Please Wait
6569
หากจะพิจารณาถึงสังคมและยุคสมัยของท่านอิมามบากิร(อ.)และอิมามศอดิก(อ.)ก็จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงไม่มีการรวบรวมตำราดังกล่าวขึ้น อย่างไรก็ดี ฮะดีษของทั้งสองท่านได้รับการรวบรวมไว้ในบันทึกที่เรียกว่า “อุศู้ลสี่ร้อยฉบับ” จากนั้นก็บันทึกในรูปของ”ตำราทั้งสี่” ต่อมาก็ได้รับการเรียบเรียงเป็นหมวดหมู่ฟิกเกาะฮ์ในหนังสือวะซาอิลุชชีอะฮ์กว่าสามสิบเล่มโดยท่านฮุร อามิลี แต่กระนั้นก็ต้องทราบว่า แม้ว่าฮะดีษของอิมามสองท่านดังกล่าวจะมีมากกว่าท่านอื่นๆก็ตาม แต่หนังสือดังกล่าวก็มิได้รวบรวมเฉพาะฮะดีษของท่านทั้งสอง แต่ยังรวมถึงฮะดีษของอิมามท่านอื่นๆอีกด้วย
ทว่าปัจจุบันมีการเรียบเรียงหนังสือในลักษณะเจาะจงอยู่บ้าง อาทิเช่น มุสนัดอิมามบากิร(อ.) และมุสนัดอิมามศอดิก(อ.) เรียบเรียงโดยคุณอะซีซุลลอฮ์ อะฏอรุดี
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจถึงบริบททางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ตลอดจนมุมมองของมัซฮับอื่นๆ(นอกเหนือจากชีอะฮ์)ที่มีต่อบรรดาอิมามสามท่านที่เอ่ยมา จึงจะเข้าใจเหตุผลที่มีการรวบรวมพจนารถอิมามอลี(อ.)ไว้ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ทว่ามิได้มีปรากฏการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นในภรณีของอิมามท่านอื่นๆ ดังข้อสังเกตุต่อไปนี้:
1.อิมามอลี(อ.)คืออิมามท่านเดียวที่มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์และผู้นำประชาคมมุสลิม แม้จะเพียงห้าปีที่ท่านมีอำนาจ แต่ท่านก็มีโอกาสมากพอที่จะถ่ายทอดธรรมเทศนามากหมายหลายบทแก่ประชาชน ขณะเดียวกันนักบันทึกก็มีอิสระที่จะบันทึกธรรมเทศนาเหล่านั้นเพื่อเผยแพร่แก่ผู้อื่นต่อไป และแม้ว่าผู้ยึดถือมัซฮับอื่นๆมิได้ถือว่าท่านเป็นเคาะลีฟะฮ์ที่แต่งตั้งโดยตรงจากท่านนบี(ซ.ล.) แต่อย่างน้อยพวกเขาก็บันทึกพจนารถของท่านไว้ในตำราของฝ่ายตน[1] เนื่องจากยอมรับว่าท่านเป็นหนึ่งในสี่เคาะลีฟะฮ์รอชิดีน
2. ความพยายามในการแจกแจงหลักการศาสนาของอิมามบากิร(อ.)และอิมามศอดิก(อ.)เกิดขึ้นในช่วงผลัดอำนาจจากราชวงศ์อุมะวีสู่ราชวงศ์อับบาซิด ถึงแม้ว่าสภาวะดังกล่าวจะเป็นโอกาสทองในการเผยแพร่สารธรรมและสอนสั่งสานุศิษย์ และแม้ว่านักวิชาการฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์จำนวนมากเข้าร่วมศึกษาด้วย แต่กระนั้นก็มิได้ทำให้ท่านทั้งสองมีสถานภาพทางสังคมเหมือนอิมามอลี(อ.) เพราะยังต้องระมัดระวังอากัปกิริยาพอสมควรเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของสานุศิษย์ และเพื่อมิให้ราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งฉวยโอกาส ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงหลีกเลี่ยงการกล่าวคุฏบะฮ์บทยาวดังกรณีของอิมามอลี(อ.) แต่เน้นตอบคำถามประชาชนเป็นหลัก ที่น่าสนใจก็คือ บางครั้งท่านอิมามบากิร(อ.)ถึงกับต้องยกให้ท่านญาบิรเป็นสายรายงานของตน เพื่อที่จะอ้างอิงฮะดีษสักบทถึงท่านนบี(ซ.ล.)หรืออิมามอลี(อ.) ทั้งนี้ก็เพื่อให้พี่น้องมัซฮับอื่นๆยอมรับได้[2]
3. ต้องเรียนชี้แจงว่าพจนารถของบรรดาอิมาม ไม่ว่าจะอิมามอลี(อ.)หรืออิมามท่านใดก็ตาม ต่างก็มิได้รับการเรียบเรียงเป็นรูปเล่มในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นักรายงานฮะดีษหรือผู้ประพันธ์จะรวบรวมพจานารถบางส่วนไว้เท่านั้น นักรายงานฮะดีษบางคนเรียบเรียงเฉพาะฮะดีษที่ตนรายงาน และตั้งชื่อบันทึกประภทนี้ว่า “อัศล์” โดยได้เผยแพร่แก่บุคคลอื่นๆด้วย ทำให้มีการรวบรวมภายใต้ชื่อ “อัศล์สี่ร้อยฉบับ” อัลลามะฮ์ มัจลิซีได้นำเสนอรายนามอัศล์เหล่านี้ไว้ในส่วนแรกของหนังสือบิฮารุลอันว้าร อัศล์เหล่านี้จึงถือเป็นแหล่งอ้างอิงฮะดีษในระดับเบื้องต้น ซึ่งในภายหลังได้รับการเรียบเรียงในนาม “กุตุ้บอัรบะอะฮ์” (ตำราทั้งสี่)
อย่างไรก็ดี ฮะดีษต่างๆในตำราชุดดังกล่าวมิได้คัดเฉพาะอิมามบากิร(อ.)และอิมามญะฟัร(อ.)เท่านั้น หากแต่รวมฮะดีษของอิมามท่านอื่นๆไว้ด้วย แต่ถึงกระนั้น ฮะดีษของอิมามสองท่านดังกล่าวมีมากกว่าท่านอื่นๆ เนื่องด้วยเสรีภาพที่มีในยุคนั้น
4. ในยุคที่ยังสามารถติดต่อกับบรรดาอิมาม(อ.)ได้ ชีอะฮ์ยังไม่มีความจำเป็นนักที่จะต้องพึ่งพาตำราที่รวบรวมฮะดีษจากทุกหมวดหมู่และทุกสายรายงาน แต่เมื่อไม่สามารถติดต่อกับอิมาม(อ.)ในยุคเร้นกายได้ทั้งโดยตรงและผ่านตัวแทน ก็เพิ่งจะเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ทำให้เหล่านักวิชาการชีอะฮ์มีดำริที่จะรวบรวมพจนารถอิมาม(อ.)
ด้วยเหตุนี้เองที่ตำราประเภทนี้ประพันธ์ขึ้นในศตวรรษที่สามถึงห้าเป็นส่วนใหญ่ อาทิเช่น กุตุ้บอัรบะอะฮ์, ตุฮะฟุ้ลอุกู้ล, โดยส่วนใหญ่จะบันทึกพจนารถของอิมามทุกท่าน แต่ก็มีตำราอย่างนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ และ ฆุเราะรุ้ลฮิกัม ที่เจาะจงเฉพาะอิมามอลี(อ.)ท่านเดียว
5. วิธีเรียบเรียงที่เป็นประโยชน์สำหรับนักวิชาการอิสลามมากที่สุดคือการเรียบเรียงและจัดหมวดหมู่ตามเนื้อหาฮะดีษของบรรดาอิมาม(อ.)ทุกท่าน มิไช่การเรียบเรียงในลักษณะเจาะจงอิมามแต่ละท่าน (แม้ว่าจะมีคุณค่าในระดับหนึ่งเช่นกัน)
อย่างไรก็ดี เนื่องจากฮะดีษของบรรดาอิมามมีคุณค่าสูงส่งเท่าเทียมกันหมด กอปรกับการที่ผู้รู้มักจะค้นหาฮะดีษตามรายเนื้อหาเพื่อใช้อ้างอิงในเชิงฟิกเกาะฮ์ เทววิทยา ฯลฯ จึงสรุปได้ว่าวิธีเรียบเรียงตำราอย่างปัจจุบันเหมาะสมที่สุด
6. ในสมัยนั้น บรรดาเคาะลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซิดที่กุมอำนาจอยู่ รวมทั้งพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะอ์ทุกมัซฮับ ต่างก็มิได้เป็นปฏิปักษ์กับอิมามอลี(อ.) ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งยังแสดงท่าทีให้เกียรติท่านด้วย ในสภาพสังคมเช่นนี้เองที่ทำให้ท่านซัยยิด เราะฎี รวบรวมพจนารถของอิมามอลี(อ.)และเรียบเรียงเป็น “นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์” โดยไม่ถูกแรงต่อต้านใดๆเลย ทั้งที่ซัยยิดพำนักอยู่ที่กุรงแบกแดด เมืองหลวงของอับบาซิด ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าโวหารเหล่านี้ปรากฏอยู่ในตำราของอะฮ์ลิสซุนนะฮ์เช่นกัน[3]
แต่หากจะเรียบเรียงหนังสือที่บันทึกฮะดีษของบรรดาอิมาม โดยเฉพาะอิมามบากิร(อ.)และอิมามศอดิก(อ.) (ที่กล่าวฮะดีษไว้มากเป็นพิเศษ) ก็อาจจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาเชิงลบจากเหล่าเคาะลีฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซิดได้ ทั้งนี้เพราะท่านอิมามศอดิก(อ.)เคยแสดงท่าทีคัดค้านราชวงศ์นี้มาตั้งแต่เถลิงอำนาจ[4] บรรดาอิมามหลังจากท่านก็เคยแสดงท่าทีดังกล่าวเช่นกัน
ฉะนั้น นอกเหนือจากฮะดีษของอิมามอลี(อ.)แล้ว การที่จะเรียบเรียงตำราฮะดีษของบรรดาอิมามที่แม้จะเป็นอิมามยุคก่อนอับบาซิดก็ตาม ล้วนจะถูกราชวงศ์นี้เพ่งเล็งเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการตอกย้ำทฤษฎีที่ว่าตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์เป็นกรรมสิทธิของวงศ์วานอิมามอลี(อ.) ด้วยเหตุนี้เอง เพื่อไม่ให้เป็นที่เพ่งเล็งจากอำนาจรัฐ นักวิชาการชีอะฮ์จึงเลือกที่จะรายงานฮะดีษของบรรดาอิมามท่านอื่นๆเคียงข้างฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)และอิมามอลี(อ.)ในตำราอย่าง อัลกาฟีย์, ตะฮ์ซีบ, มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกีฮ์ ฯลฯ
7. วิธีดังกล่าวถือปฏิบัติกันมาจนถึงยุคที่มีการเรียบเรียงตำราอย่างเช่น บิฮารุลอันว้าร, วะซาอิลุชชีอะฮ์ ...ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าฮะดีษจากอิมามบากิรและอิมามศอดิกจะได้รับการบันทึกในตำราเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องจำแนกออกจากกัน แต่ปัจจุบันได้มีการจำแนกฮะดีษของอิมามแต่ละท่านและเรียบเรียงเป็นหนังสือ อาทิเช่น หนังสือมุสนัด อิมามบากิร(อ.) และมุสนัดอิมามศอดิก(อ.) เรียบเรียงโดยคุณ อะซีซุลลอฮ์ อะฏอรุดี โดยแต่ละชุดก็มีหลายเล่มด้วยกัน[5] นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำแนกฮะดีษตามรายนามอิมามแต่ละท่าน
หากคุณได้มีโอกาสค้นหาแหล่งอ้างอิงทางฮะดีษเล่มต่างๆก็ย่อมจะได้ข้อสรุปว่า ฮะดีษส่วนใหญ่ล้วนรายงานจากอิมามสองท่านนี้
[1] อนึ่ง เรามิได้หมายรวมถึงกลุ่มเคาะวาริจและกลุ่มผู้เกลียดชังวงศ์วานนบี ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักในสังคมมุสลิม
[2] ริญาล กัชชี,หน้า 41,สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมัชฮัด,ฮ.ศ.1348
[3] ดู: อิบนิ อบิลฮะดี้ด, อธิบายนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 1,หน้า 204,หอสมุดอายะตุลลอฮ์มัรอะชี,กุม,ฮ.ศ.1404
[4] ดู: มัจลิซี,มุฮัมมัดบากิร, บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 47,หน้า 162,หมวดที่ 6,สำนักพิมพ์อัลวะฟา,เบรุต,เลบานอน,ฮ.ศ.1404
[5] ผู้เขียนท่านนี้ได้เรียบเรียงตำราในลักษณะเดียวกันนี้กรณีอิมามท่านอื่นๆด้วยเช่นกัน