Please Wait
9576
เพื่อไขข้อสงสัยดังกล่าว ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาคำปาฐกถาของท่านอาจารย์ฮาดะวี เตฮะรอนี ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ดังต่อไปนี้:
“ในศตวรรษนี้ เราสามารถสัมผัสได้ถึงความกระวีกระวาดที่จะนำศาสนาเข้ามาในชีวิต ทั้งๆที่ในศตวรรษก่อนมีความพยายามที่จะลดบทบาทของศาสนาอย่างเป็นระบบ การถอยร่นของกระแสดังกล่าวกอปรกับการรุกคืบของขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนา(โดยเฉพาะการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านซึ่งปูทางสู่การสถาปนาสาธารณรัฐอิสลาม) เป็นเหตุให้ปัจจุบันนี้มนุษย์เริ่มรับรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากที่ไม่เคยยี่หระต่อศาสนากลับกลายเป็นผู้ที่ยึดมั่นในศาสนา อีกทั้งกระหายศีลธรรมและข้อเท็จจริงในวันปรโลก
ด้วยเหตุนี้เอง การจัดประชุมเสวนาระหว่างศาสนาจึงเป็นที่แพร่หลายในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิเช่น การประชุมนานาชาติผู้นำศาสนาโลกในปี 2002 ที่ประเทศไทย, การประชุมสภาศาสนาในปี 2003 ที่สเปน, การประชุมศาสนาโลกที่คาซักสถานในปี 2003 และการประชุมศาสนาสายศาสดาอิบรอฮีมเพื่อสันติภาพในปี 2006 ที่อิตาลี.
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการสนับสนุนให้มีการเสวนาระหว่างอิสลามและคริสเตียนอย่างเต็มที่ ในฐานะศาสนาลำดับท้ายๆของสายศาสดาอิบรอฮีม แต่ก็ยังมีอุปสรรคเสมอมา อาทิเช่น
1. การไม่ให้ความสำคัญต่อจุดร่วมระหว่างสองศาสนานี้เท่าที่ควร.
จุดร่วมที่กุรอานกล่าวว่า “โอ้ชาวคัมภีร์ เชิญมาสู่วาทกรรมอันเท่าเทียมกันระหว่างเรากับพวกท่าน นั่นคือเราจะไม่เคารพภักดีผู้ใดเว้นแต่อัลลอฮ์ และจะไม่ยกใครในหมู่พวกเราให้เทียบเคียงพระเจ้า...”[1]
มีจุดร่วมมากมายระหว่างอิสลามและคริสต์ในด้านความเชื่อและสารธรรม สองศาสนานี้มีศักยภาพพอที่จะผนึกกันบริหารโลกเพื่อสร้างเสริมสันติภาพที่ยั่งยืน อย่างไรก็ดี ความร่วมมือดังกล่าวจำต้องอยู่ภายในกรอบแห่งเอกานุภาพของอัลลอฮ์(เตาฮีด) และจะต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า จะไม่มีการยกผู้ใดให้เทียบเคียงพระองค์เด็ดขาด แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้ไม่อาจพบเห็นสองประการดังกล่าวได้เลย ทั้งนี้ก็เนื่องจากมหาอำนาจแสร้งหลงลืมหลักเอกานุภาพ เห็นได้จากการที่พวกเขาหมั่นกดขี่ชาติที่อ่อนแอกว่า ดังที่ได้ขัดขวางการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติภาพของอิหร่าน
2. การไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ของการเสวนาระหว่างสองศาสนานี้.
การเสวนาเปรียบเสมือนสะพานที่ทอดยาวสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างสองศาสนา เพราะการศึกษาเปรียบเทียบในแง่ความเชื่อและสารธรรมจะขยายศักยภาพทางวิชาการและแนวปฏิบัติของทั้งสองศาสนา
ผลลัพท์เบื้องต้นที่จะได้รับจากความร่วมมือดังกล่าวก็คือ การได้รับข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การประสานความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อระงับการเผชิญหน้าทางความคิดและเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์
3. การไม่ปรับทัศนคติเชิงลบที่แต่ละศาสนาเคยมีต่อกัน.
ทัศนคติเชิงลบมากมายเกิดจากการศึกษาจากแหล่งอ้างอิงที่ไม่น่าเชื่อถือหรือทัศนะอันผิดเพี้ยน อันจะทำให้เข้าใจฝ่ายตรงข้ามอย่างผิดพลาด ก่อให้เกิดอคติต่อกันและตัดสินด้วยโทสะอย่างไม่รู้จบ
4. การที่ชาติมหาอำนาจคอยเสี้ยมให้ศาสนาต่างๆเผชิญหน้ากัน.
ก่อนสงครามจะเกิดขึ้นจะต้องมีความขัดแย้งเชิงลึกเสียก่อน และความขัดแย้งที่ลึกที่สุดก็คือความขัดแย้งเชิงศรัทธาและความเชื่อ ด้วยเหตุนี้ แกนนำชาติมหาอำนาจจึงพยายามตอกลิ่มความขัดแย้งทางศาสนาให้ลึกที่สุด เพราะถือว่าสงครามจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สำหรับพวกตน เห็นได้ชัดเจนจากกรณีการ์ตูนล้อเลียนนบี(ซ.ล.)ในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งไม่อาจจะตีความเป็นอื่นได้นอกจากเหตุผลดังที่กล่าวมา การที่ผู้ไม่หวังดีเลือกใช้ประเทศเดนมาร์กเพื่อหมิ่นประมาทปูชณียบุคคลที่สูงส่งอย่างท่านนบีมุฮัมมัด(ซ.ล.) ก็เนื่องจากธงชาติของประเทศนี้มีรูปกางเขนอยู่ พวกเขารู้ดีว่ามุสลิมจะตอบโต้ด้วยการเผาธงชาติ ซึ่งก็จะถูกนำไปขยายผลว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนาคริสต์ อันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างมุสลิมกับคริสเตียนในที่สุด
เมื่อหกเดือนก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าพบพระสันตปาปาเบเนดิคต์ที่16 ผมได้ชี้แจงให้ท่านทราบ พร้อมกับขอให้ท่านช่วยชี้แจงแก่สาวกและสาวิกาของท่านว่า การเผาธงชาติมิไช่การดูหมิ่นสัญลักษณ์ไม้กางเขน แต่เป็นเพียงการประณามประเทศที่ปล่อยให้มีการดูหมิ่นศาสดามุฮัมมัด(ซ.ล.)เท่านั้น
เหตุการณ์ 11 กันยายน ก็ถือเป็นแผนการณ์ที่คล้ายคลึงกัน จากเบาะแสต่างๆเริ่มเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นการจัดฉาก แท้ที่จริงเป็นการทำลายตึกด้วยขีปนาวุธเพื่อฟื้นตะเข็บสงครามครูเสดต่อมุสลิม ดังที่ประธานาธิบดีอเมริกาเคยระบุไว้ชัดเจน
ผมเชื่อว่าท่าทีที่ผ่านมาของพระสันตปาปาถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ต่อต้านศาสนาประเภทหนึ่ง แปดเดือนก่อนหน้านี้[2]ท่านได้กล่าวปาฐกถาโดยชี้ให้เห็นความสำคัญของการสานเสวนาระหว่างอิสลามและศาสนาคริสต์ และยังได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการประชุมเสวนาธรรมระหว่างอิสลามและศาสนาคริสต์ที่นครเอสซีซี แต่แล้วท่านกลับเปลี่ยนท่าที และกล่าวคำพูดอันไม่เหมาะสมกับฐานะภาพของท่านออกมา
5. การไม่ทำความเข้าใจคำสอนของศาสนาอื่นให้ถ่องแท้.
ข้อบกพร่องดังกล่าวสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง แต่ที่ถือเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดก็คือบทปาฐกถาของพระสันตปาปาดังต่อไปนี้
ก. พระคุณท่านเข้าใจผิดว่า คำว่า“ญิฮาด”ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะของอิสลามนั้น คล้ายคลึงกับ“สงครามศักดิ์สิทธิ”ที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ของชาวคริสเตียน ท่านกล่าวว่า“จักรพรรดิได้เริ่มกล่าวถึงประเด็นญิฮาด ซึ่งก็คือสงครามศักดิ์สิทธินั่นเอง”
ต้องทราบว่า“ญิฮาด”คือการพยายามขจัดอุปสรรคของการนำเสนอสัจธรรม และช่วยให้การภักดีต่อพระเจ้าเป็นไปอย่างราบรื่น ถ้าจะมีสงคราม ก็เป็นสงครามต่อผู้ที่ขัดขวางไม่ให้ประชาชนรู้จักและภักดีต่อพระองค์ และนี่เป็นเพียง“ญิฮาด”ระดับล่างเท่านั้น ญิฮาดยังหมายรวมถึงการพยายามรู้จักและขัดเกลาจิตใจ ซึ่งอิสลามถือว่านี่คือญิฮาดระดับสูง ในขณะที่สงครามศักดิ์สิทธิ(ของคริสเตียน)นั้น แฝงไว้ด้วยนัยยะของการพิชิตชัยชนะเหนือคนนอกรีตและขู่บังคับให้เข้ารีตตามคริสตศาสนา
จากคำบอกเล่าของนักวิชาการคริสเตียนชาวอาร์เมเนียทำให้ทราบว่า ประวัติศาสตร์ชาวอาร์เมเนียในอิหร่านและเลบานอนนั้น คราคร่ำไปด้วยการที่คริสเตียนต่างพื้นพยายามจะเปลี่ยนนิกายของคริสเตียนชาวอาร์เมเนีย ในขณะที่มุสลิมไม่เคยแสดงกิริยาเช่นนี้กับพวกเขาเลย
ข. พระคุณท่านไม่ทราบถึงความเป็นมาของกุรอานและลำดับการประทานซูเราะฮ์ต่างๆ
พระสันตปาปากล่าวว่า“แน่นอนว่าจักรพรรดิย่อมรู้ดีว่า โองการที่ 256 ในบทที่สองของกุรอาน(อัลบะเกาะเราะฮ์)กล่าวไว้ว่า ไม่มีการขู่บังคับในเรื่องศาสนา...บท(ซูเราะฮ์)นี้นับเป็นบทแรกๆของกุรอาน ซึ่งประทานในช่วงที่มุฮัมมัดยังถูกข่มขู่และไม่มีอิทธิพลใดๆเลย” ต้องเรียนให้พระคุณท่านทราบว่า อายะฮ์นี้เป็นอายะฮ์ที่ประทานในนครมะดีนะฮ์ ยุคที่ท่านศาสดาได้สถาปนารัฐและมีอิทธิพลเต็มที่โดยไม่มีภัยคุกคามใดๆจากภายนอก มีฮะดีษที่อธิบายเหตุของการประทานโองการดังกล่าวว่า:
“มีชายมุสลิมคนหนึ่งเข้ารีตเป็นคริสเตียนโดยการเชิญชวนของพ่อค้าชาวคริสต์ที่มาค้าขายที่มะดีนะฮ์ พ่อของเขาได้มาขอให้ท่านนบี(ซ.ล.)บีบบังคับให้บุตรชายหวนคืนสู่อิสลาม แต่ท่านนบี(ซ.ล.)ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น ทันใดนั้นโองการดังกล่าวก็ประทานลงมา”
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเนื้อหาโองการดังกล่าวก็จะทราบว่ามิไช่โองการที่ประทานในยุคแรก เพราะส่วนต่อของโองการดังกล่าวมีอยู่ว่า “แน่แท้หนทางสู่ความเจริญได้แยกแยะชัดเจนแล้วจากความหลงทาง” แน่นอนว่าสำนวนนี้ย่อมเหมาะต่อช่วงปลายอายุขัยท่านนบี มิไช่ช่วงเริ่มต้นเผยแผ่อิสลาม
3. พระคุณท่านกล่าวว่า“ทันใดนั้นจักรพรรดิหันไปยังคู่สนทนา และ... คำถามหลักของเราคือความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและความรุนแรง และจักรพรรดิได้กล่าวต่อไปว่า จงเล่าถึงสิ่งที่มุฮัมมัดริเริ่มนำมาเผยแพร่ซิ พวกท่านจะไม่พบสิ่งใดเลยนอกจากคำสอนอันคราคร่ำไปด้วยความต่ำทรามอมนุษย์ เช่นการสั่งให้เผยแพร่ศาสนาด้วยคมดาบ!”
ผู้ที่มีใจเป็นกลางจะไม่พูดเช่นนี้ นักวิชาการคริสเตียนบางท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาระหน้าที่ๆชาวคริสเตียนควรเชื่อฟังศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) โดยต้องการจะสื่อว่า ชาวคริสเตียนเองก็สามารถได้รับประโยชน์จากคำสอนของศาสดามุฮัมมัด โดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งศาสนาคริสต์
เมื่อพิจารณาให้ดีจะพบว่า อิสลามได้เติมเต็มเนื้อหาที่เกี่ยวกับเอกานุภาพของพระเจ้า และได้สถาปนาแนวคิดทางอภิปรัชญาซึ่งไม่อาจหาที่ใดเปรียบเทียบได้ แนวคิดดังกล่าวปรากฏอยู่ในสำนักคิด“ฮิกมะฮ์ มุตะอาลียะฮ์”ของท่านมุลลอ ศ็อดรอ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในแวดวงอภิปรัชญาโลก
นอกจากนี้ หลักศีลธรรมมากมายได้รับการต่อยอดโดยอิสลาม และนำสู่จุดสูงสุดโดยวิชาอิรฟานอิสลาม ส่งผลให้กลายเป็นหนทางสูงส่งสำหรับนักจาริกทางจิตวิญญาณต่อไป.
ชะรีอัตเองก็มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับอิสลาม เนื่องจากเป็นเสมือนประมวลกฏหมายที่อิสลามตราไว้ เพื่อสนองตอบแง่มุมต่างๆของมนุษย์
อิสลามไม่จำแนกกิจทางโลกออกจากกิจทางธรรมออกจากกัน เห็นได้จากการที่อิสลามแฝงธรรมะขั้นสูงไว้ในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา.
มุสลิมมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างอารยธรรมมนุษย์ เนื่องจากได้ประดิษฐ์เครื่องใช้สอยหลากหลายประเภท ตลอดจนค้นพบสูตรฟิสิกข์และเคมีมากมายอันเป็นรากฐานวิทยาการปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ต่อยอดวิทยาการสำคัญอย่างแพทยศาสตร์ให้ก้าวไกล
ความภาคภูมิใจเหล่านี้มีมากมายเสียจนเรียกกันว่ายุคทองแห่งวิทยาศาสตร์มุสลิมในอดีต เหตุใดพระคุณท่านจึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ แล้วนำคำพูดของบุคคลที่ไม่รู้จริงมาถ่ายทอดแก่สาธารณชน
4. พระคุณท่านกล่าวว่า“จักรพรรดิได้อธิบายอย่างละเอียดว่า เพราะเหตุใดการเผยแพร่ศาสนาด้วยความรุนแรงจึงขัดต่อสติปัญญา” พระคุณท่านกล่าวย้ำเหมือนจะสื่อให้เข้าใจว่า อิสลามเผยแผ่ด้วยความรุนแรงต่อผู้อื่นกระนั้น แต่แท้ที่จริงแล้ว หากศึกษาประวัติศาสตร์ของนิกายโรมันคาทอลิกจะพบว่าวิธีนี้น่าจะเป็นกลวิธีของนิกายดังกล่าวมากกว่า ส่วนอิสลามนั้น เป็นศาสนาแห่งความรู้ความเข้าใจ อิสลามเชื่อว่ามนุษย์มีอิสรภาพในการตัดสินใจ อัลลอฮ์ทรงรณรงค์ให้มนุษย์แสวงหาความรู้ ดังที่ได้กล่าวว่า“ผู้รู้กับผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันได้อย่างไร?”[3] นอกจากนี้ การอ่านยังเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจศาสนทูตของท่านนบี“จงอ่าน ด้วยพระนามของพระผู้อภิบาลของเจ้าที่ทรงสร้าง...”[4] และ“จงอ่าน เพราะพระองค์ทรงเกียรติเหนือผู้ใด พระองค์ทรงสอนด้วยปากกา และทรงสอนในสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยทราบ”[5]
“จงแจ้งข่าวดีแก่ผู้ที่สดับฟังคำพูดและเลือกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีที่สุด”[6]
“จงเชิญชวนสู่แนวทางของพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญาและคำตักเตือนที่รื่นหู และจงถกปัญหากับพวกเขาด้วยเหตุผลที่ดีที่สุด พระผู้อภิบาลของเจ้าทรงทราบดีว่าผู้ใดหลงออกจากแนวทางพระองค์และผู้ใดได้รับทางนำ”[7]
จึงสามารถสรุปได้ว่า ศาสนาอิสลามคือศาสนาแห่งปัญญา การตักเตือนที่ดี และอุดมไปด้วยตรรกะและเหตุผล
พระสันตปาปายังได้กล่าวอีกว่า“ความรุนแรงและความก้าวร้าวเช่นนี้ ขัดต่อวิถีของพระเจ้าและวิถีของจิตวิญญาณ พระองค์ย่อมไม่โปรดที่จะเห็นการนองเลือด แน่นอนว่าพฤติกรรมอันไร้สติย่อมไม่สอดคล้องกับวิถีของพระเจ้า ความศรัทธาย่อมผุดขึ้นจากจิตวิญญาณ หาไช่กายหยาบไม่” อย่างไรก็ดี คำพูดดังกล่าวควรใช้ตำหนิวิธีปฏิบัติของคริสเตียนในอดีต โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิค
5. พระคุณท่านยังได้กล่าวอีกว่า“อิสลามเชื่อว่าพระประสงค์ของพระเจ้าไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล ความเชื่อเช่นนี้ขัดต่อแนวคิดของเรา และขัดต่อสติปัญญา” แล้วท่านก็ได้อ้างถึงตำราอธิบายกุรอานของของอิบนิ ฮัซม์ ที่เขากล่าวว่า“ไม่จำเป็นที่อัลลอฮ์จะต้องยืนยันตามดำรัสของพระองค์เอง ไม่จำเป็นที่พระองค์จะต้องตรัสความจริงกับมนุษย์ หากพระองค์ทรงประสงค์จะบังคับให้มนุษย์กราบไหว้เจว็ดก็ย่อมทำได้”
สิ่งที่พระสันตปาปาได้อ้างมาทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าท่านไม่เคยตรวจสอบตำราเกี่ยวกับอภิปรัชญาและเทววิทยาของอิสลามเลย ตำราอภิปรัชญาอิสลามระบุไว้ว่า พระประสงค์ของอัลลอฮ์นั้นขึ้นอยู่กับเหตุและผล ทั้งนี้ก็เพราะพระประสงค์ของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความรู้ของพระองค์ และเป็นหนึ่งเดียวกับอาตมันของพระองค์
ส่วนพระประสงค์เชิงปฏิบัติก็แสดงออกในรูปของการกระทำต่างๆของพระองค์ ทั้งนี้ การที่พระคุณท่านอ้างอิงคำพูดของอิบนิ ฮัซม์นั้น แสดงถึงความไม่เข้าใจของพระคุณท่าน เนื่องจากสำนักคิดของอิบนิฮัซม์นั้น มิได้รับความนิยมใดๆในหมู่มุสลิมเลย ตรงกันข้าม สำนักคิดแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ซึ่งมีผู้เลื่อมใสไม่น้อยในปัจจุบัน ยอมรับว่าสติปัญญาและการตัดสินใจมีผลต่อความศรัทธา ดังที่คัมภีร์กุรอานก็กล่าวยืนยันไว้ว่า“และพวกเขาดื้อรั้นไม่ยอมรับทั้งที่รู้อยู่เต็มอก”[8]
การที่คนเราสามารถปฏิเสธได้ทั้งที่รู้อยู่เต็มอก แสดงว่าการตัดสินใจของแต่ละคนมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเลือกศรัทธา ซึ่งหากจะกล่าวกันในเชิงอภิปรัชญาหรือหลักเทววิทยาแล้ว เราสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความรู้มิได้ก่อให้เกิดศรัทธาเสมอไป
คำพูดของอิบนิ ฮัซม์ ที่ว่าไม่มีสิ่งใดสามารถกำหนดพระประสงค์ของพระเจ้าได้นั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่ปฏิเสธ“ความผิดชอบชั่วดีที่รับรู้ได้โดยสติปัญญา” แต่ในทางตรงกันข้าม ปรัชญาเมธีของชีอะฮ์ได้พิสูจน์ประเด็นดังกล่าวไว้แล้ว แม้ฝ่ายอะชาอิเราะฮ์จะมิได้เชื่อเช่นนี้ก็ตาม
อย่างไรก็ดี การเสวนาจะเป็นไปอย่างราบรื่นต่อเมื่อมีปัจจัยสองประการดังนี้
1. สันนิษฐานว่าคู่เสวนาของเราอาจนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง
2. สันนิษฐานว่าข้อมูลของฝ่ายเราอาจจะยังมีข้อบกพร่อง
ส่วนกรอบความเข้าใจที่จำเป็นต่อการเสวนา หรือที่เรียกว่า“ขอบฟ้า”(Horizon)ในวิชาอรรถปริวรรตศาสตร์นั้น หมายถึงปริมนฑลที่ยอมรับร่วมกันในการเสวนานั้นๆ
นั่นหมายความว่า การเสวนาจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่น หากปราศจากปัจจัยและกรอบเสวนาดังที่กล่าวไปแล้ว.
วัสลาม.