Please Wait
9656
บางฮะดีษระบุว่า ยาฮุวะ หรือ ยามันลาฮุวะ อิลลาฮุวะ คืออภิมหานามของพระองค์ (อิสมุ้ลอะอ์ซ็อม) แน่นอนว่าข้อแตกต่างระหว่างลาอิลาฮะอิลลาฮุวะ และ ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ นั้น สืบเนื่องมาจากความแตกต่างระหว่าง “ฮุวะ” และ “อัลลอฮ์”นั่นเอง
“ฮุวะ”ในที่นี้สื่อถึงคุณลักษณะหนึ่งของพระองค์ซึ่งอยู่พ้นนิยามและญาณวิสัย และจะเร้นลับตลอดไป ส่วนคำว่า “อัลลอฮ์” สื่อถึงการที่พระองค์เป็นศูนย์รวมของคุณลักษณะอันไพจิตรและพ้นจากคุณลักษณะอันไม่พึงประสงค์ทั้งมวล ฉะนั้น เมื่อกล่าวว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ แปลว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ผู้ทรงดำรงไว้ซึ่งคุณสมบัติต่างๆอย่างครบถ้วน โดยมิได้จะสื่อว่าอาตมันของพระองค์จำแนกจากคุณสมบัติทั้งมวล และเมื่อกล่าวว่า พระองค์ (ฮุวะ) คืออัลลอฮ์ (ในซูเราะฮ์กุ้ลฮุวัลลอฮ์) นั่นหมายถึงว่าคุณลักษณะของพระองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับอาตมันของพระองค์
มีปรากฏในกุรอานว่า هو الله الذی لا اله الا هو [1](พระองค์คือพระเจ้าที่ไม่มีองค์สักการะอื่นใดเว้นแต่พระองค์)
แม้คำว่า “ฮุวะ”จะเป็นบุรุษสรรพนามในทางไวยากรณ์อรับ แต่ควรทราบว่าคำนี้ก็ถือเป็นพระนามหนึ่งของอัลลอฮ์เช่นกัน ส่วนจะเป็นพระนามของพระองค์ได้อย่างไร เราจะมาวิเคราะห์กัน
คุณลักษณะอันไพจิตรทุกประการนั้น หากเราเชื่อมโยงกับพระองค์ก็จะกลายเป็นพระนามของพระองค์ อาทิเช่น เมื่อเราเชื่อมโยงอิลม์ (ความรู้) กับอาตมันของพระองค์ อาลิม (ผู้ทรงหยั่งรู้) ก็จะกลายเป็นพระนามของพระองค์ กล่าวคือ ความรู้คือคุณลักษณะ ส่วนผู้ทรงหยั่งรู้คือพระนาม กุดเราะฮ์ (อำนาจ) คือคุณลักษณะ ส่วนกอดิร (ผู้ทรงอำนาจ) คือพระนาม เราะฮ์มะฮ์ (เมตตาธรรม) คือคุณลักษณะ ส่วนเราะฮ์มาน,เราะฮีม (ผู้ทรงเมตตา,ผู้ทรงกรุณาเสมอ) คือพระนาม แต่ทว่าคำว่า “ฮุวะ” ในที่นี้นั้น เราจะจำแนกได้อย่างไรว่าสิ่งใดคือคุณลักษณะ และสิ่งใดคือพระนาม?
สิ่งที่เป็นคุณลักษณะในที่นี้ก็คือ “ภาวะความเร้นลับอันไร้ขีดจำกัด” อันหมายถึงสัจธรรมที่ไม่มีผู้ใดสามารถจะหยั่งรู้ถึงความลึกซึ้งเชิงอาตมันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี การรู้จักพระเจ้าซึ่งมีหลายระดับขั้นนั้น แตกต่างจากการหยั่งรู้ถึงความลึกซึ้งเชิงอาตมันของพระองค์ในลักษณะที่สมบูรณ์ เพราะแม้ท่านนบี(ซ.ล.)ซึ่งเป็นผู้หยั่งรู้อันดับแรกของสากลโลก เมื่อพูดถึงความลึกซึ้งเชิงอาตมันของพระองค์ ท่านยังยอมรับว่า ما عرفناک حق معرفتک [2](เรายังไม่สามารถจะรู้จักพระองค์อย่างที่ควรจะเป็น)
ประโยคข้างต้นก็คือนัยยะของ “ฮุวะ” นั่นเอง อันหมายความว่า พระองค์มีสถานภาพที่แม้จะเป็น อันตะ (บุรุษสรรพนามที่สอง) สำหรับข้าพระองค์ แต่ในสถานภาพอื่นๆพระองค์ก็ยังเป็น ฮุวะ (บุรุษสรรพนามที่สาม-สื่อถึงความเร้นลับ-) ต้องการจะสื่อว่าไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถหยั่งรู้ถึงอาตมันของพระองค์ได้ จึงขนานนามพระองค์ว่าเป็น غیب الغیوب (องค์เร้นลับเหนือทุกสิ่งเร้นลับ) เนื่องจากไม่มีสิ่งมีชีวิตใดจะสามารถเข้าถึงอาตมันของพระองค์ได้นอกจากพระองค์เอง لا احصی ثناء علیک انت کما اثنیت علی نفسک (โอ้อัลลอฮ์ แม้ข้าฯจะสรรเสริญพระองค์อย่างไรก็มิอาจจะกระทำได้อย่างควรค่าแก่พระองค์ -ข้าฯกล่าวได้เพียงว่า-พระองค์คือผู้ดำรงสถานะดังที่พระองค์ได้พรรณาไว้) และนี่คือนัยยะของฮุวะในแง่พระนามของพระองค์[3]
แต่เมื่อกล่าวว่า لا اله الاالله นั่นหมายถึง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ (ผู้ทรงมีอาตมันที่เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะอันไพจิตรและปลอดจากคุณลักษณะไม่พึงประสงค์) โดยมิได้จะสื่อถึงข้อคิดที่ว่าอาตมันของพระองค์นี้จะเป็นที่เร้นลับตลอดไป
[1] อัลฮัชร์,23
[2] มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร, บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 66,หน้า 292,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1409
[3] มุเฏาะฮะรี,มุรตะฎอ,การรู้จักกุรอาน,เล่ม 6,หน้า 186-187,ศ็อดรอ,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สิบสี่,ปี 1378