Please Wait
7547
คำว่าอิบาดะฮฺ นักอักษรศาสตร์ส่วนใหญ่ตีความว่าหมายถึง ขั้นสูงสุดของการมีสมาธิหรือความต่ำต้อยด้อยค่า ดังนั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง เว้นเสียแต่ว่าสำหรับบุคคลที่ประกาศขั้นตอนของการมีอยู่ ความสมบูรณ์ และความยิ่งใหญ่ของความโปรดปรานและความดีงามออกมา ฉะนั้น การแสดงความเคารพภักดีที่นอกเหนือไปจากพระเจ้าแล้ว ถือเป็นชิริกทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีความบริสุทธิ์ใจอยู่ในการอิบาดะฮฺนั้น
คำว่าปวงบ่าวอาจกล่าวสรุปได้ใน 3 ประการดังนี้
ประการที่ 1 สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานแก่ปวงบ่าวไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ตนต้องไม่แสดงความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง พึงรู้ไว้เถิดว่าปวงบ่าวไม่มีกรรมสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นของพระเจ้า และจงนำเอาสิ่งนั้นไปวางไว้ในที่ๆ พระองค์ทรงบัญชาไว้
ประการที่ 2 ปวงบ่าวไม่มีสิทธิที่จะคิดสิ่งใดเพื่อตนหรือเพื่อความเหมาะสมสำหรับตน และบริหารสิ่งนั้นเพียงลำพังฝ่ายเดียว
ประการที่ 3 ภาระหน้าที่ทั้งหมดของปวงบ่าวจำกัดอยู่ที่ พระบัญชาของพระเจ้าที่ทรงกำหนดใช้ หรือกำหนดห้ามแก่เขา จากคำอธิบายดังกล่าวนี้จะทำให้เห็นภาพของการเป็นปวงบ่าวที่แท้จริงชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้เห็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความเป็นบ่าวชัดเจนขึ้นด้วยเช่นกัน คำว่าบ่าวคือกุญแจแห่งวิลายะฮฺ ส่วนชื่อของบ่าวถือเป็นชื่อที่ดีที่สุดในกระบวนชื่อทั้งหลาย มนุษย์ผู้มีความสมบูรณ์คือ บ่าวของอัลลอฮฺ เขาสูญสลาย ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์และปราชัยต่อพระอันไพจิตรของพระองค์
ดังนั้น ปวงบ่าวของพระเจ้าคือบุคคลที่แสดงความเคารพภักดีและเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ เขามีความสุขใจเมื่อได้รักพระเจ้า เขาได้นำเอาความต้องการของพระองค์ไปเสนอต่อพระเจ้า และกล่าวกับพระองค์ว่า ข้าพระองค์เชื่อมั่นและไว้วางใจในพระองค์
คำว่า อิบาดะฮฺ ตามหลักภาษาหมายถึง ที่สุดของการมีสมาธิและความต่ำต้อย เนื่องจากอิบาดะฮฺคือขั้นสูงสุดของการมีสมาธิ ดังนั้น ไม่มีความเหมาะสมแต่อย่างใด เว้นเสียแต่ว่าบุคคลหนึ่งมีฐานันดรสูงส่ง มีความสมบูรณ์ มีความยิ่งใหญ่ มีความโปรดปรานอนันต์ และมีความดีสูงสุด ดังนั้น การแสดงความเคารพภักดีสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์ จึงถือเป็นชิริก[1]
อิบาดะฮฺ แบ่งออกเป็น 3 ระดับกล่าวคือ บางคนได้แสดงความเคารพภักดีโดยมีหวังว่า จะได้รับผลบุญในวันแห่งการฟื้นคืนชีพเป็นการตอบแทน หรือมีความหวาดกลัวต่อการลงโทษในวันแห่งปรโลก[2] ซึ่งเป็นอิบาดะฮฺของผู้ศรัทธาโดยทั่วไป บางคนได้อิบาดะฮฺอัลลอฮฺ เนื่องจากพระองค์คู่ควรแก่การแสดงความเคารพภักดี ซึ่งอัลลอฮฺ ทรงถือว่าพวกเขาเป็นบ่าวของพระองค์ บางคนได้อิบาดะฮฺอัลลอฮฺ เนื่องจากความสูงส่งและความรักที่มีต่อพระองค์ ซึ่งถือว่าเป็นอิบาดะฮฺขั้นสูงส่งที่สุด[3]
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า คำว่า อับด์ ประกอบด้วยอักษร 3 ตัว กล่าวคือ อัยน์ บาอ์ และดาล อักษร อัยน์ หมายถึงความรู้และความเชื่อมั่นของปวงบ่าวเมื่อสัมพันธ์ไปยังพระเจ้า อักษร บาอ์ บ่งชี้ให้เห็นถึงความห่างไกล หรือการแยกออกจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮฺ ส่วนอักษร ดาล บ่งชี้ให้เห็นถึงความใกล้ชิดของปวงบ่าวไปยังพระเจ้าของเขา โดยปราศจากม่านปิดบังและสิ่งกีดขวางใดๆ ทั้งสิ้น[4]
คำว่า อับด์ ในแง่ของการมีอยู่และความสมบูรณ์ทั้งหมดถือว่าเป็นหนี้บุญคุณ ผู้เป็นเจ้านาย ด้วยเหตุนี้ การยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์จึงหมายถึง การไม่ให้ความสำคัญต่อตัวเอง และอำนาจฝ่ายต่ำ เขาได้ย้อมสีตัวเองด้วยสีสันแห่งความสมบูรณ์ของอัลลอฮฺ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ปวงบ่าวที่แท้จริงของพระเจ้าหมายถึงบุคคลที่มีความสุขต่อการได้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ มีความปลื้มปิติที่ได้รักพระองค์ และได้นำเสนอความต้องการของตนต่อพระองค์ พร้อมกับกล่าวกับพระองค์ว่า ข้าพระองค์มีความเชื่อมั่นในพระองค์และมอบหมายความไว้วางใจต่อพระองค์[5]
ความเป็นบ่าวคืออะไร?
ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.) กล่าวว่า แก่นแท้ของการแสดงความเคารพภักดีหรือการแสดงความเป็นบ่าวนั้น แบ่งออกเป็น 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก : ปวงบ่าวจะไม่คิดว่าทุกสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประทานให้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน หรือเป็นของตนเท่านั้น เนื่องจากปวงบ่าวมิได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสิ่งใดทั้งสิ้น ทรัพย์สินที่ตนมีเป็นกรรมสิทิ์ของอัลลอฮฺ ดังนั้น จงมอบไว้ในสถานที่ๆ มีความเหมาะสมเถิด ประการที่สอง : ปวงบ่าวจะไม่คิดแยกตัวอิสระและบริบาลทุกสิ่งตามความเหมาะสมของตัวเอง ประการที่สาม : ภาระหน้าที่ของเขาขึ้นอยู่กับคำสั่งที่พระองค์ทรงบัญชาให้มา ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งใช้หรือคำสั่งห้ามก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากบ่าวคนหนึ่งไม่มองว่าสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้มาเป็นของเขา เขาก็จะจำหน่ายจ่ายแจกมันออกไปอย่างง่ายดายแก่สังคม และผู้มีความเดือดร้อน บ่าวของพระองค์จะครั้นเมื่อเขาบริหารภารกิจการงาน เขาก็จะมอบหมายความไว้วางใจแก่พระองค์ ครั้นเมื่อความทุกข์ยากและอุปสรรคปัญหาได้พานพบแก่เขาทุกอย่างก็จะแก้ไขได้อย่างง่ายดาย ครั้นเมื่อพระองค์ได้มีคำสั่งใช้หรือคำสั่งห้ามแก่เขา เขาก็จะปฏิบัติด้วยความเคร่งครัดและมีความมั่นคง โดยที่เขาจะไม่ปล่อยเวลาให้สูญเสียไป
ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงให้เกียรติปวงบ่าวของพระองค์ใน 3 สิ่งด้วยกัน กล่าวคือ ขณะมีชีวิตบนโลกนี้เขาไม่ตกเป็นทาสของซาตานมารร้ายและดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่าย เขาไม่คิดที่จะใฝ่หาบารมี เกียรติยศ และความยิ่งใหญ่กับประชาชนโดยที่เขาจะไม่คิดแย่งชิงทรัพย์สินในมือของประชาชนมาเป็นของตน พวกเขาจะไม่เรียกร้องเกียรติยศหรือตำแหน่งให้แก่ตัวเอง และเขาจะไม่ปล่อยตัวเองให้หลงระเริงไปกับความไร้สาระในแต่ละวัน[6]
การแสดงความเคารพภักดีคือกุญแจแห่งวิลายะฮฺ[7] นามว่าบ่าวคือนามที่ดีที่สุดในบรรดานามทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงเป็น อับดุลลอฮฺ ในค่ำคืนของการขึ้นมิอ์รอจญ์ท่านได้วอนขอความเป็นบ่าวจากอัลลอฮฺว่า โอ้ อัลลอฮฺ โปรดเพิ่มพูนแก่ข้าพระองค์ ซึ่งความเป็นบ่าว ณ พระองค์ โอ้ พระผู้อภิบาลของฉัน”
อบูบะซีร เล่าว่า ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ในดุอาอ์บทหนึ่งว่า โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ความยิ่งใหญ่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับข้าฯ การที่ข้าฯได้เป็นบ่าวของพระองค์ เกียรติยศเท่านี้สำหรับข้าฯ ก็เพียงพอแล้วเนื่องจากการที่พระองค์ทรงเป็นพระผู้อภิบาลของข้าฯ โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดังที่ข้าพระองค์ได้รักพระองค์ เนื่องจากข้าฯมาจากพระองค์ ฉะนั้น โปรดทำให้ข้าฯประสบความสำเร็จในสิ่งที่พระองค์ทรงรักด้วยเถิด” [8]
มนุษย์ผู้สมบูรณ์คือ บ่าวของอัลลอฮฺ ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบคลุมด้วยพระนามอันไพจิตรของพระองค์ สูญสลาย ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ และปราชัยต่อพระนามของพระองค์ ช่างเป็นความสวยงามเสียนี่กระไร ดังคำพูดของคอญิอ์ อับดุลลอฮฺ อันซอรีย์ที่กล่าวว่า โอ้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า เพียงพอแล้วสำหรับข้าพระองค์ การที่พระองค์กล่าวเรียกข้าฯว่า โอ้ บ่าวของข้า
ฮะดีซ กุดซีย์ บทหนึ่ง โอ้ ปวงบ่าวของข้า จงเคารพภักดีข้าเถิด เพื่อว่าเจ้าจะได้เหมือน หรือคล้ายคลึงเยี่ยงข้า เพราะเมื่อข้าประกาศิตว่าจงเป็น สิ่งนั้นก็จะเป็น เมื่อเจ้าบอกกับสิ่งหนึ่งว่าจงเป็น สิ่งนั้นก็จะเป็น[9] ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ความเป็นบ่าวหรือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้าถือว่าเป็นหนึ่งในธาตุแห่งความจริง ซึ่งภายในและแก่นแท้ของมันคือพระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร[10]
เนื่องจากการแสดงความเคารพภักดีนั่นเอง จิตใจของมนุษย์จึงมีความสงบมั่น มีศักยภาพในการเปล่งรัศมีอันเรืองรองแก่โลก และยิ่งมีความสะอาดบริสุทธิ์มากเท่าใดความสงบก็จะมีมากขึ้น การเปล่งรัศมีของเขาก็จะทวีคูณขึ้นไป ภาพลักษณ์ของพระเจ้าในตัวเขาก็จะฉายส่องและปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งว่าตำแหน่งคิลาฟะฮฺโดยศักยภาพและโดยการช่วยเหลือของพระองค์ ได้ปรากฏเป็นจริงขึ้นมาจากศักยภาพ การปรากฏเป็นภาวะจริง เคาะลีฟะตุลลอฮฺ มีอยู่ทุกที่ทั่วไปบนโลกนี้ อันเป็นเกียรติยศและเป็นภาพที่แท้จริงของชีวิต และสิ่งที่จำเป็นต้องรู้คือ สิ่งนี้มิใช่ความคู่ควรในการแสดงความเคารพภักดี ทว่าเป็นเพียงคิลาฟะฮฺและตัวแทนของพระองค์ ซึ่งเป็นผลอันแท้จริงของความคู่ควรที่ได้ปรากฏออกมา สิ่งจำเป็นต้องกล่าวต่อไป เคาะลีฟะตุลลอฮฺ จะไม่ปฏิบัติภารกิจของอัลลอฮฺ แต่อัลลอฮฺจะปฏิบัติภารกิจของพระองค์โดยผ่านมือของพวกเขา จิตวิญญาณของพวกเขาจะเป็นที่เผยโฉมพระนามอันไพจิตรของอัลลอฮฺ ฉะนั้น บุคคลเหล่านี้จึงอยู่ในฐานะของ อาริฟบิลลาฮฺ เป็นกระจกที่ฉายส่องความสูงส่งและความสวยงามทั้งหมดของพระเจ้า ผู้ทรงเป็นอมตะนิรันดรตลอดไป ส่วนปาฏิหาริย์ทุกขั้นตอนของบรรดาศาสดา และกะรอมาตของบรรดาอิมามัต และหมู่มวลมิตรของพระเจ้า ตามความเป็นจริงแล้ว อัลลอฮฺต่างหากที่เป็นผู้กระทำสิ่งนั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ปกครองแท้จริง บทบาทของตัวแทนของพระเจ้าได้สูญสลายไปแล้ว ซึ่งสิ่งนี้ตามความเป็นจริงแล้วคือตำแหน่งของ อุบูดียะฮฺ นั่นเอง อันเป็นตำแหน่งซึ่งจะคืนกลับมาด้วยการเชื่อฟังปฏิบัติตามพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร[11] บรรดาผู้ขัดเกลาตนเองถ้าหากเปรียบถึงตำแหน่งนี้เขาคือ พระนามแห่งอัลลอฮฺ เครื่องหมายแห่งอัลลอฮฺ และสูญสิ้นเพื่ออัลลอฮฺ และมองสรรพสิ่งอื่นเป็นเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเป็นวะลีสมบูรณ์ และเกิดเป็นพระนามอันแท้จริง อีกทั้งสำหรับเขาแล้วสิ่งนั้นเป็นการอิบาดะฮฺสมบูรณ์ ฉะนั้น ตามความเป็นจริงแล้วเขาคือ อับดุลลอฮฺ (บ่าวที่แท้จริงของอัลลอฮฺ) จึงสามารถเรียกเขาว่าเป็นบ่าว (อับด์) อย่างแท้จริงได้ตามที่โองการได้กล่าวเรียกไว้ว่า “มหาบริสุทธิ์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์เดินทางในเวลากลางคืน”[12] และเพื่อที่ว่าการเดินทางสู่เบื้องบน ณ เส้นขอบฟ้าสูงสุดยังตำแหน่งแห่งการรู้จัก พร้อมทั้งได้ก้าวไปสู่การอิบาดะฮฺขั้นสูงสุด มีอิสรภาพ ได้ยืนยันในสารของตน ได้ปฏิญาณหลังจากยืนยันในความเป็นบ่าวของตน เนื่องจากการแสดงความเป็นบ่าวนั้นคือสิ่งสำคัญสำหรับการประกาศสาส์น ดังนั้น เราจะเห็นว่านมาซคือสะพานสำหรับมวลผู้ศรัทธา ซึ่งแน่นอนว่าจุดเริ่มต้นแห่งประกายแสงของสะพานนั้น คือ นบูวัต หลังจากม่านแห่งความมืดมิดได้ถูกเปิดออกเราก็จะได้พบกับ มิสมิลลาฮฺ ซึ่งถือว่าเป็นแก่นของการอิบาดะฮฺ ดังนั้น มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่ผู้ที่ได้ให้ท่านศาสดาได้เดินผ่านโดยมีสะพานแห่งการเคารพภักดีเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก และนำเขาไปสู่ก้าวแห่งความเป็นบ่าวที่แท้จริง ซึ่งเขาได้สละทิ้งทุกอย่างอันหน้าสมเพศไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง คำสรรเสริญเยินยอ ประเทศชาติ อำนาจและบารมีต่างๆ ไว้เบื้องหลัง ซึ่งทำให้บรรดาปวงบ่าวที่อยู่เบื้องหลังได้รับแสงสว่างจากแสงนั้นด้วย[13]
บทบาทของเจตนารมณ์ (เนียต) ความบริสุทธิ์ใจในอิบาดะฮฺ
ความตั้งใจหรือเนียตตามหลักทั่วๆ ไปหมายถึง การตัดสินใจเพื่อเชื่อฟังปฏิบัติตามอย่างแน่นอน หรืออาจหมายถึง ความหวาดกลัว หรือความปรารถนาก็ได้[14] ส่วนในทัศนะของนักเดินจิตด้านใน เนียต หมายถึงการตัดสินใจเชื่อฟังปฏิบัติตามในความยิ่งใหญ่ ดังที่กล่าวว่า “ดังนั้นสูเจ้าจงอิบาดะฮฺ ประหนึ่งว่าสูเจ้ามองเห็นพระองค์ และแม้ว่าสูเจ้ามองไม่เห็นพระองค์ แต่พระองค์ทรงเห็นสูเจ้า” ส่วนเนียตในทัศนะของผู้มีความรักในพระองค์หมายถึง การตัดสินใจเพื่อการภักดีต่อพระองค์ ส่วน เนียต ในทัศนะของหมู่มวลมิตรหมายถึง การตัดสินใจเชื้อฟังปฏิบัติตาม อัลลอฮฺ (ซบ.) แต่เพียงผู้เดียว
ความบริสุทธิ์ใจในอิบาดะฮฺทั่วไปหมายถึง การทำให้บริสุทธิ์จากการตั้งภาคีเทียบเคียงพระเจ้า ผู้ทรงสูงส่งทั้งภาคีใหญ่ หรือภาคีเล็กก็ตาม เช่น การโอ้อวด อคติ และความกระหยิ่มยิ้มย่อง “พึงทราบเถิด การอิบาดะฮฺโดยบริสุทธิ์ใจนั้นเป็นของอัลลอฮฺองค์เดียว”[15] ส่วนการอิบาดะฮฺของกลุ่มชนเฉพาะคือ การขจัดให้บริสุทธิ์จากความต้องการ ความยากได้ และความกลัว ซึ่งในทัศนะของพวกเขา สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นชิริก ส่วนอิบาดะฮฺ ของเหล่าบรรดาผู้ขัดเกลาตนเองหมายถึง การขจัดให้สะอาดจากเจตนารมณ์ไม่ดีทั้งหลาย ซึ่งในทัศนะของผู้ขัดเกลาตนเอง การตั้งภาคีถือว่ายิ่งใหญ่ ส่วนการปฏิเสธศรัทธานั้นยิ่งใหญ่กว่า กล่าวว่า มารดาแห่งเทวรูปคือจิตวิญญาณของเจ้า สิ่งที่มายากรได้แสดงคือ งูเทียมที่เกิดจากเส้นเชือก
ส่วนอิบาดะฮฺ ที่เป็นตัวเสริมให้สมบูรณ์คือ อิบาดะฮฺที่พาจิตใจให้พบทางสว่างสามารถสัมผัสพระเจ้าได้ด้วยพลังศรัทธา ท่านอิมามโคมัยนี้ (รฎ.) กล่าวว่า จิตที่คารวะและยอมจำนนหมายถึงจิตที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺเพืยงพระองค์ ไม่มีสิ่งอื่นใดซ่อนอยู่ในใจของเขาอีก[16]
[1] อิมามโคมัยนี้ อัสรอรุซเซาะลาฮฺ การโบยบินในโลกเร้นลับ เล่ม 2 หน้า 190
[2] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ฮิกมะฮฺที่ 237, อุซูลกาฟีย์ เล่ม 2 หน้า 84 ฮะดีซที่ 5
[3] ดามอดดีย ซัยยิดมุฮัมมัด ชัรฮฺมะกอลอดอัรบะอีน หน้า 125
[4] มิซบาฮุชชะรีอะฮฺ บาบที่ 100
[5] เชคบะฮาอีย์ มุฮัมมัด อัรบะอีน
[6] บิฮารุลอันวาร เล่ม 1 หน้า 224 ฮะดีซที่ 17
[7] อัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอีย์ มุฮัมมั ฮุซัยนฺ ตัฟซีรมีซาน เล่ม 1 หน้า 277
[8] บิฮารุลอันวาร เล่ม 74 หน้า 402 อัลฮุกมุลซอฮิเราะฮฺ แปลโดย อันซอรียื หน้า 488 ฮะดี
ที่ 1352
[9] ชีรอซีย์ ซัยยิดฮุซัยนฺ กิลิมะตุลลอฮฺ หน้า 140 ลำดับที่ 154
[10] มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม 6 รายงานลำดับที่ 11317
[11] ฮุซัยนี เตหะรานี ซัยยิดมุฮัมมัด ฮุซัยน์ อันวารุลมะละกูต เล่ม 1 หน้า 288
[12] อัลกุรอาน บทอัลอิสรอ โองการที่ 1
[13] อิมามโคมัยนี ซีรุรเซาะลาฮฺ หน้า 89
[14] อัลกุรอาน บทซัจญฺดะฮฺ 16
[15] อัลกุรอาน บทซุมัร โองการที่ 3
[16] อิมามโคมัยนี ซีรุรเซาะลาฮฺ หน้า 75