Please Wait
11187
ตามธรรมเนียมของชาวอรับแล้ว ชื่อที่มีคำว่า “อบู”(พ่อของ...) หรือ “อุมมุ”(แม่ของ...) นำหน้านั้น เรียกกันว่า “กุนียะฮ์” (สร้อยนาม)
ในทัศนะของอรับเผ่าต่างๆนั้น ธรรมเนียมการตั้งสร้อยนามถือเป็นการยกย่องบุคคล ตัวอย่างสร้อยนาม อบุลกอซิม, อบุลฮะซัน, อุมมุสะละมะฮ์, อุมมุกุลษูม ฯลฯ[1]
ศาสนาอิสลามก็ให้ความสำคัญแก่สร้อยนามเช่นกัน ฆ็อซซาลีกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ท่านนบี(ซ.ล.)มักจะให้เกียรติเรียกเหล่าสหายด้วยสร้อยนามเพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรี ส่วนผู้ที่ไม่มีสร้อยนาม ท่านก็จะเลือกสร้อยนามให้เขา และจะเรียกสร้อยนามนั้น กระทั่งผู้คนก็เรียกตามท่าน แม้กระทั่งผู้ที่ไม่มีบุตรที่จะนำมาตั้งสร้อยนาม ท่านนบี(ซ.ล.)ก็จะตั้งให้เขา ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังตั้งสร้อยนามแก่เด็กๆด้วย อาทิเช่นเรียกว่าอบูนั้น อบูนี้ เพื่อเชื่อมสัมพันธ์กับเด็กๆ”[2]
รายงานจากอิมามริฎอ(อ.)ว่า إذا كان الرجل حاضرا فكنه و إن كان غائبا فسمه “หากจะเรียกชื่อผู้ใดต่อหน้า ให้เรียกด้วยสร้อยนามของเขา แต่หากพูดถึงลับหลังก็สามารถเรียกชื่อจริงได้”[3]
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า السُّنَّةُ وَ الْبِرُّ أَنْ يُكَنَّى الرَّجُلُ بِاسْمِ ابْنِهِ “ซุนนะฮ์อันดีงามอย่างหนึ่งก็คือการเลือกสร้อยนามตามชื่อของบุตรชาย”[4]
จากนิยามของสร้อยนามที่กล่าวมาทั้งหมด การที่ท่านนบี(ซ.ล.)ใช้สร้อยนามว่า “อบุลกอซิม”ก็เนื่องจากว่ากอซิมเป็นชื่อบุตรชายของท่าน จึงใช้สร้อยนามว่าอบุลกอซิม[5] ดังที่สร้อยนาม อบูอับดิลลาฮ์ ของอิมามฮุเซนตั้งขึ้นจากคำว่า “อับดุลลอฮ์ อัรเราะฎี้อ์ (อลี อัศฆ็อร) อันเป็นชื่อของบุตรชายวัยแบเบาะของท่าน
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้คนทั่วไปไม่ชอบสร้อยนามของใครบางคนก็มักจะเปลี่ยนสร้อยนามแล้วใช้เรียกบุคคลนั้นๆ อาทิเช่น อบูญะฮัล ซึ่งก่อนยุคอิสลามเคยมีสร้อยนามว่า “อบูฮิกัม”(บิดาแห่งปัญญา) แต่เมื่อเขาต่อต้านอิสลามและท่านนบี(ซ.ล.) ทำให้สร้อยนามเดิมดูจะไม่เหมาะสำหรับเขาอีกต่อไป ผู้คนจึงตั้งให้ใหม่ว่า “อบูญะฮัล”(บิดาแห่งอวิชา)
คำถามนี้ไม่มีคำตอบเชิงรายละเอียด
[1] ดู: พจนานุกรมเดะห์โคดอ,เล่ม 11,หน้า 16452, คำว่า “กุนียะฮ์”,มหาวิทยาลัยเตหราน,เตหราน,พิมพ์ชุดใหม่ครั้งแรก,ปี 1373
[2] ฮุซัยนี ดัชที,มุศเฏาะฟา,มะอาริฟวะมาอารีฟ,เล่ม 8,หน้า 595,สถาบันวิจัยและเผยแพร่สารธรรมอะฮ์ลุลบัยต์
[3] เฏาะบัรซี,อบุลฟัฎล์ อลี บิน ฮะซัน, มิชกาตุ้ลอันว้าร,หน้า 324,หอสมุดฮัยดะรียะฮ์,นะญัฟ,ฮ.ศ.1375
[4] ฮุร อามิลี,วะซาอิลุชชีอะฮ์,สถาบันอาลุลบัยต์,กุม,ฮ.ศ.1409
[5] บุตรชายคนนี้ของท่านนบี(ซ.ล.)เสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ก่อนบรรลุนิติภาวะ