Please Wait
6336
อันดับแรกต้องเรียนว่าการกลับสู่โลกนี้ตามใจชอบนั้น จะทำลายระบบระเบียบของโลกนี้ อีกทั้งยังทำให้ภารกิจของบรรดานบีหมดความหมายไปโดยสิ้นเชิง สอง, สมมติว่าคนที่ทำบาปได้กลับสู่โลกนี้ ก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะปรับปรุงตัวได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากโลกนี้ก็ยังเหมือนเดิม และกิเลสตัณหาของผู้ตายก็มิได้อันตรธานหายไป ดังจะเห็นได้ว่าหลายครั้งหลายหนที่คนเราได้เห็นอุทาหรณ์สอนใจว่าโลกนี้ไร้แก่นสาร แต่ก็ยังไม่วายจะหลงใหลครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเหตุให้พวกเขาทำบาปเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขชั่ววูบในโลกนี้
จารีตของอัลลอฮ์กำหนดให้ทุกสรรพสิ่งวิวัฒนาการสู่ความสมบูรณ์ อัลลอฮ์สร้างมนุษย์มาโดยทรงโปรดให้มีสองพลังในตัว นั่นก็คือพลังแห่งสติปัญญา(เครื่องพิสูจน์จากภายใน) และพลังแห่งวะฮีย์(เครื่องพิสูจน์จากภายนอก) ทั้งนี้ก็เพื่อให้มนุษย์มุ่งหน้าสู่ความสมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้าหากปล่อยให้ผู้ตายกลับมาสู่โลกนี้ตามใจชอบ ก็จะทำลายระบบระเบียบข้างต้น และจะทำลายปรัชญาของการแต่งตั้งบรรดานบี ภาวะดังกล่าวย่อมขัดต่อหลักจารีตของอัลลอฮ์เป็นแน่แท้
ยิ่งไปกว่านั้น สมมติว่าสามารถหวนคืนสู่โลกดุนยาได้ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าหากคนเหล่านี้จะประพฤติดีดังที่คาดหวังไว้ เพราะดุนยานี้ก็มิได้แตกต่างจากเดิม มนุษย์ทุกคนก็ยังมีอิสระในการตัดสินใจ หลายคนยังมีกิเลสตัณหาพ้องตามเสียงกระซิบของชัยฏอน อีกทั้งยังมีความเหิมเกริมในการละเมิดขอบเขตศาสนาเหมือนเดิม ฉะนั้น ในกรณีที่พวกเขาจะย้อนกลับมาสู่ดุนยา ปัจจัยที่เคยทำให้พวกเขาละเมิดบทบัญญัติศาสนาในอดีตก็ยังรอพวกเขาอยู่[1]
ด้วยเหตุนี้ กุรอานจึงกล่าวว่า (พวกเขาจะดำเนินไปตามแนวทางที่หลงผิดต่อไป)กระทั่งความตายมาเยือน พวกเขาจึงกล่าวว่า โอ้ข้าแต่พระผู้อภิบาล ขอทรงส่งข้าฯกลับเถิด บางทีข้าฯอาจจะประพฤติดีทดแทนสิ่งที่บกพร่อง” (แต่มีปรารภว่า) ไม่มีทาง! นี่เป็นเพียงถ้อยคำที่เขาที่เขา(แสร้ง)พูดออกมา (และหากได้กลับสู่ดุนยาก็มีความประพฤติเช่นเคย) สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเขาก็คือ(มิติแห่ง)บัรซัคจวบจนวันฟื้นคืนชีพ”[2]
ประเด็นสำคัญก็คือ อัลลอฮ์ตอบคำขอของพวกเขาด้วยคำว่า “کلاّ” (ไม่มีทาง!) คำนี้ในภาษาอรับใช้ในการตัดบทแกมปฏิเสธคำกล่าวอ้างของฝ่ายตรงข้าม ทำให้โองการนี้มีสองนัยยะคือ:
หนึ่ง. คำขอดังกล่าวเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อที่จะกลับสู่ดุนยา
สอง. เป็นการปฏิเสธคำกล่าวอ้างที่ว่าขอกลับสู่โลกดุนยาเพื่อทำความดีแทนที่พฤติกรรมเก่าๆ โดยอัลลอฮ์ถือว่าเป็นเพียงแค่การอ้างลอยๆ และหากอนุญาตให้กลับสู่ดุนยาจริงๆก็จะมีพฤติกรรมดังเดิม[3]
นอกจากนี้ คำว่า لعل (อาจจะ)ที่ปรากฏในคำร้องขอของพวกเขาก็สื่อว่าพวกเขาเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะทำได้อย่างที่พูดหรือไม่ พวกเขารู้ดีว่าการสำนึกผิด ณ เวลานี้นั้น เกิดจากสถานการณ์จำเป็นขณะกำลังเผชิญหน้ากับความตาย ฉะนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะมีความประพฤติดังเดิมหากได้กลับสู่โลก[4]
อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญก็คือ ไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะอนุญาตให้พวกเขากลับสู่ดุนยาอีก กุรอานกล่าวว่า “หากพวกเขาได้หวนคืนสู่ดุนยา พวกเขาก็จะคืนสู่พฤติกรรมที่ไม่เป็นที่อนุมัติเช่นเคย”[5] แสดงว่าการสำนึกผิดของพวกเขาเป็นเพียงการตื่นตัวชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น[6]
คนประเภทนี้ก็ไม่ต่างจากกลุ่มกุฟฟารมุชริกีน(ผู้ปฏิเสธและตั้งภาคี)ที่เมื่อประสบภัยทางทะเลจนชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย พวกเขาก็วอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์ แต่เมื่อถึงฝั่งอย่างปลอดภัยแล้วก็กลับเป็นผู้ปฏิเสธตามเดิม นั่นหมายความว่าคนกลุ่มนี้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงชั่วขณะว่าโลกดุนยาไม่ยั่งยืนเนื่องจากประสบเคราะห์กรรมที่ปรากฏเงาแห่งความตาย แต่เมื่อรอดชีวิตก็กลับหลงไหลดุนยาและกระทำชั่วด้วยความเอร็ดอร่อยเหมือนเดิม
[1] อัลมีซาน,เล่ม 7,หน้า 84
[2] ซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูน,99,100 حتی اذا جاء احدهم الموت قال رب ارجعون. لعلی اعمل صالحاً فیما ترکت کلاّ انّها کلمة هو قائلها..
[3] ดู: ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 14,หน้า 313 และ อัลมีซาน,เล่ม 5,หน้า 98
[4] ตัฟซี้รติ้บยาน,เล่ม 7,หน้า 393 และ กันซุ้ลอิรฟาน,เล่ม 9,หน้า 212
[5] อัลอันอาม, 28
[6] ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 5,หน้า 200.