Please Wait
17020
บาปใหญ่ คือบาปประเภทที่กุรอานหรือบทฮะดีษแจ้งว่าจะต้องถูกสำเร็จโทษ(แต่ก็ยังมีสิ่งชี้วัดอื่นๆที่บ่งบอกถึงบาปใหญ่) ทั้งนี้ การฝืนกระทำบาปเล็กซ้ำหลายครั้งก็ทำให้บาปเล็กกลายเป็นบาปใหญ่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี อัลลอฮ์ได้ทรงให้สัญญาในกุรอานว่าจะทรงอภัยโทษบาปทุกประเภท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเตาบะฮ์อย่างถูกต้องเสียก่อน เตาบะฮ์ในกรณีสิทธิของอัลลอฮ์ หมายถึงการชดเชยอะมั้ลอิบาดะฮ์ที่เคยงดเว้น ประกอบกับการกล่าวอิสติฆฟารอย่างบริสุทธิใจ ส่วนเตาบะฮ์ในกรณีสิทธิของมนุษย์ หมายถึงการกล่าวอิสติฆฟาร คืนสิทธิแก่ผู้เสียหาย และขอให้คู่กรณียกโทษให้
ต่อข้อซักถามที่ว่าอะไรคือหลักเกณฑ์ในการกำหนดบาปใหญ่ และบาปใดบ้างที่ถือเป็นบาปใหญ่ มีหลายคำตอบด้วยกัน อาทิเช่น
1. บาปทุกประเภทที่กุรอานและฮะดีษระบุว่าเป็นบาปใหญ่
2. บาปทุกประเภทที่กุรอานและฮะดีษให้คำมั่นว่าจะต้องถูกลงโทษในไฟนรก
3. บาปทุกประเภทที่กุรอานและฮะดีษถือว่า ร้ายแรงกว่าบาปที่ถูกระบุว่าเป็นบาปใหญ่
4. บาปทุกประเภทที่ผู้เคร่งครัดศาสนาถือว่าเป็นบาปร้ายแรง ในลักษณะที่สามารถอนุมานได้ว่า ทัศนะดังกล่าวสืบทอดมาจากยุคของบรรดามะอ์ศูมีน[1]
5. บาปทุกประเภทถือว่าเป็นบาปใหญ่ทั้งสิ้น. ทัศนะนี้ได้มาจากฮะดีษที่กล่าวเตือนว่า อย่าพิจารณาเพียงแค่ความเล็กน้อยของบาป แต่จงพิจารณาถึงความยิ่งใหญ่ของผู้ที่เราฝ่าฝืน[2] ดังที่มีในฮะดีษจากท่านอิมามศอดิก(อ)ว่า “จงอย่ามองแค่ความเบาบางของบาป แต่จงพิจารณาว่าท่านกำลังเย้ยหยันผู้ใดอยู่?”[3]
อย่างไรก็ดี ผู้ที่จำแนกบาปออกเป็นใหญ่และเล็กเองก็เชื่อว่า ในบางกรณี บาปเล็กก็กลายสภาพเป็นบาปใหญ่ได้[4] ต่อเมื่อ:
1. กระทำบาปเล็กซ้ำหลายครั้ง ดังที่ท่านนบีเคยกล่าวไว้ว่า “เมื่อมีอิสติฆฟ้าร บาปใหญ่จะไม่เหลือ(จะมลายไป) และหากมีการกระทำซ้ำ บาปเล็กก็จะไม่คงสภาพ(จะขยายใหญ่)”[5]
2. มองข้ามบาป ท่านอิมามอลีกล่าวว่า “บาปที่ใหญ่ที่สุด คือบาปที่ผู้กระทำมองข้าม”[6]
3. ปลื้มใจที่ได้ทำบาป ท่านนบีกล่าวว่า “ผู้ที่ทำบาปขณะกำลังหัวเราะชอบใจ เขาจะถูกโยนลงในนรกขณะที่กำลังร่ำไห้”[7]
ส่วนการที่บาปใหญ่จะได้รับอภัยหรือไม่นั้น อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ในกุรอานว่า“โอ้ปวงบ่าวผู้เคยละเมิดต่อตัวเขาเอง(ทำบาป) อย่าได้สิ้นหวังจากพระเมตตาของพระองค์ แน่แท้ พระองค์ทรงอภัยบาปทุกประการ”[8]
อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี กล่าวถึงฮะดีษจากท่านอิมามบากิร(อ)ว่า โองการข้างต้นถือเป็นโองการที่ฟื้นความหวังได้ดีที่สุด[9]
จากโองการดังกล่าว ทำให้เข้าใจเบื้องต้นว่าบาปที่จะทรงอภัยนั้น หมายรวมถึงบาปอันเกิดจากชิริก(การตั้งภาคี)ด้วย ในขณะที่เราทราบกันดีว่า บาปอันเกิดจากชิริกจะไม่ได้รับอภัยโทษเว้นแต่จะเตาบะฮ์เสียก่อน จึงไม่มีทางอื่นนอกจากจะถือว่าโองการข้างต้นแฝงไว้ด้วยเงื่อนไข“เตาบะฮ์”ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะการอภัยโทษย่อมไม่เกิดในลักษณะเทกระจาด ย่อมต้องมีมูลเหตุเสมอ สิ่งที่กุรอานถือว่าเป็นมูลเหตุของการอภัยบาปมีสองประการ นั่นคือ การเตาบะฮ์ และการชะฟาอัต
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสำนวนของโองการข้างต้นจะพบว่า มีลักษณะปรารภต่อปวงบ่าวทั้งผู้ศรัทธาและผู้ทำชิริกโดยรวม เมื่อเป็นเช่นนี้ มูลเหตุของการอภัยบาปในโองการนี้จึงไม่น่าจะเป็นชะฟาอัต เนื่องจากกุรอานและฮะดีษระบุว่าชะฟาอัตจะไม่บังเกิดผลในกรณีชิริก ทำให้เหลือเพียงเตาบะฮ์วิธีเดียว วจนะของพระองค์จึงระบุชัดเจนว่าหากมีการเตาบะฮ์ อัลลอฮ์ก็จะทรงอภัยบาปทุกประการแม้แต่ชิริก[10]
อย่างไรก็ดี วิธีเตาบะฮ์ก็แตกต่างกันไปตามประเภทของบาป เนื่องจากบาปใหญ่แบ่งออกเป็นสองประเภท อันได้แก่ บาปอันเกิดจากการละเมิดสิทธิของอัลลอฮ์ และการละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์
วิธีเตาบะฮ์ในกรณีละเมิดสิทธิของอัลลอฮ์ประกอบด้วย ต้องสำนึกผิดอย่างจริงใจ และตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่กระทำอีกเด็ดขาด โดยหากเป็นศาสนกิจที่ชดเชยได้ก็ให้ชดเชยเสีย เช่น นมาซชดเชย,ถือศีลอดชดเชย..ฯลฯ ส่วนกรณีละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์ นอกจากต้องสำนึกผิดแล้ว ยังต้องชดใช้ความเสียหายแก่คู่กรณีด้วย เว้นแต่กรณีที่ผู้เสียหายยินยอมและยกโทษให้.
ท่านอิมามบากิร(อ)กล่าวไว้ว่า “ผู้เป็นชะฮีดในหนทางของอัลลอฮ์จะได้รับการชำระให้ปราศจากบาปทุกประการ ยกเว้นบาปอันเกิดจากหนี้สินซึ่งจะไม่มีการแทนที่ โดยจะต้องชดใช้ให้เจ้าหนี้ หรือขอให้เจ้าหนี้ยกโทษให้”[11]
ท่านชะฮีด ดัสท์เฆบ (ร.ฮ) ได้สรุปเนื้อหาจากกุรอานและฮะดีษในเรื่องนี้ไว้ว่า การชดเชยคือเครื่องชี้วัดความสำนึกผิดต่อบาป ฉะนั้น ในกรณีละเมิดสิทธิของอัลลอฮ์ เช่น นมาซ ศีลอด ซะกาต ฮัจย์ ก็ควรต้องปฏิบัติชดเชย(ก่อฎอ) แต่ในกรณีละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์ หากเป็นเรื่องทรัพย์สินก็ต้องคืนแก่เจ้าของ หรือคืนแก่ทายาทในกรณีที่เจ้าของเสียชีวิต หากเป็นเรื่องที่เคยทำให้เสื่อมเกียรติ ก็ต้องขออภัยกัน และหากเป็นเรื่องสินไหมหรือการชำระโทษตกตามกัน ก็ต้องเจรจาจ่ายสินไหมหรือไม่ก็จำต้องรับโทษ เว้นแต่คู่กรณีจะอภัยให้.[12]
สรุปคือ อินชาอัลลอฮ์ ทุกบาปไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับสิทธิของอัลลอฮ์หรือเพื่อนมนุษย์ก็ตาม จะได้รับการอภัยจากพระองค์ ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าจะต้องเตาบะฮ์ให้ถูกต้อง และชดเชยให้เหมาะสมกับประเภทของบาปเสียก่อน.
[1] อับดุลฮุซัยน์ ดัสท์เฆบ,บาปใหญ่, เล่ม 1, หน้า 26.
[2] ศอเฮบกะรอนี,ละวามิอ์,เล่ม 2, หน้า 368.
[3] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, 6602 : “لا تنظرو الی صغر الذنب و لکن انظروا الی من اجتر أثم. ”
[4] บาปใหญ่, เล่ม 2, หน้า 273,279.
[5] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์, 6617 : “لا کبیر مع الاستغفار و لا صغیر مع الاصرار”
[6] อ้างแล้ว,6562 “اشدا لذنوب عندالله سبحانه ما استهان به راکبه”
[7] บาปใหญ่, หน้า 280, บิฮารฯ เล่ม 6, หน้า 36. “من اذنب ذنباً و هو ضاحک دخل النار”
[8] ซูเราะฮ์ อัซซุมัร, 53. “یا عبادی الذیناسرفوا علی انفسهم لا تقنطوا من رحمة الله ان الله یغفر الذنوب جمیعاً”
[9] อัลมีซานฉบับแปลฟารซี, เล่ม 20,หน้า 526.
[10] อ้างแล้ว, เล่ม 17,หน้า 425.
[11] บาปใหญ่, เล่ม 2, หน้า 6. : “کل ذنب یکفره القتل فی سبیل الله الا الدین لاکفاره له الا ادائه او یقضی صاحبه او یعفوا الذی له الحق” อัลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 94, หมวดหนี้สิน, หน้า 93.
12] อ้างแล้ว, เล่ม 2,หน้า 434.