“เศษะฟี้ร” หมายถึงเสียงที่ลากยาว รื่นหู และปราศจากคำพูดที่เปล่งจากริมฝีปากทั้งสอง ส่วน “ซีโม้รก์” เป็นชื่อสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่เปรียบเสมือนราชาแห่งฝูงวิหคในนิยาย ในเชิงวิชาอิรฟานหมายถึงผู้เฒ่าผู้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ดี เรื่องราวของซีโม้รก์ได้รับการเล่าขานหลากเรื่องราวในตำรับตำราด้านวรรณกรรมเปอร์เซียและรหัสยนิยม(อิรฟาน)
ในหนังสือเล่มนี้ เชคอิชร้อกได้แสดงถึงความสำคัญของการจาริกทางจิตวิญญาณสู่อัลลอฮ์ อีกทั้งอธิบายถึงสภาวะและอุปสรรคนานัปการในหนทางนี้
ผู้ประพันธ์ริซาละฮ์เศาะฟี้รซีโม้รก์คือ ชะฮาบุดดีน ยะฮ์ยา บิน ฮะบัช บิน อมีร็อก อบุลฟุตู้ฮ์ ซุฮ์เราะวัรดี หรือที่รู้จักกันในฉายา “เชคอิชร้อก” หนังสือเล่มนี้ประพันธ์ขึ้นเป็นภาษาเปอร์เซีย
เราจะขอสรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ดังต่อไปนี้:
หนึ่ง. “เศษะฟี้ร” หมายถึงเสียงที่ลากยาว รื่นหู และปราศจากคำพูดที่เปล่งจากริมฝีปากทั้งสอง[1] ส่วน “ซีโม้รก์” เป็นชื่อสัตว์ปีกชนิดหนึ่งที่เปรียบเสมือนราชาแห่งฝูงนกในนิยาย เรื่องราวของซีโม้รก์ได้รับการเล่าขานหลากเรื่องราวในตำรับตำราด้านวรรณกรรมเปอร์เซียและรหัสยนิยม(อิรฟาน)[2]
สอง. ซีโม้รก์ในสำนวนรหัสยนิยม (อิรฟาน) หมายถึงผู้เฒ่า[3]ที่สมบูรณ์แบบ[4]
สาม. ในหนังสือเล่มนี้ เชคอิชร้อกได้แสดงถึงความสำคัญของการจาริกทางจิตวิญญาณสู่อัลลอฮ์ อีกทั้งอธิบายถึงสภาวะและอุปสรรคนานัปการในหนทางนี้ เชคอิชร้อกเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ขอเอ่ยถึงคุณลักษณะของนกที่ยิ่งใหญ่ชนิดนี้ (ซีโม้รก์)ในอารัมภบท เหล่าผู้มีจิตอันสว่างไสวเล่าว่า นกกะรางหัวขวาน[5] (ซึ่งสละรวงรังในฤดูใบไม้ผลิและใช้จงอยเล็มขนปีก เพื่อโบยบินสู่ภูผา“ก้อฟ”) เมื่อได้อาศัยภายใต้ร่มเงาแห่งภูผาแห่งนี้เป็นเวลาพันปี ซึ่งระยะเวลานี้นั้นเป็นดังโองการที่ว่า وَ إِنَّ یَوْماً عِنْدَ رَبِّکَ کَأَلْفِ سَنَةٍ مِمَّا تَعُدُّونَ [6]พันปีในที่นี้เท่ากับระยะรุ่งอรุณของแสงที่สาดส่องจากมิติแห่งลาฮู้ตที่ยิ่งใหญ่ตามปฏิทินของสาวกแห่งสัจธรรม ในระยะเวลานี้มันได้เติบโตเป็นซีโม้รก์ที่สามารถเปล่งเสียงร้องปลุกผู้หลับใหลให้ตื่นขึ้นได้ และทั้งที่สถานพำนักของมันอยู่ ณ ภูผาก้อฟ แต่เสียงของมันกึกก้องได้ยินไปทั่ว ทว่ามีไม่กี่คนที่ตั้งใจฟัง ทุกคนอยู่กับมัน แต่ส่วนใหญ่ปราศจากมัน”[7]
หนังสือเล่มนี้มีสองส่วน แต่ละส่วนแบ่งออกเป็นหลายบทด้วยกัน:
ส่วนแรก ว่าด้วยเนื้อหาขั้นพื้นฐาน แบ่งออกเป็นสามบท ได้แก่ 1. ความสูงส่งของวิชานี้ 2. สิ่งที่เปิดเผยแก่ผู้เริ่มต้น 3. ความสงบ[8]
ตัวอย่างเช่น ในส่วนที่สองกล่าวถึงผู้ที่เริ่มต้นจาริกสู่อัลลอฮ์ และมุ่งฝึกฝนและซิเกร ซึ่งจะมีรัศมีแห่งพระองค์ปรากฏแก่บุคคลเหล่านี้ เชคอิชร้อกจึงตั้งชื่อบทว่า “สิ่งที่เปิดเผยแก่ผู้เริ่มต้น”[9]
ส่วนที่สอง ว่าด้วยเป้าประสงค์ของเนื้อหา มีสามบทอันได้แก่ 1. ฟะนา 2. ยิ่งรู้มากยิ่งเข้าถึงอิรฟานมาก 3. พิสูจน์ความรื่นรมย์ในการลิ้มความขี่นขมเพื่อพระองค์[10]
[1] พจนานุกรมลำดับอับญัดอรับ-เปอร์เซีย,หน้า 555,คำว่า“เศาะฟะเราะ”,หน้า556 คำว่า “เศาะฟี้ร”, และ อัลมุฟเราะด้าต ฟี เฆาะรีบุลกุรอาน,หน้า 487,คำว่า“เศาะฟี้ร”, และ ลิซานุ้ลอรับ,เล่ม 4,หน้า 460,คำว่า “เศาะฟี้ร”
[2] อ่านเพิ่มเติมที่ www.noormags.com รวมบทความเกี่ยวกับนกซีโม้รก์ อาทิเช่น: มุนซะวี,อลี,วิหคทั้งสามสิบและซีโม้รก์, และ ชะฟีอี,คัดโคนี,มุฮัมมัดริฎอ,ซีโม้รก์, และ นุญูมีมี,มินฮ้าจ,ซีโม้รก์ ตำนานที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมอิหร่าน, และ โนรูซีพะนอฮ์,อลี,ซีโม้รก์
[3] ผู้เฒ่าในเชิงอิรฟานหมายถึงอาริฟที่สมบูรณ์ และเปรียบเปรยว่ามีอำนาจเหนือกาลเวลา ทว่าไม่จำเป็นต้องเป็นชายชราเสมอไป
[4] ซัจญาดี,ซัยยิดญะฟัร,สารานุกรมคำสอนอิสลาม,เล่ม 2,หน้า 1030,สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเตหราน,พิมพ์ครั้งที่สาม,ปี 1373
[5] เป็นรหัสที่หมายถึงนักจาริกสู่อัลลอฮ์
[6] “และวันหนึ่ง ณ พระองค์เทียบเท่าหนึ่งพันปีตามที่สูเจ้าคำนวนนับ” ฮัจญ์,47
[7] เชคอิชร้อก,รวมผลงานเชคอิชร้อก,ตรวจทานและบทนำโดย: อองรี คอร์บอง และนัศร์,ซัยยิด ฮุเซน และ ฮะบีบี นะญัฟกะลี,เล่ม 3,หน้า 314 -315 ,สถาบันศึกษาวิจัยทางวัฒนธรรม,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สอง,ปี1375
[8] เพิ่งอ้าง,หน้า 316
[9] เพิ่งอ้าง,หน้า 319
[10] เพิ่งอ้าง,หน้า 316