Please Wait
7761
ในฮะดีษเฆาะดี้รมีคำว่าตาบู้ตอยู่จริง ซึ่งกุรอานก็กล่าวถึงเช่นกัน ... أَنْ یَأْتِیَکُمُ التَّابُوتُ فیهِ سَکینَةٌ مِنْ رَبِّکُمْ ... โองการนี้ต้องการจะสื่อว่า แม้ศาสนทูตอิชมูอีลจะแจ้งแก่บนีอิสรออีลว่าตอลู้ตได้รับภารกิจจากอัลลอฮ์ แต่พวกเขาก็ยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ และขอให้ศาสนทูตระบุหลักฐานให้ชัดเจน ศาสนทูตจึงกล่าวว่า สัญลักษณ์การปกครองของเขาก็คือ เขาจะมายังพวกท่านพร้อมกับตาบู้ต(หีบบรรจุพันธะสัญญา)
ส่วนที่ว่าตาบู้ตหรือหีบแห่งพันธะสัญญาของบนีอิสรออีลคืออะไร ใครเป็นคนสร้างขึ้น บรรจุสิ่งใดบ้างนั้น มีคำอธิบายมากมายจากฮะดีษ ตัฟซี้ร และบทพันธะสัญญาเดิม (โตร่าห์) แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุดก็คือคำอธิบายที่ได้จากฮะดีษของอะฮ์ลุลบัยต์และทัศนะของนักตัฟซี้รบางท่านที่ว่า: ตาบู้ตเป็นหีบไม้ที่มารดาของท่านนบีมูซา(อ.)ได้ใช้วางทารกไว้ตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ และปล่อยไปตามกระแสของแม่น้ำไนล์
สามารถเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ระหว่างการที่บนีอิสรออีลเรียกร้องให้ตอลู้ตแสดงหีบตาบู้ตให้เห็น กับการที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านนบี(ซ.ล.)ส่งมอบศาสตราวุธและหีบตาบู้ตให้แก่ท่านอิมาม(อ.)ในวันเฆาะดี้ร โดยได้ข้อสรุปว่าอุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ส่งมอบกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงอิมามท่านสุดท้าย และอิมามมะฮ์ดี(อ.)จะแสดงหีบและศาสตราวุธนี้เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวโลกประจักษ์
วรรคหนึ่งของฮะดีษเฆาะดี้รมีอยู่ว่า “...ญิบรออีลลงมาแจ้งแก่ท่านนบี(ซ.ล.)ว่า อัลลอฮ์ทรงสลามท่าน และทรงตรัสว่า “วาระสุดท้ายของอายุขัยและสถานะศาสนทูตของเจ้าใกล้จะมาถึงแล้ว จงทราบเถิดว่าข้าจะเรียกคืนชีวิตเจ้าโดยปราศจากการบิดพริ้ว ฉะนั้นจงทำสัญญาและสั่งเสียเถิด และจงส่งมอบวิทยปัญญาของเจ้าและศาสนทูตก่อนหน้าเจ้า และศาสตราวุธ และตาบู้ต และสัญลักษณ์แห่งภารกิจของเจ้าให้แก่อลี บิน อบีฏอลิบ ผู้เป็นตัวแทนและข้อพิสูจน์ของข้าบนหน้าแผ่นดิน จงแสดงให้เขาเป็นเสมือนสัญลักษณ์ และจงกำชับพันธะสัญญาที่มีต่อเขา และจงรณรงค์ให้ผู้คนระลึกถึงพันธะสัญญาที่ข้ากระทำต่ออลี บิน อบีฏอลิบในฐานะกัลญาณมิตรของข้า และในฐานะผู้นำของผู้ศรัทธาทั้งหญิงและชาย...”[1]
ในฮะดีษข้างต้นมีคำว่า “ตาบู้ต” ปรากฏอยู่ ซึ่งกุรอานก็ได้กล่าวถึงไว้ว่า
وَ قالَ لَهُمْ نَبِیُّهُمْ إِنَّ آیَةَ مُلْکِهِ أَنْ یَأْتِیَکُمُ التَّابُوتُ فیهِ سَکینَةٌ مِنْ رَبِّکُمْ وَ بَقِیَّةٌ مِمَّا تَرَکَ آلُ مُوسى وَ آلُ هارُونَ تَحْمِلُهُ الْمَلائِکَةُ إِنَّ فی ذلِکَ لَآیَةً لَکُمْ إِنْ کُنْتُمْ مُؤْمِنینَ[2]
“และนบีของพวกเขาได้กล่าวแก่พวกเขาว่า สัญลักษณ์การปกครองของเขาก็คือ การที่เขาจะมายังสูเจ้าพร้อมกับหีบแห่งพันธะสัญญา ซึ่งในนั้นมีความสงบสุขจากพระผู้อภิบาลของสูเจ้า และที่ระลึกจากวงศ์วานของมูซาและฮารูน โดยมีมลาอิกะฮ์เป็นผู้แบกหามมา สิ่งนี้คือสัญลักษณ์สำหรับสูเจ้า หากสูเจ้าเป็นผู้ศรัทธา”
ตาบู้ต มาจากคำว่า ตู้บ ในภาษาอรับ ซึ่งแปลว่าการย้อนกลับ[3] และยังหมายถึงหีบไม้ ทำให้ชาวอรับมักจะเรียกโลงศพว่าตาบู้ต แต่ความหมายเดิมของตาบู้ตไม่จำกัดเฉพาะหีบสำหรับผู้ตาย แต่หมายถึงหีบไม้ทั่วไป[4]
ส่วนที่ว่าตาบู้ตหรือหีบแห่งพันธะสัญญาของบนีอิสรออีล คืออะไร ใครเป็นคนสร้างขึ้น และบรรจุสิ่งใดบ้างนั้น มีคำอธิบายมากมายจากฮะดีษ ตัฟซี้ร และบทพันธะสัญญาเดิม (โตร่าห์) แต่ที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุดก็คือคำอธิบายที่ได้จากฮะดีษของอะฮ์ลุลบัยต์และทัศนะของนักตัฟซี้รบางท่านที่ว่า: ตาบู้ตเป็นหีบไม้ที่มารดาของท่านนบีมูซา(อ.)ได้ใช้วางทารกไว้ตามพระบัญชาของอัลลอฮ์ และปล่อยไปตามกระแสของแม่น้ำไนล์ และคงเป็นเพราะการที่หีบไม้นี้ช่วยให้นบีมูซา(อ.)ได้กลับคืนสู่อ้อมอกแม่อีกครั้ง จึงเรียกกันว่า“ตาบู้ต”[5]
อลี บิน อิบรอฮีม กุมี เล่าว่าท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร(อ.) กล่าวไว้ว่า “ตาบู้ตก็คือหีบที่อัลลอฮ์ประทานแก่มารดานบีมูซาและบัญชาให้วางทารกน้อยในนั้น แล้วจึงปล่อยไห้ลอยไปในทะเล หีบตาบู้ตนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บนีอิสรออีลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมักจะเป็นเครื่องแสวงหาบะเราะกัต”[6]
โองการที่ยกมาในตอนต้นต้องการจะสื่อว่า แม้ศาสนทูตอิชมูอีลจะแจ้งแก่บนีอิสรออีลว่าตอลู้ตได้รับภารกิจจากอัลลอฮ์ แต่พวกเขาก็ยังเคลือบแคลงสงสัยอยู่ และขอให้ศาสนทูตระบุหลักฐานให้ชัดเจน ศาสนทูตจึงกล่าวว่า สัญลักษณ์การปกครองของเขาก็คือ เขาจะมายังพวกท่านพร้อมกับตาบู้ต(หีบบรรจุพันธะสัญญา)[7]
สามารถเชื่อมโยงสองเหตุการณ์ระหว่างการที่บนีอิสรออีลเรียกร้องให้ตอลู้ตแสดงตาบู้ตให้เห็น กับการที่อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านนบี(ซ.ล.)ส่งมอบศาสตราวุธและตาบู้ตให้แก่ท่านอิมาม(อ.)ในวันเฆาะดี้ร โดยได้ข้อสรุปว่าอุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งที่ส่งมอบกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงอิมามท่านสุดท้าย และอิมามมะฮ์ดี(อ.)จะแสดงหีบและศาสตราวุธนี้เป็นสัญลักษณ์ให้ชาวโลกประจักษ์[8]
[1] มัจลิซี,มุฮัมมัดบากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 37,หน้า 202,สำนักพิมพ์อัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1404 และ เฏาะบัรซี,อะห์มัด บิน อลี,อัลอิห์ติญ้าจ อะลา อะฮ์ลิลลุญ้าจ,เล่ม 1,หน้า 56,มุรตะฎอ,มัชฮัด,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1403
[2] อัลบะเกาะเราะฮ์,248
[3] กุรชี, ซัยยิดอลีอักบัร,กอมู้สกุรอาน,เล่ม 1,หน้า 260,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่ 6, และ เฏาะบาเฏาะบาอี,ซัยยิดมุฮัมมัด ฮุเซน,อัลมีซาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 2,หน้า 289,สำนักพิมพ์ญามิอะฮ์มุดัรริซีน สถาบันศาสนากุม,พิมพ์ครั้งที่ห้า,ฮ.ศ.1417
[4] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 2,หน้า 239,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,1374
[5] ฮุซัยนี ฮะมะดอนี,ซัยยิด มุฮัมมัด ฮุเซน, รัศมีอันเจิดจรัส,ค้นคว้าเพิ่มเติม: เบะฮ์บูดี,มุฮัมมัด บากิร,เล่ม 2,หน้า 267, ร้านหนังสือลุฏฟี,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1404 และ มุศเฏาะฟะวี,ฮะซัน, อัตตะห์กี้ก ฟีกะลิมาติ้ลกุรอานิลกะรีม,เล่ม 1,หน้า 372,ศูนย์แปลและจัดพิมพ์หนังสือ,เตหราน,1360 และ ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 2,หน้า 339,340
[6] เฏาะบัรซี,ฟัฎล์ บิน ฮะซัน,มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริ้ลกุรอาน,ค้นคว้าเพิ่มเติม: พร้อมบทนำจากบะลาฆี,มุฮัมมัด ญะว้าด,เล่ม 2,หน้า 614,สำนักพิมพ์นาศิรโคสโร,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สาม,1372
[7] มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 2,หน้า 614 และ ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 2,หน้า 239
[8] ดู: บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 53,หน้า 85