Please Wait
7950
นักอรรถาธิบายกุรอานได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของอัลลอฮ์ในการบัญชาให้สังหารกันในโองการนี้ไว้ 3 ประการ “1. สิ่งนี้เป็นบททดสอบ และเมื่อพวกเขาได้เตาบะฮ์และสำนึกผิดแล้ว สิ่งนี้ก็ได้ถูกยกเลิก 2. ความหมายของการฆ่าในที่นี้คือการตัดกิเลศและแรงยั่วยุของชัยตอน 3. ความหมายของการฆ่าในโองการนี้ คือการฆ่าจริง ๆ กล่าวคือจะต้องฆ่ากันเอง ซึ่งอาจจะเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือทั้งหมดของประเด็นต่อไปนี้ก็เป็นได้: ก. ชำระจิตใจชาวบนีอิสรออีลให้ผ่องแผ้วจากการตั้งภาคี ข. ยับยั้งไม่ให้บาปใหญ่หลวงเช่นนี้อีก ค. ต้องการสื่อให้เห็นถึงปัญหาการหันเหจากหลักเตาฮีด และการหันไปสู่การกราบไหว้เจว็ด อย่างใดก็ตาม การรับการลงโทษที่หนักหน่วงที่สุดก็ถือว่าคุ้มค่าหากแลกกับการหลุดพ้นจากไฟนรก
อัลลอฮ์ได้กล่าวว่า “และจงรำลึกถึงขณะที่มูซาได้กล่าวแก่กลุ่มชนของเขาว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน แท้จริงพวกท่านได้อยุติธรรมแก่ตัวของพวกท่านเอง โดยที่พวกท่านได้ยึดถึอลูกวัวตัวนั้น (เป็นที่เคารพสักการะ) ดังนั้นจงกลับสู่พระผู้บังเกิดของพวกท่านเถิด แล้วจงฆ่าตัวของพวกของท่านเอง นั่นเป็นสิ่งดีแก่พวกท่าน ณ พระผู้บังเกิดของพวกท่าน ภายหลังพระองค์ก็ได้ทรงอภัยโทษแก่พวกท่าน แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” [1]
- นักอรรถาธิบายกุรอานได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของอัลลอฮ์ในการบัญชาให้สังหารกันในโองการนี้ไว้ 3 ประการ ประกาศิตในโองการนี้ถือเป็นบททดสอบอย่างหนึ่ง เฉกเช่นพระบัญชาที่มีแก่นบีอิบรอฮีม (อ.) ที่ระบุให้เชือดพลีนบีอิสมาอีล (อ.) ซึ่งก่อนที่นบีอิสมาอีล (อ.) จะถูกฆ่าได้มีโองการประทานมาว่า “แน่นอน เจ้าได้ปฏิบัติถูกต้องตาม(ที่เห็นใน)ฝันแล้ว”[2] ในกรณีของนบีมูซา (อ.) อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ก็ได้กล่าวไว้ว่า “จงหวลคืนสู่พระผู้บังเกิดของพวกท่านเถิด แล้วจงฆ่าตัวของพวกท่านเอง นั่นเป็นสิ่งดีแก่พวกท่าน” แต่ก่อนที่พระบัญชาของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ พระองค์ได้ถือว่าการฆ่าบางส่วนถือเป็นการฆ่าทั้งหมดแล้ว และได้ตอบรับเตาบะฮ์ของพวกเขา[3]
- การฆ่าในโองการดังกล่าวหมายถึงการตัดกิเลศและการยั่วยุของชัยตอน โองการนี้ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า จงตัดกิเลศของตนและยับยั้งการยั่วยุของชัยตอน และจงยอมรับความเป็นเอกะของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์[4]
- การฆ่าในโองการนี้หมายถึงการฆ่าในรูบแบบที่แท้จริง กล่าวคือจงปลิดชีพกันและกัน[5] เนื่องจากการถูกฆ่าในโลกนี้ดีกว่าสำหรับสูเจ้า
กลุ่มที่เชื่อว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ต้องการสื่อถึงการฆ่าในรูปแบบที่แท้จริงนั้น ได้กล่าวถึงปราชญาของพระบัญชาดังกล่าวไว้บางประการซึ่งเราจะขอหยิบยกมา ณ ที่นี้บางประการ
- การฆ่านี้จะเป็นการชำระล้างบนีอิสรออีลจากการตั้งภาคีและชีริก และจะทำให้พวกเขาเข้าสู่ชีวิตที่นิรันดร์ และความผาสุกอย่างแท้จริง[6]
- การเข่นฆ่ามนุษย์ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ผิดและเป็นฮะรอม แต่บางครั้งเมื่อคำนึงถึงความจำเป็น ถือเป็นการดีและจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นวาญิบ ซึ่งความจำเป็นบางประการของสังคมและศาสนาสามารถเปลี่ยนกฏเกณฑ์ดังกล่าวได้ กรณีของบนีอิสรออีลก็เช่นกัน เนื่องจากการฆ่ากันเองในหมู่พวกเขาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้หลาบจำไม่กระทำบาปอันใหญ่หลวงนี้อีก จึงทำให้กลายเป็นสิ่งที่เหมาะควรแก่เหตุ[7]
- การสักการะบูชารูปปั้นลูกวัวของซามิรีไม่ใช่เรื่องที่ผ่อนปรนได้ เนื่องจากประชาชนกลุ่มนี้เห็นอภินิหารของอัลลอฮ์ที่สำแดงโดยศาสดามูซา(อ.)กับตาของตนเอง แต่กลับลืมเรื่องราวเหล่านี้ โดยเมื่อศาสนทูตของพวกเขาได้ปลีกตัวไปในระยะเวลาสั้น ๆ พวกเขาละทิ้งหลักการแห่งเตาฮีดและศาสนาของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) กลายเป็นผู้ที่บูชาเจว็ด หากประเด็นนี้ไม่ถูกถอนรากถอนโคนจากความคิดของพวกเขาแล้ว ภัยอันตรายต่างๆก็จะบังเกิดขึ้น บุคคลเหล่านี้จะฉวยโอกาสทำลายล้างศาสนาและคำภีร์ของท่านนบีมูซาโดยเฉพาะหลังจากที่ท่านเสียชีวิต ศาสนาของท่านจะตกอยู่ในอันตรายในไม่ช้า ฉะนั้น ในที่นี้จึงต้องใช้ความรุนแรง โดยไม่ควรโอนอ่อนผ่อนตามคำขออภัยโทษเพียงลมปาก ด้วยเหตุนี้เองที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทรงสั่งให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ของเหล่าศาสนทูต คำบัญชาดังกล่าวก็คือการสั่งให้กลับตัวกลับใจสู่เตาฮีด พร้อมทั้งสั่งให้มีการประหารผู้กระทำผิดจำนวนมากด้วยวิธีเฉพาะ (สังหารกันเอง)
ความรุนแรงของการลงโทษดังกล่าวนี้สืบเนื่องจากการหันเหออกจากหลักความเชื่อของเตาฮีดแห่งพระองค์ และหันมาบูชาเจว็ด ซึ่งมิใช่เรื่องธรรมดาที่จะผ่อนปรนกันง่ายๆโดยเฉพาะหลังจากที่พวกเขาได้เห็นมุอฺญิซาตที่กระจ่างชัดและความโปรดปรานของอัลลอฮฺ (ซบ.)แล้ว แท้ที่จริงหลักการทั้งหมดของทุกๆศาสนาแห่งฟากฟ้านั้นสามารถสรุปในหลักการของความเชื่อในเรื่องความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า(เตาฮีด)ได้ หากหลักการแห่งเตาฮีดนี้สั่นคลอน ก็เท่ากับว่าหลักการอื่นๆของศาสนาจะพลอยเสียหายไปด้วยเช่นกัน หากการบูชาลูกวัวถือเป็นเรื่องหลัก ประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นจารีตประเพณีสำหรับคนรุ่นหลังก็ได้ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่าประชาชาติอิสรออีลเป็นกลุ่มชนที่มีความดื้อรั้นเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นควรที่จะลงโทษด้วยบทลงโทษที่จะทำให้ตราตรึงในสำนึกของผู้คนทุกยุคสมัย เพื่อมิให้ผู้ใดริอ่านบูชาเจว็ด โองการที่ว่า
ذلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ عِنْدَ بارِئِكُم (สิ่งนั้น – การฆาตกรรมกันเอง - เป็นสิ่งดีกว่า ณ พระผู้เป็นเจ้าของสูเจ้า) อาจบ่งชี้ถึงความหมายดังกล่าว[8]
สุดท้ายนี้ จำเป็นต้องชี้แจงว่า การลงโทษที่หนักหน่วงที่สุดในโลกดุนยา ไม่อาจจะเทียบได้กับการลงโทษสถานเบาที่สุดในโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ หากผู้ใดสามารถอดทนต่อบทลงโทษในโลกนี้เพื่อนำพาตนเองพ้นจากการลงโทษและความยากลำบากทั้งหลายในโลกนี้เพื่อแลกกับความทรมานและยากลำบากในโลกหน้าแล้ว ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง และเราเชื่อว่าการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าในโลกดุนยา ถือเป็นการชดใช้กรรมสำหรับความผิดบาปของบุคคลที่เตาบะฮฺด้วยจิตใจที่มั่นคง
กรุณาพิจารณาฮะดีษที่ว่า
“ มีการจับกุมขโมยกลุ่มหนึ่งและนำตัวมาพบกับท่านอิมามอาลี(อ.) ท่านสั่งให้ตัดมือขโมยเหล่านั้น และหลังจากนั้นพวกเขาก็ได้พาผู้ต้องหาไปยังสถานที่ที่เหมาะสมแห่งหนึ่ง ท่านสั่งให้มีการรักษาบาดแผลจากการถูกตัดมือ และหลังจากนั้นก็ได้เลี้ยงอาหารพวกเขาด้วยอาหารที่เอร็ดอร่อยอย่างเช่นเนื้อ และน้ำผึ้ง โดยได้กล่าวแก่พวกเขาว่า โอ้บรรดาผู้กระทำผิดทั้งหลาย ตอนนี้มือทั้งหลายของพวกท่านนั้นได้ล่วงหน้าเข้าไปในนรกแล้ว หากพวกท่านเตาบะฮฺ และพระองค์ก็ทรงรู้ว่าท่านนั้นมีความสัจจริงในการเตาบะฮฺนี้ มือของพวกท่านก็จะถูกนำกลับมาจากไฟนรกและจะเข้าสู่สรวงสวรรค์พร้อมกับพวกท่าน หากไม่เป็นเช่นนั้น มือที่ถูกตัดเหล่านั้นจะดึงพวกท่านลงไปในขุมนรกพร้อมกับ[9]
เกี่ยวกับผู้ที่ถูกสังหารในหมู่ประชาชาติอิสรออีลนั้น มีความเป็นไปได้อยู่ 2 ประการด้วยกันดังนี้
1.พวกเขาได้สำนึกผิดและเตาบะฮ์ ในกรณีนี้พวกเขาจะได้เข้าสู่สวรรค์อย่างนิรันดร์ ซึ่งการที่เราได้อดทนจากความทุกข์ทรมารเพื่อที่จะไปถึงสิ่งๆนี้นั้น มันมีค่ายิ่งนัก
2.หรือไม่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ในความเชื่อเดิมๆที่ผิดพลาด เมื่อพิจารณาถึงการที่พวกเขาเคยประจักษ์ถึงอภินิหารต่างๆ การลงโทษประหารชีวิตถือว่าน้อยนิด
[1] บะเกาะเราะฮ์, 54, :" وَ إِذْ قَالَ مُوسىَ لِقَوْمِهِ يَاقَوْمِ إِنَّكُمْ ظَلَمْتُمْ أَنفُسَكُم بِاتخَِّاذِكُمُ الْعِجْلَ فَتُوبُواْ إِلىَ بَارِئكُمْ فَاقْتُلُواْ أَنفُسَكُمْ ذَالِكُمْ خَيرٌْ لَّكُمْ عِندَ بَارِئكُمْ فَتَابَ عَلَيْكُمْ إِنَّهُ هُوَ التَّوَّابُ الرَّحِيم"
[2] ศอฟฟาต, 105, " يا إِبْراهِيمُ قَدْ صَدَّقْتَ الرُّؤْيا"
[3] มูซาวี ฮะเมดอนี, ซัยยิดมูฮัมหมัดบากิร, แปลอัลมีซาน, เล่ม 1, หน้า 288, สำนักพิมพ์ อิสลามี ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์ กุม, 1374, พิมพ์ครั้งที่ 5
[4] คาชานี, มุลลาฟัตฮุลลอฮ์, ตัฟซีร มินฮาจุศศอดิกีน ฟี อิลซามุล มุคอลิฟีน, เล่ม 1, หน้า 192, สำนักพิมพ์ร้านหนังสือมุฮัมหมัดฮาซัน อะละมี, เตหะราน, ปีที่พิมพ์ 1336
[5] ตัฟซีร มินฮาจุศศอดิกีน ฟี อิลซามุล มุคอลิฟีน, เล่ม 1, หน้า 192
[6] ตัฟซีร มินฮาจุศศอดิกีน ฟี อิลซามุล มุคอลิฟีน, เล่ม 1, หน้า 192
[7] แปลมัจมะอุลบะยาน ฟีย์ตัฟซีริล กุรอาน, เล่ม 1, หน้า 179, วิจัยโดย ริฏอ เซทูเดฮ์, สำนักพิมพ์ ฟะรอฮอนีย์, เตหะราน, 1360, พิมพ์ครั้งที่
[8] มะการิม ชีรอซี, นาศิร, ตัฟซีรเนมูเนฮ์, เล่ม, หน้า256, สำนักพิมพ์ ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์, เตหะราน, 1374, พิมพ์ครั้งที่ 1
[9] คุลัยนี, มูฮัมหมัด บินยะอ์กูบ, กาฟี, เล่ม 7, หน้า 266, ฮะดีษที่ 31, สำนักพิมพ์ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์, เตหะราน, 1365 ส.ค.