ในหลายโองการมีสำนวน وَ رَفَعْنا فَوْقَكُمُ الطُّور ปรากฏอยู่ ซึ่งล้วนเกี่ยวกับบนีอิสรออีลทั้งสิ้น ตำราอรรถาธิบายกุรอานอธิบายว่าโองการเหล่านี้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากความดื้อรั้นของบนีอิสรออีลในยุคของท่านนบีมูซา(อ.) อัลลอฮ์ย่อมมีพลานุภาพที่จะยกภูเขาฏู้รบางส่วนให้ลอยขึ้นเหนือศีรษะของบนีอิสรออีล ดังที่ทรงเคยสร้างดวงดาวนับล้านๆดวง สร้างจักรภพและจักรวาลให้เคลื่อนที่ในอวกาศโดยมีระยะห่างที่เหมาะสม การที่จะเกิดเหตุการณ์ดังที่กุรอานเล่าไว้จึงไม่ไช่เรื่องเหลือเชื่อในแง่วิทยาศาสตร์และสติปัญญา
โองการที่หกสิบสอง ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์กล่าวถึงกลุ่มชนบนีอิสรออีลโดยมีข้อสังเกตุสองประการต่อไปนี้
1. การรับคำมั่นสัญญาโดยบนีอิสรออีล: กุรอานและเตาร้อตได้กล่าวถึงพันธสัญญานี้บางมาตรา[1] อันได้แก่ เอกานุภาพของพระองค์, ศรัทธาต่อศาสนทูตของพระองค์ทุกท่าน, การปรนนิบัติบุพการี เครือญาติ เด็กกำพร้าและผู้ยากไร้, การบริจาคในหนทางของพระองค์, การพูดดี, การนมาซ, การจ่ายซะกาต, งดเว้นการหลั่งเลือด ฯลฯ โดยในโองการที่สิบสอง ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ พระองค์ทรงสัญญาว่าหากกระทำเช่นนี้จะได้เป็นชาวสวรรค์
2. เหตุการณ์ที่ภูเขาฏู้รลอยขึ้นเหนือศีรษะบนีอิสรออีล
ตำราตัฟซี้รต่างระบุว่าเหตุการณ์ยกภูเขาฏู้รขึ้นเหนือศีรษะบนีอิสรออีลนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในยุคของท่านนบีมูซา (อ.) หาไช่เรื่องที่เกิดขึ้นช่วงเริ่มแรกการสร้างโลกไม่ โองการที่มีสำนวน وَ رَفَعْنا فَوْقَكُمُ الطُّور ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับบนีอิสรออีลนั้น ล้วนยืนยันถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวทั้งสิ้น[2]
เฏาะบัรซีรายงานจาก “อิบนิเซด”ว่า เมื่อท่านนบีมูซา(อ.)กลับจากภูเขาฏู้รโดยนำคัมภีร์เตาร้อตมาด้วยนั้น ท่านได้ประกาศแก่กลุ่มชนบนีอิสรออีลว่า “ข้านำมาซึ่งคัมภีร์แห่งฟากฟ้า ที่รวบรวมบทบัญญัติศาสนาที่พระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ จงยึดปฏิบัติเถิด” ทว่าชาวยะฮูดีอ้างว่าบทบัญญัติเหล่านี้สร้างปัญหาแก่พวกตน จึงเริ่มแสดงท่าทีแข็งข้อต่อต้าน อัลลอฮ์จึงบัญชาให้มลาอิกะฮ์ยกหินก้อนมหึมาขึ้นเหนือศีรษะพวกเขา ท่านนบีมูซา(อ.)ประกาศว่า “หากพวกท่านยอมรับพันธสัญญาและปฏิบัติตามคัมภีร์เตาร้อตและคำบัญชาของพระองค์ และยอมขออภัยโทษต่อการแข็งข้อที่เคยกระทำ เมื่อนั้นภัยพิบัติก็จะมลายหายไป แต่หากไม่เป็นไปตามนั้น ทุกคนจะตายกันหมด” สุดท้ายพวกเขายอมจำนนและยอมศิโรราบต่อพระองค์ อีกทั้งยอมรับคัมภีร์เตาร้อตในยามที่หินมหึมาอาจจะตกลงมาเมื่อใดก็ได้ แต่เมื่อพวกเขายอมขออภัยโทษ อะซาบจากพระองค์จึงถูกขจัดไป[3]
ฉะนั้น โองการข้างต้นคือสิ่งที่ยืนยันถึงพลานุภาพของพระองค์ในหน้าประวัติศาสตร์ อันถือเป็นการดัดนิสัยผู้แข็งข้อและผู้ปฏิเสธบทบัญญัติที่เหล่าศาสนทูตได้ประกาศใช้ ซึ่งเมื่อเทียบกับพลานุภาพอันไร้ขีดจำกัดของพระองค์ที่ทรงสร้างจักรวาลอันไกลโพ้น และสร้างดวงดาวจำนวนมหาศาลในอวกาศโดยกำหนดให้มีระยะห่างที่เหมาะสมแล้ว การที่จะเกิดเหตุการณ์ดังที่กุรอานเล่าไว้จึงไม่ไช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในแง่วิทยาศาสตร์และสติปัญญา แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวอาจจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อในมุมมองปกติ แต่ควรทราบว่าเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากมุอ์ญิซาตของบรรดานบี (อาทิเช่นการชุบชีวิตคนตายโดยนบีอีซา, นำอูฐออกมาจากภูเขาโดยนบีศอลิห์ ฯลฯ) ซึ่งล้วนเป็นปาฏิหารย์ แต่ก็เกิดขึ้นแล้วต่อหน้าธารกำนัลด้วยพลานุภาพของพระองค์
ต้องเรียนชี้แจง ณ ที่นี้ว่า บรรดานักอรรถาธิบายกุรอานมีทัศนะแตกต่างกันเกี่ยวกับการที่ภูเขาฏู้รลอยขึ้นเหนือศีรษะบนีอิสรออีล บางคนเชื่อว่าอัลลอฮ์ทรงถอนภูเขาฏู้รขึ้นให้ลอยเสมือนเป็นร่มเงาแก่พวกเขา[4] ทัศนะนี้อ้างอิงมาจากโองการที่ว่า “(และจงรำลึกเถิด) เมื่อครั้งที่เราได้ยกภูเขาขึ้นเสมือนร่มเงา โดยพวกเขาหวั่นวิตกว่าจะตกลงมาทับร่างพวกตน (บัดนั้นเราได้กำชับให้ยึดมั่นพันธสัญญาที่ว่า) จงยึดถือสิ่งที่เราประทานแก่สูเจ้า (บทบัญญัติต่างๆ) อย่างมั่นคง จงตระหนักถึงบทบัญญัติเหล่านั้น (และจงปฏิบัติตาม) เพื่อสูเจ้าจะเป็นผู้ยำเกรง”[5]
อย่างไรก็ดี มีทัศนะอื่นๆเกี่ยวกับข้อปลีกย่อยในเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นต้นว่าเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บริเวณภูเขาฏู้ร แผ่นดินไหวครั้งนั้นรุนแรงถึงขั้นที่ว่าผู้คนที่อยู่เชิงเขาเห็นเงาของยอดเขาเหนือศีรษะของตนเอง ต่างก็ตื่นตระหนกว่าอาจจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ แต่ด้วยกรุณาธิคุณของพระองค์ทำให้แผ่นดินไหวสงบลง และภูเขาก็คืนสภาพเดิม[6]
อีกทัศนะหนึ่งเชื่อว่าอาจจะเกิดแผ่นดินไหวโดยพระประสงค์ของพระองค์ อันเป็นเหตุให้ก้อนหินมหึมาแยกจากภูเขาและลอยข้ามหัวพวกเขาไปชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้คนตื่นตระหนกว่าอาจจะตกลงมาทับพวกเขา[7]
อย่างไรก็ดี คาดว่าคำชี้แจงบางประการข้างต้นเป็นไปเพื่อที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าปาฏิหารย์(มุอ์ญิซาต)ดังกล่าวมิไช่เรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด เนื่องจากพยายามอธิบายให้สอดคล้องกับหลักพื้นฐานทางวิชาการมนุษย์
เราเชื่อว่าเหตุการณ์ใดก็ตามที่มิได้เป็นเรื่องเหลือเชื่อในแง่สติปัญญา ย่อมสามารถจะเกิดขึ้นได้โดยพลานุภาพของพระองค์โดยไม่จำเป็นต้องชี้แจงให้มากความ ส่วนการแจงแจงเกี่ยวกับรายละเอียดของมุอ์ญิซาตนั้น ควรอ้างอิงหลักฐานทางศาสนาประกอบกับหลักความเป็นไปได้ทางสติปัญญาเท่านั้น
[1] อัลมาอิดะฮ์,12
[2] อัลบะเกาะเราะฮ์,93 อันนิซาอ์,154 อัลอะอ์ร้อฟ,171
[3] มะการิม ชีรอซี,นาศิร, ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 1,หน้า 294,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1374
[4] เฏาะบัรซี, ฟัฎล์ บิน ฮะซัน, มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 4,หน้า 764 (ใต้โองการที่ 171 อัลอะอ์ร้อฟ),สำนักพิมพ์นาศิร โคสโร,เตหราน,ปี 1372
[5] อัลอะอ์ร้อฟ,171
[6] เราะชี้ด ริฎอ,มุฮัมมัด, ตัฟซี้รอัลมะน้าร,ใต้โองการที่กำลังกล่าวถึง, ใน ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 1,หน้า 294
[7] มะการิม ชีรอซี,นาศิร, ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 1,หน้า 294