Please Wait
9028
ตำราประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมิได้กล่าวถึงประเด็นความศรัทธาของบรรพบุรุษของมาลิกอัชตัร ซึ่งมาจากเผ่า “นะเคาะอ์” และ “มิซฮัจ” ในเยเมนแต่อย่างใด สิ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้คือ เผ่านี้เป็นกลุ่มแรก ๆ ในเยเมนที่เข้ารับอิสลาม
มาลิก อัชตัรมีบุตรชายสองคน คนหนึ่งมีนามว่า อิสฮาก และอีกคนมีชื่อว่า อิบรอฮีม อิสฮากเป็นหนึ่งในทหารของอิมามฮุเซน (อ.) ในกัรบาลา และได้เป็นชะฮาดัตเคียงข้างกับซัยยิดุชชุฮาดาอ์ในที่สุด อิบรอฮีมได้เข้าร่วมในการปฏิวัติของมุคตาร ษะเกาะฟี และได้ทำหน้าในฐานะแม่ทัพอย่างเต็มความสามารถ โดยได้ฆ่าบุคคลที่สังหารอิมามฮุเซน (อ.) เช่น อิบนุซิยาด ประวัติศาสตร์ได้จารึกว่า อิบรอฮีมมีบุตร 5 คน นามว่า นุอ์มาน, มาลิก, มุฮัมหมัด, กอซิม, คูลาน ในจำนวนบุตรทั้งหมดของอิบรอฮีม กอซิมและมุฮัมหมัดได้ผันตนมาเป็นนักรายงานฮาดีษในเวลาต่อมา
“มาลิก บินฮาริษ บินอับด์ ยะฆูษ บินสะละมะฮ์ บิน เราะบีอะฮ์ บินฮาริษ บินคุซัยมะฮ์ บินสะอ์ด บินมาลิก บินนะเคาะอ์” ถือกำเนิดในครอบครัวที่กล้าหาญและมีชาติตระกูลในเผ่านะเคาะอ์และมิซฮัจแห่งเยเมน[1] เขาเกิดในสมัยญาฮิลียะฮ์ก่อนยุคอิสลาม[2] แต่ทว่าตำราประวัติศาสตร์ ตลอดจนฮะดีษต่างๆก็มิได้กล่าวถึงความเชื่อของเขาและเผ่าของเขา และมิได้ระบุว่าเข้ารับอิสลามในช่วงเวลาใด[3] นักเขียนบางคนสันนิษฐานว่าการที่เผ่าใหญ่ ๆ ของเยเมน เช่น “นะเคาะอ์”, “มิซฮัจ”, “ฮัมดาน” ฯลฯ เริ่มทะยอยกันเข้ารับอิสลามทีละเผ่านั้น เกิดขึ้นหลังจากที่อิมามอาลี (อ.) ได้เดินทางไปยังดินแดนแห่งนั้นในปีที่ 10 ฮ.ศ.โดยคำสั่งของท่านนบี (ซ.ล.) [4]
ครอบครัวชาวอรับดั้งเดิมดังกล่าวได้เดินทางมายังเมืองชามในสมัยการปกครองของอบูบักร และหลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปยังเมืองกูฟะฮ์ และได้ตั้งรกรากที่นั้น และไม่นานก็มีสายตระกูลมากมายที่แตกสาขาจากครอบครัวดังกล่าวในแผ่นดินนี้ ทายาทของมาลิกค่อยๆกลายเป็นสายตระกูลที่กว้างขวาง อาทิเช่น “บะนูมาลิก”, “บะนูอิบรอฮีม” ฯลฯ ปัจจุบันในประเทศอิรักมีครอบครัวที่มีชื่อเสียงเช่นสายตระกูลของ กาชิฟ อัลฆิฏอ และตระกูลของเชครอฎี ซึ่งล้วนสืบเชื่อสายมาจากมาลิกอัชตัรทั้งสิ้น
ในประวัติศาสตร์ได้ระบุถึงบุตรของมาลิกอัชตัรไว้สองคน “อิสฮาก และ อิบรอฮีม” ในกัรบาลา อิสฮากได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) เขาออกสู่สนามรบหลังจากฮาบีบ บินมะซาฮิร และในที่สุดได้เป็นชะฮีด[5] อิบรอฮีมบุตรชายอีกคนหนึ่งของมาลิกอัชตัร เป็นชายผู้กล้าหาญและเปรียบดั่งอัศวินในสมรภูมิรบ เขาเป็นชีอะฮ์และรักอะฮ์ลุลบัยต์อย่างมั่นคงมิเสื่อมคลาย ไม่เพียงแต่อิบรอฮีมจะคล้ายคลึงกับบิดาในด้านอุปนิสัย แต่ยังคล้ายในแง่รูปร่างหน้าตาอีกด้วย[6] ซะฮะบีผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ของซุนนีได้บันทึกไว้เกี่ยวกับอิบรอฮีมว่า “เขาคือวีรบุรุษที่สูงส่งและยิ่งใหญ่เฉกเช่นบิดา”[7]
อิบรอฮีมได้เข้าร่วมในการปฏิวัติของมุคตาร ษะเกาะฟี และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพของกองทัพมุคตาร และด้วยกับความกล้าหาญและความเด็ดเดี่ยวไร้เทียมทาน ทำให้สามารถชนะศัตรูของอะฮ์ลิลบัยต์และสำเร็จโทษผู้ที่ฆ่าอิมามฮุเซน (อ.) เป็นจำนวนมาก เขาได้ฆ่าอิบนุซิยาดในวันที่ 10 มุฮัรรอม อัลฮะรอม ปี 67 เป็นผลสำเร็จ[8]
ในตำราประวัติศาสตร์ได้บันทึกรายชื่อผู้ที่เป็นลูกหลานของอิบรอฮีมไว้ 5 คน “นุอ์มาน, มาลิก, มุฮัมหมัด, กอซิม, คูลาน” ซึ่งในจำนวนนี้ กอซิมและมุฮัมหมัดได้ผันตนมาเป็นนักรายงานฮาดีษในเวลาต่อมา[9]
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ อะมีน, ซัยยิดมุฮ์ซิน, อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่ม 2, หน้า 200, ดารุตตะอารุฟ ลิลมัทบูอาท, เบรูต, 1406 ฮ.ศ.
[1] อัลอะอ์ละมี อัลฮาอิรีย์, มุฮัมหมัดฮุเซน, ดาอิเราะตุลมะอาริฟ อัชชีอะฮ์ อัลอามมะฮ์, เล่ม 16, หน้าที่ 40, พิมพ์ครั้งที่ 2, สถาบันอัลอะอ์ลามีย์ ลิลมัฏบูอาต, เบรุต, 1413, อัลอะมีน, ซัยยิดมุฮ์ซิน, อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่ม 9, หน้าที่ 38, ดารุตะอารุฟ ลิลมัฏบูอาต, เบรุต, 1403, อัลอัฏฏ้อร, เกส, มาลิก อัลอัชตัร คุเฏาะบุฮูวะอารออุฮู , หน้า 13, พิมพ์ครั้งที่ 1, สถาบันอัลฟิกรุล อิสลามีย์, อิหร่าน, 1412
[2] อัซซัรกุลี, ค็อยรุดดีน, อัลอะอ์ลาม, เล่ม 5, หน้า 259, พิมพ์ครั้งที่ 5, ดารุลอุลูม, เบรุต
[3] ดู: อัลฮะกีม, อัซซัยยิดมูฮัมหมัดริฏอ, มาลิก อัลอัชตัร, หน้า 33, พิมพ์ครั้งที่ 1, อัลมักตะบะฮ์ อัลฮัยดารียะฮ์, กุม, 1427
[4] ดู: มุฮัมมะดี เอชเทฮอรดี, มุฮัมหมัด, มาลิก อัชตัร, หน้า 19, พิมพ์ครั้งที่ 2,สำนักพิมพ์พายอมเม ออซอดี, เตหะราน, 1372
[5] มุฮัมมะดี เอชเทฮอรดี, มุฮัมหมัด, มาลิก อัชตัร, หน้า 188
[6] อัลอะอ์ละมีย์ อัลฮาอิรีย์, มุฮัมหมัด ฮุเซน, ดาอิเราะตุลมะอาริฟ อัชชีอะฮ์ อัลอามมะฮ์, เล่ม 2, หน้า 131
[7] ซะฮะบี, สิยัร อะอ์ลามุนนุบะลา , เล่ม 4, หน้า 35, พิมพ์ครั้งที่ 9, สถาบันอัรริซาละฮ์, เบรุต, 1413
[8] อิบนิอะษี้ร, อัลกามิล ฟิตตารีค, เล่ม 4, หน้า 264, อ้างใน: นะซะรี มุนฟะริด, อาลี, เรื่องราวแห่งกัรบาลา, หน้า 670, พิมพ์ครั้งที่ 6, สำนักพิมพ์สุรูร, กุม, 1379
[9] ดู: มะฮ์มูด, วิเคราะห์ชีวประวัติมาลิกอัชตัร, หนังสือพิมพ์ริซาลัต, ฉบับที่ 6054, 16/10/85