Please Wait
7180
ในหนังสือคุลาเศาะตุลบุลดาน รายงานจากหนังสือมูนิสุ้ลฮะซีน (ประพันธ์โดยเชคเศาะดู้ก) รายงานจากอิมามอลีด้วยสายรายงานที่เศาะฮี้ห์ว่า ท่านปรารภกับฮุซัยฟะฮ์ว่า “โอ้บุตรของยะมานี ในระยะแรกของการปรากฏกาย กออิมแห่งอาลิมุฮัมมัดจะเริ่มต่อสู้จากเมืองที่เรียกว่า “กุม” และเชิญชวนผู้คนสู่สัจธรรม ชาวโลกทั้งตะวันออกและตะวันตกจะหลั่งใหลสู่เมืองนี้ อิสลามจะได้รับการชุบชีวิต โอ้บุตรของยะมานี แผ่นดินดังกล่าวศักดิ์สิทธิ์ ปลอดจากความโสมม ขนาดของนครนี้คือเจ็ดฟัรซัคคูณแปดฟัรซัค ธงชัยของเขาจะปักลงที่ภูเขาสีขาว (ล่าสุดกล่าวกันว่าภูเขานบีคิเฎรคือภูเขาสีขาวดังกล่าว) ณ หมู่บ้านเก่าแก่ใกล้มัสญิดและราชวังเก่าแก่ของพวกโซโรแอสเตอร์ที่เรียกกันว่าญัมกะรอน เขาจะย่างก้าวออกจากใต้หออะซานมัสญิดดังกล่าว ใกล้กับอดีตที่ตั้งของสถานบูชาไฟ...”
ฮะดีษนี้ต้องการจะบอกว่ามัสญิดญัมกะรอนมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นอีกหนึ่งศูนย์บัญชาการของอิมามมะฮ์ดี ดังที่มัสญิดซะฮ์ละฮ์จะเป็นศูนย์กลางการบริหารของท่านในอนาคต มัรฮูมคอทูซิยอนได้อธิบายฮะดีษข้างต้นอย่างละเอียด ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าฮะดีษที่เกี่ยวกับวีรกรรมมักไม่จำเป็นต้องตรวจสอบสายรายงานนัก เพราะว่ามีแต่บรรดามะอ์ศูมีนเท่านั้นที่จะหยั่งรู้อนาคตเนื่องจากเชื่อมต่อกับแหล่งความรู้แห่งวะฮีย์ เห็นได้จากการที่ในสมัยที่ท่านอิมามอลีเล่าเรื่องดังกล่าว ชาวฮิญาซและอิรัก ซึ่งน้อยคนนักที่จะเคยได้ยินชื่อเมืองกุม อิมามจึงมักต้องอธิบายว่ากุมอยู่ใกล้กับเมือง”เรย์”เพื่อให้สาวกทราบพิกัดของเมือง เพราะฉะนั้น คิดว่าในยุคนั้นคงไม่มีชาวฮิญาซคนใดรู้จักหมู่บ้านญัมกะรอนในเมืองกุม
แม้จะไม่สามารถปฏิเสธฮะดีษดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง แต่ต้องทราบว่าหนังสือที่บันทึกฮะดีษนี้ล้วนประพันธ์ขึ้นหลังยุคอิมามอลีถึงกว่าพันปี หนังสือรุ่นหลังอย่างอันวารุลมุชะอ์ชิอีนก็รายงานโดยปราศจากสายรายงาน โดยอ้างถึงหนังสือของเชคเศาะดู้ก (มูนิสุ้ลฮะซีน) ซึ่งนอกจากจะหาอ่านไม่ได้แล้ว ยังมีการตั้งข้อสงสัยกันว่าหนังสือดังกล่าวเป็นผลงานของเชคเศาะดู้กจริงหรือไม ด้วยเหตุนี้ ในทางวิชาฮะดีษจึงไม่สามารถใช้ฮะดีษดังกล่าวอ้างอิงในแง่ฟิกเกาะฮ์ ประวัติศาตร์ เทววิทยา ฯลฯ ได้เลย
สายรายงานของฮะดีษที่คุณอ้างมาปรากฏชื่อหนังสือดังต่อไปนี้ตามลำดับ อันวารุลมุชะอ์ชิอีน, คุลาเศาะตุ้ลบุลดาน และมูนิสุ้ลฮะซีน เพื่อให้เข้าใจฮะดีษอย่างถ่องแท้ เราขอวิจารณ์หนังสือเหล่านี้พอสังเขปแล้วจึงหาข้อสรุปในตอนท้าย
1. หนังสือ“อันวารุลมุชะอ์ชิอีน ฟีบะยานิ ชะรอฟะติ กุม วัลกุมียีน” มีสามเล่ม เขียนเป็นภาษาฟารซี มีเนื้อหาเล่าประวัติความเป็นมาของเมืองกุม และชีวประวัติของวงศ์วานนบี ตลอดจนนักรายงานฮะดีษที่พำนักอยู่ในเมืองนี้ เขียนขึ้นเมื่อราวๆร้อยปีก่อน และพิมพ์ที่อิหร่านเป็นครั้งแรก
2. หนังสือ “คุลาเศาะตุ้ลบุลดาน” เขียนไว้ประมาณสามร้อยปีก่อน มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตตร์เมืองกุม และถือเป็นแหล่งอ้างอิงของหนังสือเล่มก่อน
3. หนังสือ “มูนิสุ้ลฮะซีน” มีการอ้างว่าเป็นผลงานของเชคเศาะดู้ก ซึ่งก็อาจหมายถึงอบูญะฟัร มุฮัมมัด บิน อลี บิน บาบะวัยฮ์ เสียชีวิตเมื่อราวๆพันปีก่อน ฮะดีษที่ถามมาก็อ้างถึงหนังสือเล่มดังกล่าว
แต่ต้องชี้แจงว่าผู้รู้ที่มีชื่อเสียงของชีอะฮ์อย่างเชคฏูซีและนะญาชีซึ่งเคยเขียนหนังสือในเชิงบรรณารักษ์ศาสตร์ไว้ กล่าวถึงเชคเศาะดู้กและผลงานของท่านโดยมิได้เอ่ยถึงหนังสือชื่อมูนิสุ้ลฮะซีนเลย ผู้รู้ในหลายศตวรรษต่อมาอาทิเช่น อิบนิ ชะฮ์รอชู้บ และ อิบนิฏอวู้สก็มิได้กล่าวถึงหนังสือเล่มดังกล่าวเลย
อย่างไรก็ดี ในหนังสือมะนากิบของอิบนิชะฮ์รอชู้บ มีฮะดีษหนึ่งรายงานจาก มูนิสุ้ลฮะซีน ซึ่งเขาระบุว่าผู้เขียนคือ มุฮัมมัด ฟัตตาล มิไช่เชคเศาะดู้ก
ที่ยิ่งไปกว่าการระบุว่าใครคือผู้เขียนหนังสือดังกล่าวก็คือ การที่ไม่มีหนังสือดังกล่าวหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ทำให้นักวิชาการไม่สามารถจะนำมาศึกษาและวิจัยสายรายงานของฮะดีษดังกล่าวได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า
1. ฮะดีษนี้พบได้เพียงในหนังสือ “อันวารุลมุชะอ์ชิอีน”เท่านั้น ซึ่งก็เขียนไว้ในศตรรษนี้ กล่าวได้ว่าฮะดีษในหนังสือเล่มนี้หากไม่มีแหล่งอ้างอิงอื่นประกอบ ย่อมจะขาดความน่าเชื่อถือ
2. แม้ตำราประมวลฮะดีษชุดใหญ่อย่าง “บิฮารุลอันว้าร”ซึ่งรวบรวมฮะดีษอย่างครบครัน มิได้กล่าวถึงฮะดีษบทดังกล่าว
3. ยังมีข้อสงสัยว่าหนังสือ “มูนิสุ้ลฮะซีน”เป็นผลงานของเชคเศาะดู้กจริงหรือไม่
4. สมมุติว่าหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นผลงานของท่านจริง แต่ต้องทราบว่าระยะห่างระหว่างหนังสือ “คุลาเศาะตุ้ลบุลดาน”ที่เป็นแหล่งอ้างอิงของอันวารุลมุชะอ์ชิอีน กับหนังสือมูนิสุ้ลฮะซีนนั้น มีมากกว่าเจ็ดร้อยปี โดยไม่มีการระบุว่าอ้างอิงผ่านใครบ้าง
5. หนังสือยุคหลังเท่านั้นที่อ้างว่าฮะดีษดังกล่าวมีสายรายงานเศาะฮี้ห์ ในขณะที่ฮะดีษดังกล่าวไม่มีสายรายงานให้ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
6. แม้หากตำราที่มีชื่อเสียงอย่างกุตุ้บอัรบะอะฮ์(ที่ประพันธ์ขึ้นในยุคที่ไม่ห่างจากยุคอิมามมากนัก)จะรายงานฮะดีษโดยไม่ระบุสายรายงาน นักวิชาการก็มักจะไม่นำฮะดีษประเภทนี้มาใช้วินิจฉัยปัญหาศาสนา นอกจากจะมีเบาะแสที่พิสูจน์ความน่าเชื่อถือได้เท่านั้น นับประสาอะไรกับฮะดีษที่มีบันทึกในหนังสือที่เขียนขึ้นหลังจากอิมามเป็นพันปี โดยที่ไม่อ้างอิงไปยังตำราที่น่าเชื่อถือและพิสูจน์ได้
ด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมาสามารถสรุปได้ว่า ในทางวิชาฮะดีษแล้ว ไม่สามารถจะนำฮะดีษดังกล่าวไปใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือเทววิทยาอิสลามได้ คุณไม่สามารถพบเห็นหนังสือเชิงวิเคราะห์ที่มีขื่อเสียงเล่มใดที่พิสูจน์ทฤษฎีของตนด้วยฮะดีษประเภทนี้
แต่อย่างไรก็ดี เราก็ไม่อาจจะปฏิเสธฮะดีษดังกล่าวโดยสิ้นเชิง จึงขอสรุปปิดท้ายดังนี้ว่า
1. เราไม่พบตัวบทฉบับสมบูรณ์ของฮะดีษนี้
2. เราจะใช้ฮะดีษนี้พิสูจน์อภินิหารของอิมามอลี(อ.)ได้ก็ต่อเมื่อพบฮะดีษดังกล่าวในหนังสืออื่นๆที่มิไช่หนังสือที่เขียนขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น
3. ในบางกรณี เราสามารถใช้ฮะดีษประเภทนี้เป็นตัว“เสริม”ความน่าเชื่อถือของเนื้อหาของฮะดีษอื่นๆได้