Please Wait
42265
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีปัจจัยและเงื่อนไขจำเพาะตามที่พระเจ้าทรงกำหนด หากเราประสงค์สิ่งใดย่อมต้องเริ่มจากการตระเตรียมปัจจัยและเงื่อนไขเสียก่อน ปัจจัยของการแต่งงานคือการเสาะหาและศึกษาอย่างละเอียด ทว่าเพื่อความสัมฤทธิ์ผลในการดังกล่าว จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์เพื่อทรงชี้นำการตัดสินใจและความพยายามของเราให้บรรลุดังใจหมาย.
การอ่านบทดุอาต่างๆที่รายงานจากบรรดาอิมาม(อ)ต้องควบคู่กับความพยายามศึกษาและเสาะหาคู่ครองอย่างถี่ถ้วน. หนึ่งในดุอาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะก็คือรายงานที่ตกทอดมาจากท่านอลี(อ)ดังต่อไปนี้: “ผู้ใดประสงค์จะมีคู่ครอง ให้นมาซสองเราะกะอัต โดยแต่ละเราะกะอัตให้อ่านฟาติหะฮ์และยาซีน หลังให้สลามให้กล่าวสรรเสริญพระองค์ และอ่านดังต่อไปนี้:
ข้าฯแต่พระผู้เป็นเจ้า ขอทรงประทานคู่ครองที่เอื้ออาทร,มีบุตรง่าย,รู้คุณคนและมีเกียรติ เป็นสตรีที่หากข้าฯทำดีต่อเธอ เธอจะรู้คุณ, หากประพฤติไม่ดี เธอจะอภัย, หากระลึกถึงพระองค์ เธอจะส่งเสริม, หากหลงลืมพระองค์ เธอจะย้ำเตือน, หากต้องจากเธอมา เธอจะปกป้อง(เกียรติและทรัพย์สิน), หากเข้าหาเธอ เธอจะสุขใจ, และหากกำชับ เธอจะเคารพ, และหากขอร้อง เธอจะสนอง, หากโกรธข้อง เธอจะปรับปรุง, ข้าฯแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและเดชานุภาพ ขอทรงประทานคู่ครองเยี่ยงนี้แก่ข้าฯ เพราะข้าฯวอนขอเธอจากพระองค์ และข้าฯจะมิได้รับมอบสิ่งใดเว้นแต่พระองค์จะทรงเอื้อเฟื้อและประทานให้เท่านั้น.
อัลลอฮ์ทรงบริหารโลกนี้บนพื้นฐานของกฏเกณฑ์ที่ทรงวางไว้ ทรงกำหนดให้แต่ละปรากฏการณ์มีมูลเหตุจำเพาะ ซึ่งหมายความว่าหากเราต้องการจะบรรลุเป้าหมายใด ย่อมต้องตระเตรียมมูลเหตุและปัจจัยทั้งหมดให้พร้อมเสียก่อน
การเลือกคู่ครองก็ดี การแต่งงานก็ดี ล้วนเป็นหลักสำคัญในทัศนะของพระเจ้า ดังที่โองการกุรอาน[1]และฮะดีษมะอ์ศูมีน(อ)สาธยายคุณสมบัติคู่ครองที่เหมาะสมไว้อย่างละเอียดละออ นอกจากนี้ ผู้ประสงค์จะออกเรือนควรพิจารณาเลือกผู้ที่มีความคล้ายคลึงกับตนเองเป็นหลัก(ในแง่การศึกษา,วัฒนธรรม,สังคม,เศรษฐกิจ...)
โดยทั่วไป วิธีเลือกคู่ครองที่เหมาะสมและมีตักวามีดังนี้: 1. ต้องเข้าใจหลักเกณฑ์ของตักวา 2. พิจารณาเปรียบเทียบหลักเกณฑ์ตักวากับผู้ที่เราหมายปอง. การพิจารณานี้กระทำโดยวิธีต่างๆเช่น การพูดคุยโดยตรง, พิจารณาประวัติครอบครัวและอุปนิสัยของเพื่อนสนิท, สอบถามผู้ร่วมงาน,เครือญาติและเพื่อนบ้าน. อย่างไรก็ดี จะต้องขอความอนุเคราะห์จากอัลลอฮ์ด้วยการดุอาเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล สรุปคือ เราต้องเพียรพยายามเสียก่อน แล้วจึงขอให้พระองค์ทรงนำทางให้บรรลุเป้าหมายอย่างถูกต้องแม่นยำ นี่คือครรลองที่ถูกต้องของการดุอา อิสลามไม่เคยส่งเสริมให้คนโสดขอดุอาเพื่อหวังจะพบคู่ครองที่เพียบพร้อม โดยไม่ขวนขวายพิจารณาด้วยตนเองเสียก่อน พฤติกรรมดังกล่าวมีแต่จะทำให้ดุอาไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งนี้ก็เพราะดุอาจะได้รับการตอบรับต่อเมื่อเราได้ขวนขวายเตรียมการเสียก่อน แล้วจึงขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือและดลบันดาลให้ความพยายามของเราสัมฤทธิ์ผล.
ทุกดุอาที่รายงานจากบรรดาอิมาม(อ)นั้น ต้องอ่านควบคู่การเพียรพยายามสอบถามเกี่ยวกับคู่ครองอย่างรอบด้าน หนึ่งในดุอาดังกล่าวคือดุอาที่รายงานจากท่านอิมามอลี(อ) ท่านกล่าวว่า: “ผู้ใดประสงค์จะมีคู่ครอง ให้นมาซสองเราะกะอัต โดยแต่ละเราะกะอัตให้อ่านฟาติหะฮ์และยาซีน หลังให้สลามให้กล่าวสรรเสริญพระองค์ และอ่านดุอาดังต่อไปนี้:
اللَّهُمَّ ارْزُقْنِی زَوْجَةً وَدُوداً وَلُوداً شَکُوراً غَیُوراً إِنْ أَحْسَنْتُ شَکَرَتْ وَ إِنْ أَسَأْتُ غَفَرَتْ وَ إِنْ ذَکَرْتُ اللَّهَ تَعَالَى أَعَانَتْ وَ إِنْ نَسِیتُ ذَکَّرَتْ وَ إِنْ خَرَجْتُ مِنْ عِنْدِهَا حَفِظَتْ وَ إِنْ دَخَلْتُ عَلَیْهَا سُرَّتْ وَ إِنْ أَمَرْتُهَا أَطَاعَتْنِی وَ إِنْ أَقْسَمْتُ عَلَیْهَا أَبَرَّتْ قَسَمِی وَ إِنْ غَضِبْتُ عَلَیْهَا أَرْضَتْنِی یَا ذَا الْجَلَالِ وَ الْإِکْرَامِ هَبْ لِی ذَلِکَ فَإِنَّمَا أَسْأَلُکَه و لا آخِذ اِلاّ ما مَنَنْتَ و اَعْطَیْتَ"[2]
ท่านอิมามอลีกล่าวว่า: ผู้ที่ปฏิบัติดังนี้(นมาซและดุอา), อัลลอฮ์จะทรงประทานให้ตามที่เขาหมายปอง
คำแปลดุอา:
“ข้าฯแต่พระผู้เป็นเจ้า, ขอทรงประทานคู่ครองที่เอื้ออาทร,มีบุตรง่าย,รู้คุณคนและมีเกียรติ เป็นสตรีที่หากข้าฯทำดีต่อเธอ เธอจะรู้คุณ, หากประพฤติไม่ดี เธอจะอภัย, หากระลึกถึงพระองค์ เธอจะส่งเสริม, หากหลงลืมพระองค์ เธอจะย้ำเตือน, หากต้องจากเธอมา เธอจะปกป้อง(เกียรติและทรัพย์สิน), หากเข้าหาเธอ เธอจะสุขใจ, และหากกำชับ เธอจะเคารพ, และหากขอร้อง เธอจะสนอง, หากโกรธข้อง เธอจะปรับปรุง, ข้าฯแต่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมด้วยเมตตาและเดชานุภาพ ขอทรงประทานคู่ครองเยี่ยงนี้แก่ข้าฯ เพราะข้าฯวอนขอเธอจากพระองค์ และข้าฯจะมิได้รับมอบสิ่งใดเว้นแต่พระองค์จะทรงเอื้อเฟื้อและประทานให้เท่านั้น”.
[1] ซูเราะฮ์นูร, 26 ; อัตตะห์รีม, 5.
[2] ญะฟะรียาต, หน้า 110(อ้างอิงในโปรแกรมคอมฯ ญามิอุลอะฮาดีษ), ดุอานี้บันทึกในหนังสือบิฮารุลอันวาร เล่ม 100 หน้า 269 แตกต่างจากด้านบนเล็กน้อยดังนี้:
اللَّهُمَّ ارْزُقْنِی زَوْجَةً صَالِحَةً وَدُوداً وَلُوداً شَکُوراً قَنُوعاً غَیُوراً إِنْ أَحْسَنْتُ شَکَرَتْ وَ إِنْ أَسَأْتُ غَفَرَتْ وَ إِنْ ذَکَرْتُ اللَّهَ تَعَالَى أَعَانَتْ وَ إِنْ نَسِیتُ ذَکَّرَتْ وَ إِنْ خَرَجْتُ مِنْ عِنْدِهَا حَفِظَتْ وَ إِنْ دَخَلْتُ عَلَیْهَا سُرَّتْ وَ إِنْ أَمَرْتُهَا أَطَاعَتْنِی وَ إِنْ أَقْسَمْتُ عَلَیْهَا أَبَرَّتْ قَسَمِی وَ إِنْ غَضِبْتُ عَلَیْهَا أَرْضَتْنِی یَا ذَاالْجَلَالِ وَ الْإِکْرَامِ هَبْ لِی ذَلِکَ فَإِنَّمَا أَسْأَلُکَ وَ لَا أَجِدُ إِلَّا مَا قَسَمْتَ لِی.