Please Wait
7673
หลักเกณฑ์การเลือกฮะดีษที่ท่านกุลัยนีระบุไว้นั้น มีไว้เฉพาะกรณีฮะดีษที่ขัดแย้งกัน เพราะหลักเกณฑ์พิสูจน์ความเศาะฮี้ห์ของฮะดีษมีมากกว่าสามวิธีที่ท่านระบุไว้อันได้แก่ จะต้องสอดคล้องกับกุรอาน ตรงข้ามกับอามมะฮ์และแนวตัคยี้ร
ส่วนการประพันธ์ตำราหลังยุคท่านกุลัยนีก็มิได้หมายความว่าหนังสืออัลกาฟีไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้ประพันธ์ตำราเหล่านั้นก็ล้วนยอมรับความนิยมในหนังสืออัลกาฟี
เพื่อตอบข้อซักถามดังกล่าว ควรคำนึงถึงประเด็นต่อไปนี้:
1. มัรฮูมษิเกาะตุ้ลอิสลาม “กุลัยนี” ถือเป็นผู้รู้ระดับสูงท่านหนึ่งของชีอะฮ์ในยุคเร้นกายระยะแรก(ศุฆรอ) ซึ่งได้รับการยกย่องจากผู้รู้จำนวนมาก[1] มัรฮูมมุฮัมมัดตะกี มัจลิซี กล่าวถึงท่านว่า “กล่าวได้ว่าในหมู่ผู้รู้ของชีอะฮ์ไม่มีใครเสมอเหมือนกุลัยนีอีกแล้ว หากพิจารณาฮะดีษที่ปรากฏในตำราของท่านก็จะเข้าใจได้ว่าท่านได้รับการสนับสนุนจากอัลลอฮ์”[2]
2. หลักเกณฑ์การเลือกฮะดีษที่ท่านกุลัยนีระบุไว้นั้น มีไว้เฉพาะกรณีฮะดีษที่ขัดแย้งกัน เพราะหลักเกณฑ์พิสูจน์ความเศาะฮี้ห์ของฮะดีษมีมากกว่าสามวิธีที่ท่านระบุไว้ อันได้แก่ จะต้องสอดคล้องกับกุรอาน ตรงข้ามกับอามมะฮ์และแนวตัคยี้ร ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นถัดไป
3. ทัศนะที่กลุ่มผู้รู้ที่จำแนกฮะดีษในหนังสืออัลกาฟีเคยกล่าวไว้นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานนิยามที่แพร่หลายหลังยุคผู้ประพันธ์ตำราทั้งสี่ (กุตุ้บอัรบะอะฮ์) ทว่านักวิชาการปัจจุบันเน้นความน่าเชื่อถือของตัวฮะดีษเป็นมาตรฐานหลัก มิไช่พิจารณาเพียงนักรายงานฮะดีษอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้เองที่ผู้รู้ยุคแรกถือว่าฮะดีษที่ตนมั่นใจว่าเป็นวจนะของอิมาม ถือว่าเศาะฮี้ห์[3] กล่าวคือ ความมั่นใจดังกล่าวเป็นข้อสรุปจากการตรวจสอบสายรายงานพร้อมกับเนื้อหาฮะดีษ ทำให้ผู้รู้เหล่านั้นมั่นใจว่าเศาะฮี้ห์
4. หากไม่นับกลุ่มนักวิจารณ์แล้ว จะพบว่ามีอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้การยอมรับอัลกาฟีอย่างสมบูรณ์ อาทิเช่น:
เชคมุฟี้ดเชื่อว่า “อัลกาฟีคือหนังสือที่ดีและมีประโยชน์มากที่สุดของชีอะฮ์”[4]
ซัยยิดมุรตะฎอกล่าวว่า “แม้ฮะดีษหลายบทที่ปรากฏในตำราทั้งสี่จะมีสายรายงานไม่มากพอ แต่เราก็เชื่อว่าได้รับรายงานจากบรรดาอิมาม(อ.)ด้วยเหตุผลดังนี้ หนึ่ง. ความน่าเชื่อถือสืบเนื่องจากเป็นที่นิยมแพร่หลาย สอง. มีเบาะแสพิสูจน์ความเศาะฮี้ห์ของฮะดีษ”[5]
มุฮักกิก กะเราะกี และมุฮัมมัด อมีน อัสตัรออบอดี เชื่อว่า “ไม่มีหนังสือเล่มใดในโลกชีอะฮ์ที่จะเทียบเคียงอัลกาฟีได้”[6]
นะญาชีกล่าวว่า “มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ กุลัยนี คือสหายผู้ยิ่งใหญ่ของเราในเมื่องเรย์ และมีความสัจจะที่สุดในการรายงานฮะดีษ โดยใช้เวลาประพันธ์อัลกาฟีถึงสามสิบปี”[7]
ผู้ประพันธ์หนังสืออัลมะอาลิม และมุนตะก้อล ญิมาน กล่าวว่า
ان احادیث الکتب الاربعة و امثالها محفوفة بالقرائن و انها منقولة من الاصول والکتب المجمع علیها بغیر تغییر[8]
และกล่าวถึงการอนุญาตรายงานฮะดีษว่า
ان اثر الاجازة بالنسبة الی العمل انما یظهر حیث لایکون متعلقها معلوما بالتواتر و نحوه ککتب اخبارنا الاربعة فانها متواتره اجمالا والعلم بصحة مضامینها تفصیلاً یستفاد من قرائن الاحوال و لامدخل للاجازة فیه غالباً[9]
หมายถึง เรามีเบาะแสที่ทำให้เชื่อมั่นในความถูกต้องของตำราทั้งสี่ ฉะนั้น การอนุญาตรายงานจึงไม่มีผลใดๆต่อเรื่องดังกล่าว
ฟัยฎ์ กาชานี กล่าวว่า “กาฟีเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่า สมบูรณ์ และครบครันมากที่สุด เนื่องจากรายงานจากตำรายุคเก่า(อุศู้ล) และปราศจากสิ่งเจือปน”[10]
มัรฮูม คูอี้ กล่าวไว้ในอารัมภบทของตำราริญ้าลว่า “มัรฮูม เชค มุฮัมมัดฮุเซน นออีนี เคยกล่าวในชั้นเรียนว่า การตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสายรายงานของอัลกาฟีเป็นเรื่องของพวกด้อยความสามารถ และไม่มีใครสงสัยความถูกต้องของฮะดีษอัลกาฟีนอกจากพวกนี้เท่านั้น”[11]
อย่างไรก็ดี ทัศนะที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือทัศนะที่ปราศจากอคติหรือการยกย่องเกินเหตุ เพราะแม้ว่าหนังสืออัลกาฟีจะมีฮะดีษเศาะฮี้ห์จำนวนมาก แต่ก็ยังมีฮะดีษที่ไม่อาจยอมรับได้รวมอยู่ด้วย
5. การประพันธ์หนังสือหลังจากตำราเล่มใด มิได้หมายความว่าตำราเล่มก่อนไม่ดีเสมอไป เนื่องจากผู้ประพันธ์เล่มก่อนอาจต้องการจะเขียนลักษณะสังเขปหรืออาจมีมุมมองเฉพาะ แต่ผู้ประพันธ์เล่มต่อมาอาจต้องการเพิ่มรายละเอียดหรืออาจมีมุมมองที่แตกต่างออกไปก็เป็นได้ ดังที่มัรฮูม ฟัยฎ์ กาชานีเคยชมเชยอัลกาฟีในอารัมภบทหนังสืออัลวาฟี แต่ก็ระบุว่าเหตุที่ต้องเขียนอัลวาฟีก็เพราะอัลกาฟีมีลักษณะสังเขป[12]
6. ทัศนะของท่านวะฮี้ด เบะฮ์บะฮอนีคือ การที่ปลายสายรายงานไม่เชื่อมถึงอิมามมะอ์ศูม แต่ถึงเพียงศิษย์ของท่านเหล่านั้น[13] ฉะนั้นคำพูดที่ว่า “เราได้ประจักษ์ว่าหนังสืออัลกาฟีมีฮะดีษหลายบทที่มิได้รายงานจากอิมามมะอ์ศูม” นั้น มิไช่คำพูดของท่านวะฮี้ด แต่เป็นการนำคำพูดของท่านไปตีความอย่างผิดเพี้ยน ทั้งนี้เนื่องจากว่า แม้ปลายสายรายงานอาจจะไม่เชื่อมถึงอิมามมะอ์ศูมก็ตาม แต่มิได้หมายความว่าฮะดีษดังกล่าวไม่น่าเชื่อถือ หรือกุขึ้นมาแต่อย่างใด เนื่องจากบุคคลอย่างอลี บิน อิบรอฮีม หรือ อบีอัยยู้บ[14]จะไม่มีวันรายงานฮะดีษจากผู้อื่นที่มิไช่อิมามอย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ท่านกุลัยนีจึงรายงานจากบุคคลเหล่านี้เพราะไว้วางใจในความน่าเชื่อถือของพวกเขา
[1] มุฮัดดิษ กุมี กล่าวถึงท่านกุลัยนีว่า “ผู้ประพันธ์ตำราอัลกาฟีอันทรงคุณค่าถือเป็นผู้รู้และนักรายงานระดับสูง และเป็นที่ภาคภูมิใจของชีอะฮ์” ฮะดียะตุ้ลอะห์บ้าบ,เชคอับบาส กุมี, สำนักพิมพ์อมี้ร กะบี้ร,เตหราน 1364, หน้า 247
[2] อุศูลกาฟี, ษิเกาะตุลอิสลามกุลัยนี,แปลโดยซัยยิดญะว้าด มุศเฏาะฟะวี,สำนักพิมพ์วะฟา,เล่ม 1,บทนำผู้แปล,หน้า 8. เพื่อทราบข้อมูลเพิ่มเติมโปรดอ่านคำตอบที่ 1527 ระเบียน ฮะดีษในตำราอัลกาฟี
[3] ซัยฟี มอซันดะรอนี,อลีอักบัร, มิกยาสุรริวายะฮ์ ฟี อิลมิดดิรอยะฮ์,หน้า 44 อ่านเพิ่มเติมที่คำตอบที่ 1937
[4] อลี ฆอซี ชอฮ์รูดี,อัลอะอ์ลามุลฮาดิยะฮ์ อัรเราะฟีอะฮ์ ฟี อิอ์ติบาริล กุตุบิล อัรบะติลมะนีอะฮ์,หน้า 123
[5] เชคฮุร อามิลี,วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 2,หน้า 76, อ้างใน มะอาลิมุ้ลอุศู้ล,หน้า 171 และ มัษก็อลญะมาล ฟิลอะฮาดีษิศศิฮ้าฮิวัลฮาล,เล่ม 1,หน้า 8
[6] ซุบฮานี,ญะอ์ฟัร, กุลลียาต ฟี อิลมิรริญาล,หน้า 360
[7] อัลอะอ์ลามุลฮาดิยะฮ์,หน้า 133 อ้างในริญาลนะญาชี
[8] อบูมันศู้ร ฮะซัน บินซัยนิลอาบิดีน, มะอาลิมุลอุศู้ล,หน้า 185
[9] อัลอะอ์ลามุลฮาดิยะฮ์,หน้า 152 อ้างในมะอาลิมุลอุศู้ล หมวดฮะดีษ
[10] อุศูลกาฟี,บทนำผู้แปล,หน้า 9
[11] มุอ์ญะมุรริญาลิลฮะดีษ,ซัยยิด อบุลกอซิม อัลมูซะวี อัลคูอี, ค้นคว้าเพิ่มเติมโดยมุรตะฎอ อัลฮะกะมี,สำนักพิมพ์อัลอาด้าบ,นะญัฟ,หน้า 99 บทนำที่ห้า
[12] ฟัยฎ์ คอชอนี,อัลวาฟี,สำนักพิมพ์อิสลามียะฮ์,หน้า 7
[13] เช่นในหมวดดิย้าต ได้รายงานฮะดีษชุดหนึ่งที่สิ้นสุด ณ อลี บิน อิบรอฮีม และอบี อัยยู้บ มิไช่อิมามมะอ์ศูม. อัรเราะซาอิลุลอุศูลียะฮ์,วะฮีด เบะฮ์บะฮอนี,หน้า 93, 213
[14] นะมอซี ชอฮ์รูดี,อลี, มุสตัฏเราะฟาตุ้ลมะอาลี,สำนักพิมพ์บะนา,พิมพ์ครั้งแรก,หน้า