Please Wait
6728
โดยทั่วไป สัมพันธภาพจะไม่เกิดขึ้นระหว่างคนแปลกหน้าสองคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน นอกจากจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้จักและมีไมตรีจิตต่อฝ่ายตรงข้าม จึงจะค่อยๆสานเป็นความสัมพันธ์อันดีต่อกันในอนาคต
กรณีของท่านอิมามมะฮ์ดีก็เช่นกัน ท่านรู้จักเราและมีไมตรีจิตต่อเราอย่างอบอุ่น แต่เราซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของสายสัมพันธ์ หากได้รู้จักฐานะภาพของท่านอย่างแท้จริง ก็จะทำให้สามารถสานสัมพันธ์และติดต่อกับท่านได้ ดังที่อุละมาอ์ระดับสูงหรือผู้ที่สำรวมตนขัดเกลาจิตใจบางท่านสามารถติดต่อกับท่านอิมาม(อ.)ได้ในอดีต
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสานสัมพันธ์กับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)นั้น แบ่งออกเป็นสองประเภท 1.เชื่อมสัมพันธ์ทางจิตใจ 2.เชื่อมสัมพันธ์ในระดับการเข้าพบ อย่างไรก็ดี แม้ว่าความสัมพันธ์ทั้งสองประเภทนี้จะมิไช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อม แต่หากต้องการจะมีความสัมพันธ์ในระดับเข้าพบ ก็จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ กล่าวคือ จะต้องมีสัมพันธภาพทางจิตใจพร้อมกับจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆที่จำเป็นด้วย จึงจะถือเป็นการตระเตรียมโอกาสที่จะได้เข้าพบท่าน(อ.)
เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ถูกต้อง จำเป็นต้องคำนึงถึงเนื้อหาดังต่อไปนี้
1. คำว่า“ความสัมพันธ์”ในเชิงคำศัพท์แล้ว หมายถึงความผูกพัน ความนิยมชมชอบ และการเชื่อมโยง[1]. คำดังกล่าวสื่อถึงภาวะเชื่อมโยงระหว่างสองฝ่าย อันประกอบด้วยบุคคลสองฝ่ายที่มีความสัมพันธ์กัน และทั้งสองฝ่ายต้องการจะคงความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ ฉะนั้น ความรู้สึกผูกพันฝ่ายเดียวจึงไม่นับเป็นความสัมพันธ์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์จะไม่เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายที่ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน นอกจากว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะยื่นมือเข้าหาฝ่ายตรงข้ามเนื่องจากเคยรู้จัก หรือมีความผูกพันต่ออีกฝ่ายเป็นทุนเดิม อันจะสามารถต่อยอดให้กลายเป็นการปฏิสัมพันธ์บนพื้นฐานของไมตรีจิตได้
ในกรณีของท่านอิมามมะฮ์ดีก็เช่นกัน ท่านรู้จักเราและมีไมตรีจิตต่อเราเป็นอย่างดี ฮะดีษต่างๆก็บ่งบอกว่า ท่านห่วงหาอาทร และทราบดีถึงสารทุกข์สุขดิบของชีอะฮ์(กัลญาณมิตร)ของท่านทุกคน มีฮะดีษหนึ่งกล่าวถึงคำปรารภของท่านอิมามที่มีต่อท่านเชคมุฟี้ดว่า انا غیر مهملین لمراعاتکم و لا ناسین لذکرکم [2]
“แท้จริงเราไม่เคยเมินเฉยต่อสารทุกข์สุขดิบของพวกท่าน และไม่เคยลืมที่จะรำลึกถึงพวกท่านเลย”
จะเห็นได้ว่าไมตรีจิตและความเอื้ออาทรดังกล่าวถือเป็นไมตรีจิตในระดับสูงสุด จะมีมิตรสหายคนใดบ้างที่จะแสดงความรักที่มีต่อเราด้วยการรำลึกถึงเราตลอดเวลา อีกทั้งถือว่าตนมีหน้าที่ๆจะต้องดูแลสารทุกข์สุขดิบเช่นนี้ สรุปคือ ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)คือด้านหนึ่งของสายสัมพันธ์ ซึ่งกำลังรอคอยให้เหล่ากัลญาณมิตรถักทอความผูกพันที่มีต่อท่าน(อ.) เพื่อก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์จากสองฝ่ายอย่างแท้จริง
อีกด้านหนึ่งก็คือตัวเราเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว หากใครไม่เคยรู้จักอิมามมะฮ์ดี(อ.)หรือรู้จักอย่างผิวเผิน ย่อมไม่สามารถที่จะสานสัมพันธ์กับท่านได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า คนเรามักจะพิจารณาบุคคลแปลกหน้าจากนิสัยใจคอ จรรยามารยาท และสภาวะทางจิตใจ(และร่างกาย) เสียก่อน จึงจะเริ่มมีความรู้สึกนิยมชมชอบ อันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เชื่อมสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้าม จากนั้นก็จะเผยความรู้สึกดังกล่าวให้ฝ่ายตรงข้ามรับรู้ ซึ่งหากฝ่ายตรงข้ามเห็นว่าฝ่ายเราเหมาะแก่การเชื่อมสัมพันธ์ด้วย ปฏิสัมพันธ์อย่างครบวงจรก็จะเกิดขึ้น
แน่นอนว่าท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)รักและห่วงใยกัลญาณมิตรของท่านเป็นอย่างยิ่ง ถามว่าเรารักและถวิลหาท่านบ้างหรือไม่? หรืออ้างว่ารักแค่เพียงลมปาก? เคยรับรู้ว่าท่านรักและห่วงใยเราบ้างหรือไม่?
2 ดังที่เกริ่นแล้วข้างต้น ความสัมพันธ์จะเริ่มจากการทำความรู้จัก และถักทอเป็นความผูกพันในใจ อันจะสร้างเสริมโอกาสให้ได้เข้าพบอย่างใกล้ชิดสนิทสนม
หากผู้ใดสามารถสานสัมพันธ์ทางจิตใจกับท่านอิมาม(อ.)อย่างสนิทแน่นแฟ้นในลักษณะที่สมควรได้รับอนุญาตให้เข้าพบ เขาก็ย่อมมีโอกาสจะได้เข้าพบอิมาม(อ.)มากกว่าผู้อื่น ดังที่เราจะพบเห็นได้ในอัตชีวประวัติของอุละมาอ์และผู้บำเพ็ญความดีที่ไม่เคยอวดอ้าง หลายท่านสามารถบรรลุถึงความผูกพันระดับสูง ทำให้มีโอกาสได้เข้าพบท่านอิมาม(อ.) ทั้งนี้ การเข้าพบดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ท่านอิมาม(อ.)ปรากฏกายในฐานะคนแปลกหน้าสำหรับอุละมาบางท่านในเบื้องแรก แต่ภายหลังอุละมาเหล่านี้จึงทราบว่าได้พบอิมามมะฮ์ดี(อ.)แล้ว ดังเช่นเรื่องราวของฮัจยี อลี บัฆดาดี หรือ ฮัจญี ซัยยิด อะห์มัด รัชตี และเรื่องราวของท่านอื่นๆ ที่บันทึกไว้ในหนังสือมะฟาตีฮุ้ลญินาน[3],[4]
การเชื่อมสัมพันธ์กับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)อาจเกิดขึ้นได้สองลักษณะ:
1. การได้เข้าพบโดยตรง 2. เชื่อมสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ
เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเชื่อมสัมพันธ์ในสองลักษณะดังกล่าว? เราจะขอแยกตอบทีละประเด็นดังต่อไปนี้
1. การได้เข้าพบโดยตรง ในลักษณะที่บุคคลสามารถเห็นท่านได้นั้น แบ่งออกได้ดังนี้
ก. เห็นอิมามมะฮ์ดี(อ.)แต่ไม่รู้จักท่าน
ตามคำบอกเล่าของฮะดีษ ลักษณะเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังที่ท่านเชคศ่อดู้กเล่าจากหนึ่งในตัวแทนพิเศษ(นาอิบุ้ลคอศ)ของอิมามว่า“ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)จะร่วมพิธีฮัจย์ทุกปี ท่านเห็นและรู้จักทุกคน ผู้คนก็สามารถเห็นท่านได้ ทว่าไม่รู้จักว่าท่านคืออิมามมะฮ์ดี[5]” ฉะนั้น การได้เห็นอิมามมะฮ์ดีนอกจากจะไม่ไช่ปาฏิหารย์แล้ว ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งดังที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี ลักษณะการพบอิมามเช่นนี้คงไม่ถือว่าเป็น“ปฏิสัมพันธ์” และผู้ตั้งคำถามก็คงจะไม่ได้หมายถึงลักษณะการพบปะเช่นนี้
ข. ได้เห็นอิมามมะฮ์ดี และรู้จักท่าน
หากจะถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่บุคคลจะสามารถเข้าพบอิมามโดยรู้จักท่าน คำตอบก็คือ เป็นไปได้ ทั้งนี้ก็เพราะมีปัจจัยสนับสนุน แต่ไม่มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรค กล่าวคือ เราไม่พบว่ามีเหตุผลใดที่จะหักห้ามมิให้อิมามมะฮ์ดี(อ.)เยี่ยมเยียนผู้ที่มีจิตใจผ่องแผ้วและมีคุณสมบัติเหมาะที่จะได้รับโอกาสดังกล่าว ฉะนั้น การพบปะในลักษณะนี้จึงมีความเป็นไปได้ เว้นแต่จะมีเหตุอันไม่สมควรเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของบรรดาอุละมาอ์และเอาลิยาอ์ของพระองค์ที่มีโอกาสเข้าพบท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.) โดยที่บางคนรู้จักท่านตั้งแต่แรกเห็น แต่บางคนก็นึกขึ้นได้ในภายหลังว่าตนได้พบอิมามมะฮ์ดีแล้ว อย่างไรก็ดี การเชื่อมสัมพันธ์มิได้มีเพียงการเข้าพบเชิงกายภาพเท่านั้น เพราะแม้ว่าการเข้าพบลักษณะนี้จะยังความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับโอกาส แต่มิไช่ว่าใครๆก็สามารถได้รับโอกาสนี้ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณและเชื่อฟังคำสอนของท่านในยุคที่ท่านเร้นกาย
2. การเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ: ในลักษณะที่แม้ไม่ได้เข้าพบเชิงกายภาพ แต่ถักทอความผูกพันที่มีต่ออิมามมะฮ์ดีไม่ว่าจะในรูปของการพรรณาถึงท่านอิมาม หรือดุอาให้ท่าน หรือรำลึกถึงท่านอยู่เสมอๆ คำถามคือ การเชื่อมสัมพันธ์ในลักษณะนี้เป็นไปได้หรือไม่อย่างไร?
ขอตอบว่าเป็นไปได้ เนื่องจากบรรดาอิมาม(อ.)สามารถได้ยินเสียงของเรา และรับรู้สารทุกข์สุขดิบของเราเสมอไม่ว่าเราจะอยู่แห่งหนใด ดังที่มีในบทขออนุญาตเข้าฮะร็อมสุสานของบรรดาอิมาม(อ.)ว่า
اشهد أنک تسمع کلامی و تشهد مقامی[6] (ขอยืนยันว่าท่านได้ยินเสียงพูดของฉัน อีกทั้งแลเห็นสถานที่ๆฉันยืนอยู่) นอกจากนี้ยังมีฮะดีษมากมายชี้ชัดว่านบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)รับรู้ความเคลื่อนไหวของเราทุกคน ดังจะเห็นได้จากเรื่องราวของอุวัยส์ ก่อรอนี่ ที่ทั้งรักและผูกพันกับท่านนบี(ซ.ล.)มาก แม้ไม่มีโอกาสได้เข้าพบท่านนบี(ซ.ล.)เลยสักครั้ง แต่ท่านนบี(ซ.ล.)ก็รับรู้ได้ถึงความรักความผูกพันของอุวัยส์ โดยกล่าวว่า “ลมสวรรค์พัดเอื่อยมาจากทิศแห่งก่อร็อน(แคว้นที่อุวัยส์พำนัก) โอ้อุวัยส์เอ๋ย ฉันอยากพบเจ้าเสียจริง ผู้ใดที่ได้พบเห็นเขา จงกล่าวสลามแทนฉันด้วย” ท่านนบี(ซ.ล.)ยังกล่าวต่ออีกว่า“เขาจะไม่มีโอกาสได้เห็นฉัน และภายหลังจากฉัน เขาจะยืนหยัดเคียงข้างอลี(อ.)และเสียชีวิตในสงครามศิฟฟีน[7]
ฉะนั้น บรรดาเอาลิยาอ์(กัลญาณมิตร)ของอัลลอฮ์รับรู้ได้ถึงความเป็นไปรวมถึงความนึกคิดของเราไม่ว่าจะเผยออกมาเป็นคำพูดหรือไม่ก็ตาม ทำให้เราสามารถเชื่อมสัมพันธ์หรือสื่อสารกับพวกท่านได้อย่างง่ายดายทุกขณะจิต
ณ ที่นี้จะขอหยิบยกคำแนะนำจากท่านอายะตุ้ลลอฮ์ บะฮ์ญัต เพื่อได้รับโอกาสติดต่อหรือได้พบปะกับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ดังนี้:
มีผู้ถามท่านว่าจะทำอย่างไรเพื่อได้รับโอกาสพบปะกับท่านอิมาม(อ.) ท่านตอบว่า“ให้กล่าวศอละวาตอุทิศแด่ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.) โดยให้พ่วงท้ายด้วยดุอารีบเร่งการปรากฏกายดังนี้
اللهم صل علی محمد وآل محمد و عجل فرجهم และให้ไปที่มัสญิดญัมกะรอนอย่างสม่ำเสมอและนมาซตามที่ระบุไว้[8]” ท่านกล่าวถึงวิธีเชื่อมสัมพันธ์กับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ว่า“หนทางสู่การใกล้ชิดอัลลอฮ์ คือการเคารพเชื่อฟังพระองค์และอิมามมะฮ์ดี(อ.) ซึ่งกระทำได้ด้วยการปฏิบัติตามตำราบทบัญญัติศาสนาที่ได้รับการยืนยันความถูกต้อง[9]” ต่อคำถามที่ว่าจะกระชับสัมพันธ์กับอะฮ์ลุลบัยต์ โดยเฉพาะอิมามมะฮ์ดี(อ.)ได้อย่างไร? ท่านตอบว่า“การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ จะนำมาซึ่งความรักในพระองค์ ตลอดจนรักปูชณียบุคคลที่เป็นที่รักของพระองค์ ซึ่งก็หมายถึงบรรดานบีและเหล่าตัวแทน โดยในจำนวนนี้ อัลลอฮ์ทรงรักท่านนบี(ซ.ล.)และอะฮ์ลุ้ลบัยต์(อ.)มากที่สุด และท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ก็ถือเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด[10]”
นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆที่ช่วยกระชับสัมพันธ์กับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)ดังต่อไปนี้:
ก. ดุอาเพื่อสวัสดิภาพของอิมามมะฮ์ดี(อ.) اللهم کن لولیک ...[11]
ข. ดุอาอะฮด์ : ท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิก(อ.) กล่าวว่า“ผู้ใดที่อ่านดุอาบทนี้ยามรุ่งอรุณเป็นเวลาสี่สิบวัน จะได้เป็นหนึ่งในสาวกของมะฮ์ดี(อ.)” [12]
ค. ซิยาเราะฮ์ อาลิ ยาซีน: ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือมะฟาตีฮุ้ลญินาน โดยท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)กล่าวว่า “ยามใดที่นึกถึงเรา ให้อ่านบทซิยาเราะฮ์นี้”[13]
ง. ซิยาเราะฮ์ ญามิอะฮ์ กะบีเราะฮ์: บันทึกไว้ในหนังสือดังกล่าวเช่นกัน[14]
ฉะนั้น เป็นไปได้ที่จะเชื่อมสัมพันธ์กับท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.) ด้วยการตั้งมั่นและเพียรพยายาม ซึ่งจะทำให้สัมฤทธิ์ผลในการเชื่อมสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ และหากหมั่นขัดเกลาจิตใจและละเว้นกิเลสได้ ก็จะทำให้สามารถเข้าพบท่านอิมาม(อ.)เชิงกายภาพ หรือสามารถบรรลุระดับขั้นที่ท่านอิมามมะฮ์ดีจะเป็นฝ่ายมาเยี่ยมเยียนด้วยตัวท่านเอง
อย่างไรก็ดี หากได้ขัดเกลาจิตใจและบำเพ็ญความดีแต่ยังไม่ได้รับโอกาสการเข้าพบอิมาม(อ.) ก็อย่าได้ท้อแท้ใจ ควรหมั่นขัดเกลาจิตใจต่อไปให้ได้รับโอกาสทองนั้น แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น บางครั้งแม้เราจะขัดเกลาจิตใจจนกระทั่งเหมาะแก่การได้รับโอกาสแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับโอกาส เนื่องจากอาจมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าการได้พบท่านอาจไม่เป็นผลดีต่อตัวเราเป็นการเฉพาะ
3. อาจเกิดข้อสงสัยได้ว่า แล้วจะชี้แจงอย่างไรเกี่ยวกับฮะดีษที่กล่าวว่า ผู้ใดอ้างว่าเห็นท่าน ให้ถือเป็นจอมโกหก?
ขอตอบว่าฮะดีษเหล่านี้มีอยู่จริง เนื้อหาโดยสรุปก็คือ “ใครก็ตามที่อ้างว่าเห็นอิมามมะฮ์ดี(อ.)ก่อนสุรเสียงจากฟากฟ้าและการมาของซุฟยานี[15] ให้ถือว่าเขาคือจอมโกหก”[16] อย่างไรก็ดี บรรดาอุละมาอ์เชื่อว่าการเห็นในที่นี่ หมายถึงการเห็นในฐานะที่แอบอ้างตนเป็นตัวแทนของอิมามมะฮ์ดี(อ.)ในลักษณะเดียวกับตัวแทนทั้งสี่ท่านในอดีต[17] แต่อย่างไรก็ตาม ฮะดีษเหล่านี้มิได้ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะติดต่อกับท่าน แต่ต้องการเพียงปฏิเสธผู้ที่โพทะนาว่าตนเองเห็นอิมามเท่านั้น ทั้งนี้ เราไม่เคยได้ยินว่าผู้รู้ท่านใดที่เคยติดต่อกับอิมาม(อ.) จะประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าตนเองได้พบอิมามเพื่อฉวยประโยชน์ในทางมิชอบ ผู้รู้ที่ได้รับโอกาสส่วนใหญ่จะอนุญาตให้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ภายหลังจากที่ท่านเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น
สรุปคือ หากต้องการใกล้ชิดอิมามมะฮ์ดีในระดับที่สามารถเข้าพบท่านเชิงกายภาพ จำเป็นต้องขวนขวายและพยายามอย่างสูง
4. เกร็ดน่ารู้ส่งท้ายก็คือ พึงทราบเสมอว่า การเชื่อมสัมพันธ์กับอิมามมะฮ์ดี(อ.)มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของเหล่าสาวกของท่านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่เชื่อมสัมพันธ์กับผู้ที่มีระดับจิตวิญญาณเหนือกว่า มักจะพยายามปรับปรุงตนเองให้เสมอเหมือนหรือใกล้เคียงกับผู้นั้น ในทางจิตวิทยาก็ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องมี “แบบอย่าง”ในชีวิต จึงจะเห็นได้ว่าหากวัยรุ่นคนหนึ่งรักและผูกพันกับอิมามมะฮ์ดี(อ.) เขาก็จะประคองตนเองให้เป็นที่พอใจของอิมามเสมอ กระบวนการดังกล่าวส่งผลดีต่อการพัฒนาจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง ความผูกพันนี้จึงเปรียบเสมือนหัวรถจักรที่ขับเคลื่อนชีวิตของมนุษย์ และเมื่อวัยรุ่นได้รับรู้ถึงความเอื้ออาทรที่อิมามมะฮ์ดีมีต่อเขา เขาก็จะพยายามเชื่อมสัมพันธ์โดยการรำลึกถึงท่านเสมอ ทั้งนี้ แน่นอนว่าแรงขับเคลื่อนดังกล่าวไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเข้าพบเชิงกายภาพ แต่ทุกคนสามารถเจริญรอยตามและเชื่อมสัมพันธ์กับท่านได้ด้วยการศึกษาเกี่ยวกับคุณลักษณะและแบบฉบับของท่าน แน่นอนว่าปริมาตรทางจิตวิญญาณของบรรดามะอ์ศูม(อ.)นั้น มีมากพอที่จะรับรู้และสนใจการสื่อสารทางจิตใจจากเราทุกเวลาและสถานที่ ดังที่เราอ่านในบทซิยาเราะฮ์ต่างๆว่า “ขอปฏิญาณว่าท่านได้ยินเสียงของฉัน อีกทั้งแลเห็นจุดที่ฉันยืนอยู่นี้”[18] และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงไม่มีหน้าที่ๆจะต้องมองเห็นหรือเข้าพบอิมามมะฮ์ดีเชิงกายภาพ และแม้ว่าการได้เข้าพบเชิงกายภาพจะเป็นความภาคภูมิใจเกินบรรยายก็ตาม แต่หากผู้ใดไม่ได้รับโอกาสดังกล่าว ก็มิได้หมายความว่าอิมามมะฮ์ดีมองข้ามความดีงามของเขาแต่อย่างใด
[1] อัลมุนญิด,เล่ม1,หน้า 540.
[2] อิห์ติญาจ,เชคศ่อดู้ก,เล่ม 2, หน้า 497.
[3] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 52,หมวดที่18, บทการเร้นกาย
[4] มุนตะฮัลอาม้าล,เล่ม 2,หมวด14, ส่วนที่ 5
[5] ان صاحب هذا الامر یحضر الموسم کل سنة یری الناس و یعرفهم و یرونه و لا یعرفونه (มันลายะห์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์,เล่ม 2, หน้า 520,ท้ายฮะดีษที่ 3115)
[6] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 97,หน้า 375, หมวด 5, ฮะดีษที่ 9
[7] อ้างแล้ว,เล่ม 42, หน้า155, หมวด 124, ฮะดีษที่ 22
[8] สู่ผู้เป็นที่รัก,ซัยยิดมะฮ์ดี ซาอี,หน้า 59
[9] อ้างแล้ว,หน้า 61.
[10] อ้างแล้ว
[11] อัลกาฟีย์,เล่ม 4, หน้า 162, หมวดดุอาสิบคืนสุดท้าย,ฮะดีษที่ 4
[12] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 53, หน้า 95, หมวด 29 ,ฮะดีษที่11.
[13] อ้างแล้ว,เล่ม 99, หน้า 81, หมวด 7,ฮะดีษที่1
[14] มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์,เล่ม 2,หน้า 609, ฮะดีษที่ 3213
[15] สองเหตุการณ์นี้คือสัญลักษณ์การปรากฏกายของอิมาม(อ.)
[16] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 52, หน้า151,หมวด 23, ฮะดีษแรก
[17] อัลลามะฮ์ มัญลิซี่เล่าถึงคำพูดดังกล่าวของผู้ประพันธ์หนังสืออิกมาลุดดีนเพื่ออธิบายฮะดีษนี้
[18] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 97,หน้า 375,หมวด 5,ฮะดีษ 9 أشد أنک تسمع کلامی و تشهد مقامی