Please Wait
9126
คำถามก็คือ ท่านนบี(ซ.ล.)และเศาะฮาบะฮ์ทราบหรือไม่ว่ามุศฮัฟฟาฏิมะฮ์มีอยู่จริง? หากท่านนบี(ซ.ล.)ไม่ทราบเรื่องนี้ เหตุใดอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านจึงทราบ แต่ท่านกลับไม่ทราบทั้งที่เป็นศาสดา? แต่ถ้าท่านทราบเรื่องนี้ เหตุใดจึงปกปิดอุมมัตของท่าน ทั้งที่อัลลอฮ์ตรัสว่า "โอ้ศาสนทูต จงเผยแพร่สิ่งที่ประทานแก่เจ้าจากพระผู้อภิบาลของเจ้า(อย่างสมบูรณ์) มาตรว่าเจ้าไม่ปฏิบัติ เท่ากับว่ามิได้ปฏิบัติภารกิจใดๆที่ได้รับจากพระองค์เลย"
มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ เป็นชื่อหนังสือที่บันทึกโดยท่านอิมามอลี(อ.)ภายหลังนบีวะฝาตไปแล้ว เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เป็นข้อมูลที่ญิบรออีลหรือมะลาอิกะฮ์องค์หนึ่งถ่ายทอดแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต ตลอดจนความเร้นลับของอาลิมุฮัมมัด(ซ.ล.) หนังสือเล่มนี้ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของตำแหน่งอิมาม และเป็นมรดกตกทอดระหว่างอิมาม ปัจจุบันอยู่ในครอบครองของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)
เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นหลังท่านนบี(ซ.ล.) จึงไม่มีฮะดีษใดๆจากนบีเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มิได้หมายความว่าท่านจะไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะเราเชื่อว่าท่านสามารถหยั่งรู้อนาคตได้ด้วยอิทธิฤทธิ์แห่งอัลลอฮ์ อย่างไรก็ดี เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งอิมามเท่านั้น บุคคลทั่วไปจึงไม่อาจจะล่วงรู้เนื้อหาภายในได้
มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์คืออะไร?
มุศฮัฟแปลว่าเอกสารชุดที่มีการรวมเล่มขนาบด้วยปกสองด้าน ฉะนั้นจึงสามารถเรียกหนังสือทั่วไปว่ามุศฮัฟได้ บรรพชนมุสลิมยุคแรกก็เรียกกุรอานว่ามุศฮัฟ[1]
ตำราอิสลามมีการกล่าวถึงหนังสือที่บรรดามะอ์ศูมีนครอบครองเป็นการเฉพาะ บุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มเดียวที่รู้ถึงเนื้อหาภายใน หนังสือเหล่านี้อาทิเช่น กิตาบอลี(อ.), มุศฮัฟอลี(อ.) และมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์(อ.)
แหล่งอ้างอิงบางเล่มเรียกหนังสือเล่มท้ายสุดว่ามุศฮัฟฟาฏิมะฮ์, เศาะฮีฟะฮ์ ฟาฏิมะฮ์, กิตาบฟาฏิมะฮ์[2] อย่างไรก็ดี มีรายงานไม่น้อยที่กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ บางรายงานไม่น่าเชื่อถือนัก แต่บางรายงานมีสายรายงานที่เศาะฮี้ห์ ทำให้พอจะมั่นใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้มีจริง แม้แต่ละรายงานจะแตกต่างกันเกี่ยวกับรายละเอียดปลีกย่อยของหนังสือก็ตาม
มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์บันทึกอย่างไร?
ภายหลังการวะฝาตของท่านนบี(ซ.ล.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บุตรีของท่านระทมทุกข์ด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง การจากไปของบิดายังความทุกข์โศกอย่างหนักแก่เธอ
มีฮะดีษที่น่าเชื่อถือรายงานว่า มีมะลาอิกะฮ์องค์หนึ่งได้รับภารกิจให้ลงมาปลอบโยนเธอตั้งแต่หลังนบีวะฝาตจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเธอ บางฮะดีษระบุว่ามะลาอิกะฮ์องค์นี้ก็คือญิบรออีล[3] ซึ่งได้แจ้งความเป็นอยู่ของท่านนบี(ซ.ล.)ในอาลัมบัรซัค ตลอดจนเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้มีฮะดีษจากท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า
"หลังจากท่านนบี(ซ.ล.)วะฝาตไป ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์โศกสลดต่อการสูญเสียบิดาเป็นอย่างยิ่ง อัลลอฮ์เท่านั้นที่ทรงทราบขีดความทุกข์ระทมของเธอ พระองค์จึงส่งมะลาอิกะฮ์องค์หนึ่งมาเพื่อปลอบโยนเธอให้คลายความเศร้าตรม ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)ได้เล่าให้ท่านอิมามอลี(อ.)ทราบ และท่านอิมามอลี(อ.)ได้จดบันทึกไว้ นี่คือที่มาของการเรียบเรียงมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์"[4]
จากฮะดีษข้างต้นทำให้ทราบว่า มุศฮัฟนี้เรียบเรียงขึ้นโดยท่านอิมามอลี(อ.)ภายหลังนบี(ซ.ล.)วะฝาต มีเนื้อหาเป็นถ้อยคำของมะลาอิกะฮ์ที่กล่าวแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) อย่างไรก็ดี ฮะดีษอีกชุดหนึ่งซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าฮะดีษชุดข้างต้นระบุว่ามุศฮัฟนี้บันทึกในสมัยที่ท่านนบี(ซ.ล.)ยังมีชีวิตอยู่ โดยซัยยิด ญะฟัร มุรตะฎอ อามิลี ได้พยายามรวมสองทัศนะเข้าด้วยกันว่า อาจจะเริ่มบันทึกตั้งแต่สมัยท่านนบี(ซ.ล.)และดำเนินเรื่อยมาแม้หลังนบีวะฝาตก็เป็นได้[5]
ประเด็นการสนทนาระหว่างมะลาอิกะฮ์กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ไม่ไช่เรื่องเหลือเชื่อ กุรอานก็กล่าวไว้ว่า "และเมื่อมวลมะลาอิกะฮ์กล่าวว่า โอ้มัรยัม อัลลอฮ์ทรงเลือกสรรเธอ และชำระเธอ และคัดเลือกเธอให้เหนือกว่าเหล่าอิสตรี"[6] ท่านหญิงมัรยัมได้รับเกียรติถึงเพียงนี้เพราะเป็นนายหญิงของอิสตรีในยุคของนาง ฉะนั้นจึงไม่ไช่เรื่องแปลกที่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ผู้เป็นประมุขหญิงของเหล่าอิสตรีนับแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้ายจะได้รับเกียรติเช่นนี้เช่นกัน
เนื้อหาของมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์(อ.)
เมื่อพิจารณาถึงฮะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้สามารถจำแนกเนื้อหาของมุศฮัฟได้ดังนี้
1. เรื่องราวในอนาคต[7]
2. คำสั่งเสียของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์[8]
3. รายนามของผู้ที่จะขึ้นครองอำนาจจวบจนถึงวันกิยามะฮ์[9]
4. ข่าวคราวเกี่ยวกับบุตรหลานของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์[10]
5. ข่าวคราวเกี่ยวกับท่านนบี(ซ.ล.)ภายหลังจากวะฝาต[11]
ตัวอย่างฮะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้:
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)มีชีวิตอยู่ภายหลังท่านนบี(ซ.ล.)เพียง 75 วัน ระหว่างนี้เธอโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อการจากไปของผู้เป็นบิดา ช่วงเวลานี้เองที่ญิบรออีล(อ.)หมั่นมาเยี่ยมเยียนเธอ และแสดงความเสียใจตลอดจนปลอบประโลมเธอให้คลายความเศร้าหมอง โดยได้เล่าความเป็นอยู่ของท่านนบี(ซ.ล.)และสถานะของท่านในอาลัมบัรซัค อีกทั้งเล่าความเป็นไปของบุตรหลานของนางในอนาคต โดยที่อิมามอลี(อ.)ได้จดบันทึกคำบอกเล่าดังกล่าวไว้ กระทั่งเรียบเรียงเป็นมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์"[12]
บรรดาอิมาม(อ.)เน้นย้ำถึงความแตกต่างระหว่างกุรอานและมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์
เมื่อพิจารณาฮะดีษบางบท ทำให้เข้าใจว่าพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์รู้จักมุศฮัฟนี้ตั้งแต่ยุคแรกๆ โดยคิดไปว่าชีอะฮ์เชื่อว่า โองการกุรอานที่ถูกบิดเบือนและตัดทอนออกไปได้รับการรวบรวมไว้ในมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ ด้วยเหตุนี้ บรรดาอิมาม(อ.)จึงปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มีโองการกุรอานใดๆอยู่ในมุศฮัฟนี้[13] อัลลามะฮ์ อัสกะรี กล่าวว่า "นักเขียนชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์บางท่านได้ใส่ใคล้ผู้เลื่อมใสในสายธารอะฮ์ลุลบัยต์ว่ามีกุรอานอีกเล่มหนึ่งนามว่า มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากตำราเล่มนี้ชื่อมุศฮัฟ ซึ่งไปพ้องกับที่มุสลิมในยุคแรกเรียกกุรอานว่ามุศฮัฟ"[14] มีฮะดีษจากอิมามศอดิก(อ.)ระบุว่า "ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์อยู่ ณ เรา ซึ่งไม่มีโองการกุรอานในนี้เลยแม้แต่โองการเดียว"[15]
สัญลักษณ์แห่งอิมามัต
มีฮะดีษที่ค่อนข้างยาวจากอิมามริฎอ(อ.)กล่าวถึงสัญลักษณ์ของอิมามว่า "สัญลักษณ์หนึ่งของอิมามก็คือการมีมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ไว้ในครอบครอง"[16] ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า "ก่อนที่ท่านอิมามบากิร(อ.)จะเป็นชะฮีดนั้น ท่านได้มอบมุศฮัฟฟาฏิมะฮ์แก่ฉัน"[17]
มุศฮัฟนี้ส่งทอดกันมาระหว่างอิมามจากรุ่นสู่รุ่น และปัจจุบันอยู่ในครอบครองของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ.)
ท่านนบี(ซ.ล.)ทราบเกี่ยวกับมุศฮัฟหรือไม่?
เนื่องจากฮะดีษมากมายระบุว่ามุศฮัฟฟาฏิมะฮ์(อ.)เรียบเรียงขึ้นในยุคอิมามอลี(อ.)ภายหลังนบี(ซ.ล.)วะฝาตไปแล้ว จึงไม่มีการเอ่ยถึงมุศฮัฟดังกล่าวในวจนะของท่านนบี(ซ.ล.) อย่างไรก็ดี มิได้หมายความว่าท่านไม่อาจจะล่วงรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเราเชื่อว่าท่านนบี(ซ.ล.)มีความสามารถที่จะทราบเรื่องราวในอนาคตด้วยพลานุภาพจากอัลลอฮ์ กุรอานระบุว่าท่านเป็นประจักษ์พยานที่สามารถล่วงรู้การทุกกระทำและเหตุการณ์ได้ สรุปคือ มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์คือหนึ่งในสัญลักษณ์ของอิมาม และอิมามเท่านั้นที่มีสิทธิ์ครอบครอง
อย่างไรก็ดี หากเป็นไปตามเนื้อหาของฮะดีษบางบทที่ระบุว่ามุศฮัฟมีมาตั้งแต่สมัยท่านนบี(ซ.ล.)และเรียบเรียงขึ้นโดยคำบอกเล่าของท่าน แน่นอนว่าท่านย่อมทราบเรื่องนี้ดี
ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์มิไช่โองการกุรอาน ที่ท่านนบี(ซ.ล.)จะมีหน้าที่ต้องเผยแพร่เนื้อหาให้สาธารณชนทราบ อีกทั้งท่านนบี(ซ.ล.)เองก็ไม่มีโอกาสจะสอนสั่งทุกสิ่งทุกอย่างในช่วงชีวิตของท่าน ทำให้ต้องส่งมอบภารกิจเหล่านี้แก่วงศ์วานของท่านแทน[18] ฉะนั้น การที่ท่านนบี(ซ.ล.)มิได้แจ้งเกี่ยวกับมุศฮัฟให้ประชาชาติของท่านทราบ ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้
[1] ลิซานุ้ลอรับ,เล่ม 9,หน้า186
[2] อิบนิ บาบะวัยฮ์,อัลอิมามะฮ์วัลตั้บศิเราะฮ์,หน้า12
[3] อัลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 241
[4] เพิ่งอ้าง,เล่ม 1,หน้า 238
[5] ซัยยิดญะฟัร มุรตะฎอ,ค็อลฟีย้าต กิตาบ มะอ์ซาตุซซะฮ์รออ์,เล่ม 6,หน้า 57-58
[6] ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน, 42
[7] อัลอิห์ติญ้าจ,เล่ม 2,หน้า 134
[8] เพิ่งอ้าง,เล่ม 1,หน้า 241
[9] เพิ่งอ้าง,เล่ม 2,หน้า 134
[10] อัลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 241
[11] เพิ่งอ้าง
[12] เพิ่งอ้าง
[13] มัฆนียะฮ์,มุฮัมมัด ญะว้าด,อัชชีอะฮ์ ฟิ้ลมีซาน,หน้า 61
[14] มะอาลิมุ้ลมัดเราะสะตัยน์,เล่ม 2,หน้า 32
[15] อัลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 238
[16] มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกี้ฮ์,เล่ม 4,หน้า 419
[17] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 26,หน้า 47
[18] ดังที่ปรากฏในฮะดีษษะเกาะลัยน์อันน่าเชื่อถือ.« إِنِّی تَارِکٌ فِیکُمُ الثَّقَلَیْنِ مَا إِنْ تَمَسَّکْتُمْ بِهِمَا لَنْ تَضِلُّوا کِتَابَ اللَّهِ وَ عِتْرَتِی أَهْلَ بَیْتِی وَ إِنَّهُمَا لَنْ یَفْتَرِقَا حَتَّى یَرِدَا عَلَیَّ الْحَوْضَ วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 27,หน้า 33