม ศาสนาที่เป็นผลงานคำสอนทั้งชีวิตของท่านนบี(ซ.ล.)และการเสียสละของเหล่าชะฮีดในสมรภูมิต่างๆ
ในขณะที่เศาะฮาบะฮ์นบี(ซ.ล.)จำนวนหนึ่งไม่ยอมให้สัตยาบันต่ออบูบักรและชุมนุมกันที่บ้านอิมามอลี(อ.)เพื่อคัดค้านมติจากสะกีฟะฮ์ บนีซาอิดะฮ์ อุมัรได้รับบัญชาจากอบูบักรเพื่อเค้นเอาสัตยาบันของคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะท่านอิมามอลี(อ.)ให้จงได้ ตำราทางประวัติศาสตร์ต่างบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติการครั้งนี้ของอบูบักรและอุมัร หากท่านใดสนใจ กรุณาอ่านเพิ่มเติมได้ในแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้[1] ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงจำนวนและความหลากหลายของสายรายงานก็ทำให้ไม่อาจปฏิเสธประวัติศาสตร์ช่วงนี้ได้เลย[2]
ส่วนที่สงสัยกันว่าเหตุใดท่านอิมามอลี(อ.)จึงไม่จับดาบขึ้นสู้ ทั้งๆที่เป็นผู้กล้าหาญชาญชัยมาทุกสมรภูมินั้น ต้องเรียนชี้แจงต่อไปนี้ว่า:
ท่านมีเพียงสองทางเลือก หนึ่ง ชักชวนมิตรสหายผู้จงรักภักดีต่อท่านร่วมก่อการทางการทหารเพื่อยึดตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์คืน สอง อดทนต่อสภาวะที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งคอยช่วยแก้ไขปัญหาของมวลมุสลิมให้สำเร็จลุล่วง
ด้วยเหตุที่เหล่าผู้นำแห่งพระเจ้าไม่ถือว่าตำแหน่งลาภยศเป็นเป้าหมาย แต่ถือว่าเป้าหมายอยู่เหนือลาภยศบรรดาศักดิ์ทั้งมวล ท่านอิมามอลี(อ.)พิจารณาสภาวะการณ์ทางการเมืองและสังคมแล้วพบว่า หากมุ่งแต่จะแก้แค้นผู้ที่รังแกท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ผู้เป็นภรรยา ความเพียรพยายามทั้งหมดของท่านนบี(ซ.ล.)และเหล่าผู้เสียสละจะมลายหายไปอย่างแน่นอน ท่านจึงตัดสินใจช่วยปกป้องอิสลามทางอ้อมด้วยการกล้ำกลืนฝืนทนต่อสภาพสังคม [3]
หากท่านอิมามอลี(อ.)ตัดสินใจจับดาบขึ้นสู้กับผู้ที่กุมอำนาจในเวลานั้น แม้จะดูเหมือนท่านแสดงความกล้าหาญ แต่แน่นอนว่า ฝ่ายกุมอำนาจย่อมจัดการกำราบท่าน ผลก็คือการปะทุขึ้นของสงครามกลางเมืองระหว่างมุสลิมด้วยกัน โดยอาจจะนำมาซึ่งสภาวะการณ์ต่อไปนี้
1. ท่านจะสูญเสียชีวิตของมิตรสหายที่จงรักภักดีต่อท่านนบี(ซ.ล.)และรักไคร่กลมเกลียวกับท่านไป
2. จะเกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในประชาคมมุสลิม ส่งผลให้เหล่าเศาะฮาบะฮ์ที่เป็นกำลังพลต่อต้านศัตรูศาสนาต้องล้มตายจำนวนมาก สังคมมุสลิมก็จะถูกกัดกร่อนโดยความแตกแยก
3. มุสลิมใหม่จำนวนมากที่รับอิสลามช่วงบั้นปลายชีวิตนบี(ซ.ล.) ได้ตกมุรตัด(ออกศาสนา)ภายหลังการเสียชีวิตของท่าน และผนึกกำลังกันต่อต้านรัฐอิสลาม ในสถานการณ์เช่นนี้ หากท่านอิมามอลี(อ.)มุ่งจะโค่นล้มรัฐ ย่อมจะทำให้ประชาคมมุสลิมยุคนั้นเผชิญกับภัยอันใหญ่หลวง
4. ภัยคุกคามของผู้อ้างตนเป็นนบีอย่างเช่น มุซัยละมะฮ์ และ สะญ้าห์ ก็ไม่อาจมองข้ามได้ ความแตกแยกที่คนเหล่านี้ก่อขึ้นจะโหมเล่นงานประชาคมมุสลิมอย่างรุนแรง
5. จักรวรรดิโรมันคือเป็นภัยคุกคามหนึ่งที่จ้องจะเขมือบศูนย์กลางรัฐอิสลาม ในสถานการณ์เช่นนี้ หากท่านอิมามอลี(อ.)จับดาบขึ้นสู้ ย่อมเปิดช่องให้ศัตรูอิสลามเข้าบดขยี้ตามใจหมาย
ทั้งหมดนี้ถือเป็นเหตุผลโดยสังเขปที่ทำให้ท่านอิมามอลี(อ.)เลือกที่จะอดทนแทนการลุกขึ้นสู้ อันเอื้ออำนวยให้ประชาคมมุสลิมรอดพ้นจากปากเหยี่ยวปากกามาได้ แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของท่านอิมามอลี(อ.)ก็คือการผดุงไว้ซึ่งอิสลามและหลักเอกภาพในสังคม[4]
ท่านอิมามอลี(อ.)ได้ระบายความเจ็บปวดรวดร้าวในรูปของคุฏบะฮ์ ชิกชิกียะฮ์[5] ในหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ โดยท่านกล่าวว่า:
ฉันเคยครุ่นคิดว่าจะลุกขึ้นต่อสู้ด้วยมือเปล่า หรือจะยอมอดทนต่อบรรยากาศอันมืดมน บรรยากาศที่บั่นทอนสังขารคนชรา และทำให้คนหนุ่มชราภาพ และทำให้ผู้ศรัทธาทนทุกข์ทรมานชั่วชีวิต สุดท้ายฉันเห็นว่าการอดทนสอดคล้องกับวิทยปัญญามากกว่า จึงได้อดทนในสภาพที่เสมือนมีหนามคมบาดทิ่มดวงตา และมีเศษกระดูกขัดในคอ ฉันเห็นเต็มสองตาว่ามีการโจรกรรมมรดกของฉันไป"[6]
อีกเหตุการณ์หนึ่ง ท่านอิมามอลีได้กล่าวตอบญาติมิตรที่เชิดชูท่านตั้งแต่เหตุการณ์ที่สะกีฟะฮ์และตัดพ้อผู้คนที่ไม่ใหการสนับสนุนท่านอิมาม โดยกล่าวว่า
"สำหรับเราแล้ว การอยู่รอดของศาสนาสำคัญกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น"[7]
สำนวนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ท่านอิมามอลี(อ.)เลือกที่จะอดทนนั้นมีความสำคัญยิ่งกว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้น เนื่องจากท่านยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้ภรรยาและบุตรธิดาเพื่อพิทักษ์รักษาต้นกล้าอิสลามที่เพิ่งงอกเงยในสังคม
ท่านอิมามอลี(อ.)ได้อธิบายถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านต้องนิ่งเงียบไว้ในหนังสือ"นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์"ว่า
"หาได้มีสิ่งใดสร้างความฉงนและความกังวลแก่ฉันยิ่งไปกว่าการร่วมกันให้สัตยาบันแก่คนบางคน ฉันระงับมือ(ไม่ยอมให้สัตยาบัน) กระทั่งเห็นว่ามีผู้ผินหลังแก่อิสลามระดมผู้คนให้ทำลายล้างศาสนาแห่งนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) ฉันจึงเกรงว่าหากไม่รุดเข้าช่วยเหลืออิสลามและมวลมุสลิม คงได้เห็นช่องโหว่หรือความวิบัติของอิสลามอย่างแน่นอน ซึ่งย่อมเจ็บปวดยิ่งกว่าการสูญเสียการปกครองเหนือพวกท่าน (การปกครองที่)เปรียบเสมือนภาพลวงตาหรือปุยเมฆที่อันตรธานไปก่อนที่จะรวมตัวกัน ฉันจึงยืนประจันหน้ากับความระส่ำระส่าย เพื่อให้อธรรมมลายสิ้น และเพื่อให้ศาสนาตั้งตระหง่านมั่นคง"[8]
[1] ตารี้คเฎาะบะรี, เล่ม 3, หน้า 202 สำนักพิมพ์ดารุ้ลมะอาริฟ, สำนวนของเฏาะบะรีคือ
:اتی عمر بن خطاب منزل علی(ع) فقال : لاحرقن علیکم او لتخرجن الی البیعة.
อิบนิ อบิ้ลฮะดี้ดก็รายงานสำนวนดังกล่าวจากหนังสือสะกีฟะฮ์ของเญาฮะรีไว้ในหนังสือของตนเช่นกัน(เล่ม 2, หน้า 56), อัลอิมามะฮ์วัสสิยาซะฮ์,เล่ม 2,หน้า 12, ชัรฮ์นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์อิบนิอบิ้ลฮะดี้ด,เล่ม 1,หน้า 134, อะอ์ลามุ้นนิซาอ์,เล่ม 3,หน้า 1205 รายงานว่า
بعث الیهم ابوبکر عمر بن خطاب لیخرجهم من بیت فاطمة و قال له ان ابوا فقاتلهم. فاقبل بقبس من النار علی ان یضرم علیهم الدار. فلقیته فاطمة فقالت یابن الخطاب ا جئت لتحرق دارنا؟ قال:نعم او تدخلوا فیما دخلت فیه الامة
อุ้กดุ้ลฟะรี้ด,เล่ม 4,หน้า 260, และ ดู: ตารีคอิบนิกะษี้ร,เล่ม 1,หน้า 156, อะอ์ลามุ้นนิซาอ์,เล่ม 3,หน้า 1207, อิษบาตุ้ลวะศียะฮ์,หน้า 124 รายงานว่า
فهجموا علیه و احرقوا بابه و استخرجه منه کرها و ضغطوا سیدة النساء بالباب حتی اسقطت محسنا
(อ้างจากมิห์นะตุ้ลฟาฏิมะฮ์,หน้า 60), มิลัลวันนิฮั้ล,เล่ม 2,หน้า 95, ตัลคีศุ้ชชาฟี,เล่ม 3,หน้า 76, ฟุรู้ฆวิลายัต,หน้า 186
[2] ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ 1. หนังสือตอบข้อครหาชะฮาดัต เขียนโดย ซัยยิดญะว้าด ฮุซัยนี เฏาะบาเฏาะบาอี 2. เว็บไซต์ประตูตอบปัญหาศาสนา. 3. เว็บไซต์ บะล้าฆ
[3] วิถีชีวิตของเหล่าผู้นำศาสนา,มะฮ์ดี พีชวออี,หน้า 65
[4] อ้างแล้ว,หน้า 71
[5] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,คุฏบะฮ์ที่สาม
[6] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,ศุบฮี ซอและฮ์,คุฏบะฮ์ที่สาม(ชิกชิกียะฮ์)
[7] ดู: นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์, เล่ม 6 หน้า 23-45
[8] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,แปลโดยชะฮีดี,หน้า 347, สาส์นที่62 จากท่านอิมามอลีถึงชาวเมืองอิยิปต์