อยากทราบว่าคำพูดเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่? อิสลามสอนเช่นนี้หรือ?
เป้าประสงค์ของการสร้างมนุษย์ตามทัศนะของอิสลามคือการอำนวยให้มนุษย์มีพัฒนาการ เพราะทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนถูกสร้างมาเพื่อเป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากมนุษย์คือสิ่งถูกสร้างที่ประเสริฐสุด ดังที่กุรอานกล่าวว่า "ข้ามิได้สร้างมนุษย์และญินมาเพื่ออื่นใดเว้นแต่ให้สักการะภักดีต่อข้า"[i] นักอรรถาธิบาย(ตัฟซี้ร)ลงความเห็นว่า การสักการะภักดีในที่นี้หมายถึงภาวะแห่งการเป็นบ่าว ซึ่งเป็นปัจจัยสำหรับพัฒนาการที่แท้จริงของมนุษย์
เพื่อการนี้ อิสลามให้ความสำคัญต่อทั้งด้านร่างกายและจิตใจมนุษย์ ดังที่อิมามอลี(อ.)กล่าวไว้ว่าผู้ที่มีอีหม่านจะต้องมีสามช่วงเวลาในแต่ละวันของเขา : ส่วนหนึ่งสำหรับการอิบาดะฮ์ ส่วนหนึ่งสำหรับการทำมาหากินและกิจการทางโลก ส่วนหนึ่งสำหรับความบันเทิงที่ฮะล้าลและใช้ประโยชน์จากความโปรดปรานของพระองค์ โดยที่ส่วนสุดท้ายจะช่วยให้สองส่วนแรกเป็นไปอย่างราบรื่น[ii]
อิสลามไม่เคยคัดค้านการพักผ่อนหย่อนใจหรือการหยอกล้อที่ถูกต้อง ไม่เคยห้ามว่ายน้ำในทะเล ซ้ำบรรดาอิมาม(อ.)ได้สอนสาวกให้ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ในเชิงปฏิบัติ ท่านนบี(ซ.ล.)เองก็เคยหยอกล้อกับมิตรสหายเพื่อให้มีความสุข
ท่านอิมามโคมัยนีไม่เคยคัดค้านการพักผ่อนหย่อนใจและการหยอกล้อที่อยู่ในขอบเขต ท่านกล่าวเสมอว่าการพักผ่อนหย่อนใจควรเป็นไปอย่างถูกต้อง ท่านไม่เคยคัดค้านรายการบันเทิงตามวิทยุโทรทัศน์ บางครั้งท่านชื่นชมยกย่องทีมงานของรายการต่างๆเหล่านี้ด้วย แต่ท่านก็ให้คำแนะนำอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับประเด็นนี้ โดยถือว่าทุกรายการจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อรับใช้อิสลามและแฝงไว้ซึ่งคำสอนทางจริยธรรม
อย่างไรก็ดี การที่จะศึกษาทัศนะของอิมามโคมัยนีนั้น จำเป็นต้องอ้างอิงจากเว็บไซต์ของศูนย์เรียบเรียงและเผยแพร่ผลงานของอิมามโคมัยนี หรือหาอ่านจากหนังสือชุดเศาะฮีฟะฮ์ นู้ร ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ (เปอร์เซีย)
http://www.imam-khomeini.org/farsi/main/main.htm
[i] ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต,56 " و ما خَلَقْتُ الْجِنَّ وَ الْإِنْسَ إِلاَّ لِیَعْبُدُونِ"
[ii] یَا بُنَیَّ لِلْمُؤْمِنِ ثَلَاثُ سَاعَاتٍ سَاعَةٌ یُنَاجِی فِیهَا رَبَّهُ وَ سَاعَةٌ یُحَاسِبُ فِیهَا نَفْسَهُ وَ سَاعَةٌ یَخْلُو فِیهَا بَیْنَ نَفْسِهِ وَ لَذَّتِهَا فِیمَا یَحِلُّ وَ یُحْمَدُ وَ لَیْسَ لِلْمُؤْمِنِ بُدٌّ مِنْ أَنْ یَکُونَ شَاخِصاً فِی ثَلَاثٍ مَرَمَّةٍ لِمَعَاشٍ أَوْ خُطْوَةٍ لِمَعَادٍ أَوْ لَذَّةٍ فِی غَیْرِ مُحَرَّمٍ
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจทัศนะของอิสลามเกี่ยวกับเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ ประเด็นการใช้ประโยชน์จากทัศนียภาพธรรมชาติเช่นป่าเขาลำเนาไพร และประเด็นการพักผ่อนหย่อนใจและการหยอกล้อเสียก่อน แล้วจึงนำเสนอโอวาทของท่านอิมามโคมัยนีเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ แล้วจะทราบว่าสิ่งที่อิสลามสอนมิได้แตกต่างจากโอวาทของอิมามโคมัยนีเลยแม้แต่น้อย
กุรอานในฐานะที่เป็นแหล่งอ้างอิงของอิสลาม ได้กล่าวถึงการสรรสร้างมนุษย์ว่า ข้ามิได้สร้างมนุษย์และญินมาเพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อสักการะภักดีต่อข้า" (เพื่อพัฒนาตนเองให้ใกล้ชิดพระองค์)[1] ฉะนั้น เมื่อพิจารณาเพียงเล็กน้อยก็สามารถได้สรุปว่า เป้าหมายหลักของการสร้างมนุษย์คือการสักการะภักดีพระองค์ (เพื่อให้บรรลุจุดสูงสุดของมนุษย์) เป้าหมายอื่นๆอาทิเช่น ความรู้ การทดสอบ ฯลฯ ล้วนเป็นช่องทางสู่การสักการะภักดีพรองค์ โดยที่การภักดีนี้จะนำสู่กรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์[2] ท่านอิมามโคมัยนีเองก็กล่าวไว้ว่าเป้าหมายของอิสลามก็คือการนำทางมนุษย์ เราท่านทั้งหลายถูกสร้างขึ้นเพื่อพุ่งผงาดจากแดนดินสู่ฟากฟ้า และนี่คือเป้าหมายของการสถาปนาและการคงอยู่ของรัฐอิสลามที่รณรงค์ให้ประชาชนภักดีต่อพระองค์[3]
อิสลามมีคำแนะนำเกี่ยวกับการหยอกล้อ อาทิเช่น ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวไว้ว่า ไม่มีผู้ศรัทธาผู้ใดที่ปราศจาก "ดิอาบะฮ์"ในชีวิตประจำวัน นักรายงานถามท่านว่า" ดิอาบะฮ์"คืออะไรหรือ? ท่านตอบว่า "การหยอกล้อ" [4]
ตำราประมวลฮะดีษของเราล้วนรายงานฮะดีษมากมายที่มีเนื้อหารณรงค์ให้หยอกล้อกัน[5]
ยูนุส ชัยบานี รายงานว่า วันหนึ่งท่านอิมามศอดิก(อ.)ได้เอ่ยถามฉันว่า เธอหยอกล้อกับผู้อื่นบ้างหรือไม่? " ฉันตอบว่า "ค่อนข้างน้อยขอรับ" ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "เหตุใดจึงไม่หยอกล้อกับผู้อื่นเล่า การหยอกล้อเป็นส่วนหนึ่งของอัธยาศัยที่ดี" และท่านยังเสริมว่า "ท่านนบี(ซ.ล.)ก็เคยหยอกล้อกับบุคคลต่างๆเพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุข"[6]
เมื่อพิจารณาถึงการหยอกล้อของท่านนบี(ซ.ล.)จะทราบว่า แม้ท่านจะมีอัธยาศัยที่ดีและหยอกล้อกับผู้อื่นอย่างเป็นกันเอง แต่ท่านไม่เคยใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง การหยอกล้อของท่านปราศจากเรื่องไร้สาระ ดังที่ท่านกล่าวว่า "แม้ฉันจะหยอกล้อ แต่จะไม่กล่าวคำพูดใดนอกจากข้อเท็จจริง"[7] ประโยคนี้ชี้ให้เห็นว่าท่านนบี(ซ.ล.)ก็หยอกล้อเช่นกัน แต่มีขอบเขตที่ชัดเจน
ส่วนคำพูดของอิมามโคมัยนีที่ว่า "อิสลามไม่ล้อเล่น"[8]นั้น ไม่ได้หมายความว่าอิสลามคัดค้านการหยอกล้อ แต่ต้องการสื่อว่าอิสลามจะต้องได้รับการตีแผ่อย่างชัดเจนและจริงจัง สังเกตุได้จากประโยคต่อมาที่ว่า "...อิสลามจริงจังในทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องไร้สาระไม่ว่าจะในเชิงวัตถุหรือจิตใจ อิสลามต้องการจะสร้างนักต่อสู้ มิไช่คนที่ใช้ชีวิตเสเพลไปวันๆ" [9] ซึ่งแน่นอนว่าโอวาทนี้ไม่ได้สื่อว่าจะต้องห้ามมิให้บุคคลหยอกล้อกันโดยสิ้นเชิงแม้ในเวลาว่าง (หลังเลิกงานหรือหลังเวลาเรียน ฯลฯ) สังเกตุได้จากการที่ท่านไม่เคยระบุว่าอิสลามห้ามไม่ให้หยอกล้ออย่างมีขอบเขต เนื่องจากอิสลามมีคำสอนเกี่ยวกับการพักผ่อนหย่อนใจและการหยอกล้อตามอัธยาศัย
ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวแก่บุตรของท่านว่า "ผู้ที่มีอีหม่านจะต้องมีสามช่วงเวลาในแต่ละวันของเขา: ส่วนหนึ่งสำหรับการอิบาดะฮ์และการวิงวอนพระองค์ ส่วนหนึ่งสำหรับการทำมาหากินและกิจการทางโลก ส่วนหนึ่งสำหรับความบันเทิงที่ฮะล้าลและไม่ขัดต่อหลักศาสนา"[10] น่าสนใจที่มีฮะดีษอื่นๆกล่าวเพิ่มเติมว่าส่วนสุดท้ายจะช่วยให้สองส่วนแรกเป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ดี เงื่อนไขหลักของการหยอกล้อก็คือ จะต้องไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา เพราะหากไม่เป็นเช่นนี้ก็ย่อมจะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา ซึ่งอาจจะทำลายสุขภาพจิตของผู้ฟังจนไม่มีสมาธิที่จะทำงานทำการได้อีกต่อไป
ต้องเรียนว่าในทัศนะอิสลาม การพักผ่อนหย่อนใจมีความสำคัญถึงขั้นที่มีการแข่งขันให้ท่านนบี(ซ.ล.)ชม บางครั้งท่านเป็นผู้ตัดสินการแข่งขัน[11] อิมามโคมัยนีก็เคยให้โอวาทและระบุไว้ในหนังสือประมวลปัญหาศาสนาของท่านว่า การเดินทางท่องไปในดินแดนต่างๆถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่เหมาะสม ท่านระบุว่า "หากผู้ใดออกเดินทางเพียงต้องการพักผ่อนหย่อนใจ ก็ไม่ถือเป็นสิ่งต้องห้ามแต่อย่างใด การพักผ่อนหย่อนใจจะต้องถูกทำนองคลองธรรม"[12] ท่านกล่าวเสริมอีกว่า"ฉันไม่เคยห้ามมิให้พักผ่อนหย่อนใจ ไม่เคยสั่งให้หมกมุ่นอยู่กับงานตลอดเวลา เพียงแต่ฉันต้องการให้คนหนุ่มสาวจัดระเบียบเวลาของตนเองเท่านั้น"[13]
ส่วนประเด็นรายการโทรทัศน์และวิทยุ ท่านกล่าวว่า "โทรทัศน์มีความอ่อนไหวมากที่สุดในกลุ่มเครื่องมือสำหรับเผยแพร่เนื้อหา ฉะนั้นจึงต้องให้แง่คิดและเปี่ยมด้วยศีลธรรม และจะต้องรับใช้อิสลาม ซึ่งมิได้หมายความว่าฉันห้ามมิให้รับชมโทรทัศน์"[14]
ส่วนประเด็นการว่ายน้ำทะเล นอกจากอิสลามจะไม่ห้ามปรามแล้ว ยังรณรงค์ให้มุสลิมสอนบุตรหลานให้ว่ายน้ำ ยิงธนู และขี่ม้า[15] แต่ก็ต้องคำนึงว่าการเล่นกีฬาเหล่านี้จะต้องไม่ปะปนกับสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรมจรรยา ด้วยเหตุนี้ท่านอิมามโคมัยนีจึงไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของบุคคลบางกลุ่มที่ทำกิจกรรมสรวลเสเฮฮา ดื่มเหล้าเคล้านารีริมชายทะเล[16]
สรุปสั้นๆก็คือ อิสลามไม่สนับสนุนให้ปิดกั้นตนเองอย่างสุดโต่ง ดังที่มีฮะดีษระบุว่า ไม่มีลัทธิปลีกสันโดษในอิสลาม และจากการศึกษาคำสอนในกุรอานและฮะดีษ ทำให้เราทราบว่าอิสลามเพียบพร้อมไปด้วยคำสอนที่ลงตัวสำหรับทุกช่วงโอกาสในชีวิตไม่เว้นกระทั่งกิจกรรมทางโลก อาทิเช่นการใช้ประโยชน์จากลาภอันประเสริฐ การหยอกล้อ และการพักผ่อนหย่อนใจตามอัธยาศัย
และเช่นกัน เมื่อพิจารณาโอวาทของอิมามโคมัยนีอย่างถ่องแท้จะพบว่า ท่านไม่เคยคัดค้านการพักผ่อนหย่อนใจ การหยอกล้อ และความบันเทิงที่ถูกหลักศาสนา ตลอดจนการใช้สอยลาภอันประเสริฐที่อัลลอฮ์ประทานให้
ท้ายนี้ ขอแนะนำว่าหากผู้ใดประสงค์จะศึกษาทัศนะของอิมามโคมัยนี ควรต้องศึกษาจากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของศูนย์เรียบเรียงและเผยแพร่ผลงานของอิมามโคมัยนีเท่านั้น หรืออาจศึกษาจากหนังสือชุด "เศาะฮีฟะฮ์ นู้ร" ซึ่งลงไว้ในลิ้งก์ด้านล่างนี้ (ภาษาเปอร์เซีย)
http://www.imam-khomeini.org/farsi/main/main.htm
[1] ซูเราะฮ์ อัซซาริยาต, 56
[2] ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์ฉบับย่อ,อะห์มัดอลี บอบออี,เล่ม4 ,หน้า 533, และ อัลมีซานฉบับแปล(ฟารซี),เล่ม18 ,หน้า 583
[3] ญิฮาด อักบัร, อิมามโคมัยนี, อารัมภบท
[4] อุศูลุลกาฟี,เชคกุลัยนี,เล่ม3 ,หน้า 664.
[5] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เชคฮุร อามิลี, เล่ม 12, หน้า 112, หมวดอิสติห์บ้าบให้หยอกล้อและขำขัน
[6] อ้างแล้ว,เล่ม 12,หน้า 114, ฮะดีษที่ 15794 , และ สุนะนุ้นนบี,อัลลามะฮ์ ฎอบาฎอบาอี,หน้า 60
[7] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 16,หน้า 117
[8] เศาะฮีฟะฮ์ นู้ร,อิมามโคมัยนี,เล่ม 9,หน้า 455
[9] อ้างแล้ว
[10] ตัฟซี้รออซอน,นะญะฟี โคมัยนี,เล่ม 8,หน้า 70 และ มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 10,หน้า 376-380
[11] อ้างแล้ว, หน้า 71
[12] เศาะฮีฟะฮ์ นู้ร, เล่ม 1, หน้า 395, และ ประมวลปัญหาศาสนา,ปัญหาที่1300
[13] อ้างแล้ว, เล่ม 3,หน้า218
[14] อ้างแล้ว, เล่ม 8,หน้า 496
[15] กันซุ้ลอุมม้าล,ฮะดีษที่ 45342
[16] เศาะฮีฟะฮ์ นู้ร,เล่ม 15,หน้า 178