Please Wait
10104
ประการแรก: ท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาสหายกลุ่มหนึ่งของท่าน พร้อมกับสหายของท่านศาสดา มิได้ให้บัยอัตกับท่านอบูบักรฺตั้งแต่แรก แต่ต่อมาคนกลุ่มนี้ได้ให้บัยอัต ก็เนื่องจากว่าต้องการปกปักรักษาอิสลาม และความสงบสันติในรัฐอิสลาม
ประการที่สอง: ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจคลี่คลายให้เสร็จสิ้นได้ด้วยคมดาบ หรือความกล้าหาญเพียงอย่างเดียว และมิได้หมายความว่าทุกที่จะสามารถใช้กำลังได้ทั้งหมด เนื่องจากมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา และฉลาดหลักแหลม สามารถใช้เครื่องมืออันเฉพาะแก้ไขปัญหาได้
ประการที่สาม: ถ้าหากท่านอิมามยอมให้บัยอัตกับบางคน เพื่อปกป้องรักษาสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เช่น ปกป้องศาสนาของพระเจ้า และความยากลำบากของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) นั่นมิได้หมายความว่า ท่านเกรงกลัวอำนาจของพวกเขา และต้องการรักษาชีวิตของตนให้รอดปลอดภัย หรือท่านมีอำนาจต่อรองในตำแหน่งอิมามะฮฺและการเป็นผู้นำน้อยกว่าพวกเขาแต่อย่างใด
ประการที่สี่ : จากประวัติศาสตร์และคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) เข้าใจได้ว่า ท่านอิมาม ได้พยายามคัดค้านและท้วงติงพวกเขาหลายต่อหลายครั้ง เกี่ยวกับสถานภาพตามความจริง ในช่วงการปกครองของพวกเขา แต่ในที่สุดท่านได้พยายามปกปักรักษาอิสลามด้วยการนิ่งเงียบ และช่วยเหลืองานรัฐอิสลามเมื่อเผชิญหน้ากับศัตรู
เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์ในยุคแรกของอิสลามเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า :
หนึ่ง : ยังไม่ทันที่เรือนร่างบริสุทธิ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะถูกฝัง การชุมนุมกันที่สะกีฟะฮฺบนีซาอิดะฮฺ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นทันที พวกเขาได้ให้สัตยาบันกับคนอื่นที่นอกเหนือไปจากท่าน อิมามอะลี (อ.) ขณะที่ท่านอิมามอะลี (อ.) กำลังยุ่งอยู่กับการกะฟั่นเรือนร่างของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)[1] และมีเซาะฮาบะฮฺกลุ่มหนึ่งพร้อมกับหัวหน้าเผ่า เช่น อับบาซ บิน อับดุลมุฏ็อลลิบ, ฟัฎลฺ บิน อับบาซ, ซุเบร บิน อะวาม, คอลิด บิน สะอีด, มิกดาร บิน อัมรฺ, ซัลมาล ฟาร์ซียฺ, อบูซัร ฆัฟฟารียฺ, อัมมาร บินยาซีร, อัลบัรรออฺ บิน อาซิบ และอบี บิน กะอฺบ์ มิได้ให้สัตยาบัน ซึ่งพวกเขาได้สนับสนุนท่านอิมามอะลี (อ.)[2] หนังสือมุซนัดอะฮฺมัด 1/55 และฏ็อบรียฺ 2/466 กล่าวว่า บุคคลกลุ่มนี้ได้รวมตัวกันที่บ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ให้สัตยาบันกับอบูบักรฺ[3]
ประวัติศาสตร์กล่าว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ตอบข้อสงสัยของบุคคลที่มารวมตัวกันอยู่ที่บ้านของท่าน ซึ่งพวกเขาต้องการให้สัตยาบันกับท่าน ท่านอิมามกล่าวว่า : “พรุ่งให้พวกท่านมาอีกครั้ง ในสภาพที่เกรียนผมสั้น แต่พอวันรุ่งขึ้นมีเพียง 3 คนเท่านั้นได้มาหาท่านอิมามอะลี (อ.)[4]
ในทำนองเดียวกันประวัติศาสตร์บันทึกว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) มิได้ให้บัยอัตกับอบูบักรฺ ตลอดระยะเวลาที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ แต่หลังจากนั้นเมื่อท่านอิมามเริ่มเห็นว่าสังคมนับวันจะยิ่งเลวร้ายลง ท่านจึงจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกับอบูบักรฺ[5]
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) และบรรดาสหายกลุ่มหนึ่งของท่าน พร้อมกับสหายของท่านศาสดา มิได้ให้บัยอัตกับท่านอบูบักรฺตั้งแต่แรก แต่ต่อมาคนกลุ่มนี้ได้ให้บัยอัต ก็เนื่องจากว่าต้องการปกปักรักษาอิสลาม และความสงบสันติในรัฐอิสลาม
บิลาซัรรียฺ กล่าวถึงสาเหตุของการให้บัยอัตของท่านอิมามอะลี (อ.) กับอบูบักรฺว่า : » หลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากไปมีชนเผ่าอาหรับจำนวนหนึ่งตกมุรตัด (ออกนอกศาสนา) อุสมานได้มาหาท่านอิมามอะลี (อ.) พร้อมกับกล่าวว่า : โอ้ บุตรชายของท่านอา ตราบที่ท่านยังไม่มอบสัตยาบัน จะไม่มีผู้ใดออกไปสงครามกับศัตรูแน่นอน ซึ่งพวกเขาได้พูดเช่นนี้กับท่านอิมามอะลี (อ.) เสมอ จนกระทั่งในที่สุดท่านอิมามได้ให้สัตยาบันกับอบูบักรฺ«[6] ซึ่งการให้สัตยาบันของท่านอิมามอยู่ในยุคสมัยของอบูบักรฺเท่านั้น หลังจากนั้นท่านได้ทักท้วงเรื่องการปกครองเสมอ
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า : “พึงสังวรเถิด ฉันขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ แน่นอนที่สุดชายคนนั้น (อบูบักรฺ) ได้สวมเสื้อแห่งเคาะลิฟะฮฺ ทั้งที่ความเป็นจริงเขารู้ดีถึงฐานภาพของฉัน กับการปกครองอิสลามว่า มีความสัมพันธ์กันเฉกเช่นเดือยโม่กับโม่ เขารู้ดีถึง ความประเสริฐและกระแสคลื่นแห่งความรู้ ที่ไหลหลากออกจากฉัน หมู่มวลวิหคมันไม่สามารถบินต่อไปได้ ฉะนั้น ฉันจึงปล่อยเสื้อแห่งคิลาฟะฮฺไป และลดตัวเองสวมอาภรณ์อีกตัวหนึ่ง ฉันครุ่นคิดด้วยความปวดร้าวว่า ฉันควรกระโจนลงไปยึดสิ่งนั้นกลับมาด้วยมือเปล่า (ปราศจากผู้ช่วยเหลือ) หรือว่าจะอดทนอยู่กับความมืดมิดที่เข้าปกคลุมอยู่อย่างนี้ต่อไป และอยู่ในสภาพเช่นนั้นจนผู้ใหญ่ผ่านวัยสู่ความร่วงโรย เด็กผ่านเข้าสู่วัยหนุ่ม และผู้ศรัทธาคนหนึ่งต้องอดทนกล้ำกลืนอย่างเจ็บปวด จนกระทั่งกลับคืนไปสู่พระผู้อภิบาลของตน ดังนั้น ฉันพิจารณาแล้วเห็นว่า การอดทนกับสภาพทั้งสองย่อมเหมาะสมมากกว่า ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงยอมอดทนทั้งที่ในดวงตาเต็มไปด้วยเศษขยะ และในลำคอมีกระดูกทิ่มติดอยู่”[7]
แต่สำหรับประเด็นที่กล่าวว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) มีความกล้าหาญเพียงนั้น แล้วทำไมท่านไม่ยืนหยัด หรือไม่ยอมกระทำสิ่งใดเลย จำเป็นต้องกล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้นไม่อาจคลี่คลายให้เสร็จสิ้นได้ด้วยคมดาบ หรือความกล้าหาญเพียงอย่างเดียว และมิได้หมายความว่าทุกที่จะสามารถใช้กำลังได้ทั้งหมด เนื่องจากมนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา และฉลาดหลักแหลม สามารถใช้เครื่องมือและวิธีการอันเหมาะแก้ไขปัญหาได้ การมีอำนาจ กำลัง ความสามารถ และความกล้าหาญในสนามรบ ก็จะมิถูกนำไปใช้กับภารกิจต่างๆ ที่ไร้ประโยชน์แต่อย่างใด
ดังที่ท่านฮารูน เมื่อเห็นว่าหมู่ชนของมูซา (อ.) หันไปเคารพบูชารูปปั้นวัว ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นตัวแทนของศาสดามูซา (อ.) แต่ท่านก็มิได้ลงมือกระทำสิ่งใด นอกจากการว่ากล่าวตักเตือนและแนะสำสิ่งดีๆ แก่พวกเขา อัลกุรอาน ได้กล่าวถึงคำพูดของฮารูนที่ตอบข้อท้วงติงของศาสดามูซา (อ.) ที่มีต่อท่าน เนื่องจากท่านมิได้ห้ามปรามพวกเขา หรือขัดขวางมิให้วงศ์วานอิสราเอล มิให้เคารพรูปปั้นบูชาแต่อย่างใด กล่าวว่า : »ฮารูนกล่าวว่า "โอ้ ลูกของแม่ฉันเอ๋ย! อย่าดึงเคราและศีรษะของฉัน แท้จริงฉันกลัวว่า เจ้าจะกล่าวว่า เจ้าได้ก่อความแตกแยกขึ้นในหมู่วงศ์วานอิสรออีล และเจ้าไม่เชื่อฟังคำสั่งของฉัน«[8]
อัลกุรอานกล่าวถึง การปลีกตัวของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) จากการเคารพรูปปั้นบูชาว่า : »ครั้นเมื่อเขา (อิบรอฮีม) ปลีกตัวออกไปจากพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาเคารพสักการะ นอกจากอัลลอฮฺแล้ว«[9]
ทำนองเดียวกันการปลีกตัวของเยาวชนกลุ่มหนึ่ง หรือชาวถ้ำจากกลุ่มชนที่อธรรมพวกเขา อัลกุรอานกล่าวว่า : »เมื่อพวกท่านปลีกตัวออกห่างจากพวกเขา (มุชริก) และจากสิ่งที่พวกเขาสักการะ นอกจากอัลลอฮฺ ดังนั้น จงหลบเข้าไปในถ้ำเถิด เพื่อพระผู้อภิบาลของพวกท่านจะทรงแผ่ความเมตตาของพระองค์แก่พวกท่าน และจะทรงทำให้กิจการของพวกท่าน ดำเนินไปอย่างสะดวกสบาย«[10]
ดังนั้น ถูกต้องไหมถ้าเราจะกล่าวถึงการปลีกตัวของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และชาวถ้าว่า เกิดจากความหวาดกลัว หรือทรยศ ขณะที่ในช่วงเวลานั้น หนทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมคือ ต้องทำตามวิธีการดังกล่าว
ถ้าหากท่านอิมามอะลี ได้ปฏิบัติสิ่งที่มีความเหมาะสมยิ่งกว่า เพื่อปกป้องรักษาศาสนาของพระเจ้า และความลำบากตรากตรำของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้ให้สัตยาบันกับคนบางคน นั่นมิได้หมายความว่านั่นมิได้หมายความว่า ท่านเกรงกลัวอำนาจของพวกเขา และต้องการรักษาชีวิตของตนให้รอดปลอดภัย หรือท่านมีอำนาจต่อรองในตำแหน่งอิมามะฮฺและการเป็นผู้นำน้อยกว่าพวกเขาแต่อย่างใด
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงสาเหตุที่ท่านไม่ยืนหยัดต่อสู้ เพื่อช่วงชิงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺว่า หลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากไปแล้ว ข้าพิจารณาดูแล้วก็เห็นทันทีว่า (การเรียกร้องสิทธิ์ของข้า) ไม่มีผู้ช่วยแต่อย่างใดนอกจากสมาชิกครอบครัวของข้า ดังนั้น ข้าไม่พอใจต่อความตายของพวกเขา ข้าต้องหลับตาขณะที่มันเต็มไปด้วยเศษปฏิกูล ข้ากล่ำกลืนเหตุการณ์ที่แสนขมขื่น (ประหนึ่งลำคอที่ถูกหนามทิ่มแทง) ข้าต้องอดทนอย่างสุดแสนกล้ำกลืน และดื่มความขมขื่นของรสชาติที่สุดแสนจะขม[11]
ในอีกที่หนึ่งท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า ดังนั้น ถ้าฉันพูดอะไรออกมาคนเหล่านั้นก็จะกล่าวว่า “เขาทะยานอยากในอำนาจการปกครอง” แต่ถ้าฉันนิ่งเงียบไม่พูดอะไร พวกเขาก็จะกล่าวว่า “เขากลัวตาย”[12]
สรุป การให้สัตยาบันของท่านอิมามอะลี (อ.) มิได้เกิดจากความหวาดกลัว (เนื่องจากทั้งมิตรและศัตรูต่างทราบดีถึงความกล้าหาญชาญชัยของท่าน) ทว่าเนื่องจากการปราศจากผู้ช่วยเหลือในวิถีทางความจริง และต้องการรักษาความสมานฉันท์ในสังคมอิสลาม ซึ่งเป็นหน้าที่ของเหล่าบรรดาผู้นำที่แท้จริงแห่งพระเจ้า แม้แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน เนื่องจากท่านมีสหายผู้ช่วยเหลือเพียงน้อยนิด และต้องการรักษาอิสลามให้มั่นคง ท่านจำเป็นต้องปลีกตัวออกไปจากหมู่ชน และอพยพไปยังมะดีนะฮฺ จนกระทั่งว่าผู้ช่วยเหลือมีจำนวนมากขึ้น ท่านจึงได้กลับมาพิชิตมักกะฮฺในภายหลัง
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) ทั้งที่รู้ว่าท่านคือตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แต่เพื่อความสงบของสังคมและมุสลิม ท่านถือว่าการอดทนคือวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับท่าน เนื่องจากท่านอิมาม (อ.) ทราบดีว่าเมื่อใดจึงจะสามารถใช้กำลัง และอาวุธเข้าห้ำหั่นกับศัตรู แต่สังคมหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จากไปแล้ว ท่านเห็นว่าความอดทนและการนิ่งเงียบนั้นดีกว่าการต่อสู้ ในสถานการณ์เช่นนั้น ท่านและครอบครัวตลอดจนสหายของท่าน ได้นิ่งเงียบและจะใช้กำลังสู้รบกับศัตรูที่จ้องจะทำลายล้างอิสลาม ดังนั้น การนิ่งเงียบและการประนีประนอมของท่านอิมาม (อ.) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
[1] กันซุลอุมาล 5/552
[2] ซุยูฎียฺ, ตารีคคุละฟาอฺ, หน้า 62, พิมพ์ ดารุลฟิกฮฺ, เลบานอน, ตารีคยะอฺกูบียฺ,2/124-125, ฏ็อบรียฺ, ตารีคอัลอุมัม วัลมะลูก, 2, เล่ม 2, หน้า 443, พิมพ์ที่อิสติกอมัต, กอเฮเราะฮฺ, มุซนัดอะฮฺมัด, เล่ม 3, หน้า 156, (ฮาชิม), พิมพ์ที่ ดารุลซอดิร
[3] อ้างแล้ว
[4] มะอาลิม อัลมัดเราะสะตัยนฺ,อัลลามะฮฺ อัสการียฺ, เล่ม 1, หน้า 162.
[5] ฏ็อบรียฺ, ตารีคอัลอุมัมวัลมัมลูก, 2/448, พิมพ์ที่อิสติกอมะฮฺ, กอเฮเราะฮฺ
[6] อินซาบ อัลอัชรอฟ 1/587.
[7] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, คำเทศนาที่ 3, หน้า 45.
[8] قالَ يَا بْنَ أُمَّ لا تَأْخُذْ بِلِحْيَتي وَ لا بِرَأْسي إِنِّي خَشيتُ أَنْ تَقُولَ فَرَّقْتَ بَيْنَ بَني إِسْرائيلَ وَ لَمْ تَرْقُبْ قَوْليอัลกุรอาน บทฏอฮา, 94.
[9] فَلَمَّا اعْتزََلهَُمْ وَ مَا يَعْبُدُونَ مِن دُونِ اللهอัลกุรอาน บทมัรยัม, 49.
[10] وَ إِذِ اعْتزَلْتُمُوهُمْ وَ مَا يَعْبُدُونَ إِلَّا اللَّهَ فَأْوُاْ إِلىَ الْكَهْفِ يَنشُرْ لَكمُْ رَبُّكُم مِّن رَّحْمَتِهِ وَ يُهَيئِّْ لَكمُ مِّنْ أَمْرِكمُ مِّرْفَقًا.อัลกุรอาน บทกะฮฺฟิ, 16.
[11] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, คำเทศนาที่ 76, หน้า 73.
[12] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, คำเทศนาที่ 5, หน้า 51.