Please Wait
7385
ส่วนในนะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์เล่าว่า ท่านอิมามอลี(อ.)รำพึงรำพันถึงท่านนบี(ซ.ล.)ภายหลังท่านนบีวะฝาตว่า "มาตรว่าท่านมิได้ยับยั้งมิให้อุมมัตแสดงอาการโอดครวญ และมิได้สั่งให้อดทนแล้วไซร้ ฉันจะร่ำไห้แก่ท่านกระทั่งน้ำตาหยดสุดท้าย"
นอกจากนี้ท่านอิมามอลี(อ.)ยังกล่าวไว้ในนะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์ว่า "ผู้ใดที่ตบที่ขาอ่อนตนเองเพื่อแสดงความละเหี่ยใจขณะมีภัยมา อะมั้ลของเขาจะพินาศสิ้น"
ผู้ประพันธ์หนังสือมุนตะฮั้ลอามาล รายงานว่าอิมามฮุเซนกล่าวแก่ท่านหญิงซัยนับในสมรภูมิกัรบะลาว่า "โอ้น้องพี่ พี่ขอร้องว่าอย่าเผลอฉีกอาภรณ์หลังพี่ถูกสังหาร อย่าข่วนใบหน้าตนเอง อย่ากรีดร้องโอดครวญ"
อบูญะฟัร กุมีรายงานว่า ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวแก่มิตรสหายว่า لَا تَلْبَسُوا السَّوَادَ فَإِنَّهُ لِبَاسُ فِرْعَوْنَ
"จงอย่าสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ เพราะนั่นเป็นอาภรณ์ของฟาโรห์"
หนังสือตัฟซี้ร ศอฟีกล่าวไว้ว่า "ท่านนบี(ซ.ล.)รับสัตยาบันของเหล่าสตรีด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องไม่นุ่งห่มดำ และจะต้องไม่ฉีกเสื้อผ้าและกรีดร้องฟูมฟาย(ยามทุกข์โศก)"
หนังสือ ฟุรู้อ์ กาฟีย์เขียนไว้ว่า ท่านนบีได้สั่งเสียแก่ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ว่า "เมื่อพ่อจากไป จงอย่าข่วนใบหน้าเป็นแผล จงอย่าทำให้ผมเผ้ารุงรัง จงอย่ากรีดร้องฟูมฟาย และจงอย่าจัดให้มีหญิงร่ายโศกคนใดมาร่ายบทโศกให้พ่อ"
เชคมุฮัมมัด บิน ฮุเซน บิน บาบะวัยฮ์ กุมี ซึ่งชีอะฮ์เรียกขานว่า "เชคศ่อดู้ก" กล่าวไว้ว่า "หนึ่งในวจนะที่ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวไว้เป็นคนแรกก็คือ การขับบทโศกถือเป็นกิจกรรมของญาฮิลียะฮ์(ยุคอวิชชา)"
นอกจากนี้ อุละมาอ์ชีอะฮ์อย่างมัจลิซี นูรี และบุรูเญรดี ต่างรายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)ไว้ว่า "มีสองเสียงที่พระองค์ไม่ทรงโปรด นั่นคือเสียงกรีดร้องฟูมฟายยามทุกข์ระทม และเสียงดนตรีและการขับร้อง"
ด้วยกับฮะดีษทั้งหมดที่ยกมา คำถามก็คือ เหตุใดชีอะฮ์จึงเพิกเฉยต่อคำสอนดังกล่าว? เราควรจะเชื่อฟังผู้ใด? วจนะของท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.) หรือคำพูดของอุละมาอ์ยุคปัจจุบันของชีอะฮ์?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่อไปนี้:
1. ไม่ไช่ว่าฮะดีษทุกบทจะเชื่อถือได้ทั้งหมด
2. ต้องคำนึงเสมอว่าปัจจัยกาลเวลาและสถานที่มีอิทธิพลต่อฮุก่ม(กฎศาสนา)
3. ในจำนวนฮุก่มทั้งหมด มีฮุก่มวาญิบและฮะรอมเท่านั้นที่มีความอ่อนไหว
4. จะต้องพิจารณาแหล่งอ้างอิงให้ถี่ถ้วน ตัวอย่างเช่น กรณีของการร้องไห้นั้น ยังมีข้อถกเถียงกันได้ เพราะแม้ว่าวะฮาบีจะฟัตวาห้ามร้องไห้แก่ผู้ตาย แต่ในแง่สติปัญญาแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ฮะดีษทั้งสายซุนหนี่และชีอะฮ์ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่ท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)ร้องไห้ให้กับผู้ตายหรือบรรดาชะฮีดเช่นท่านฮัมซะฮ์ หรือมารดาท่านนบี(ซ.ล.) ตลอดจนกรณีอื่นๆอีกมาก
5. อุละมาอ์และผู้รู้ระดับสูงสอนว่า มีบางพฤติกรรมที่ผู้ไว้อาลัยไม่ควรกระทำ ซึ่งบางกรณีอาจทำให้ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ด้วย ฉะนั้น จะต้องแยกแยะระหว่างพฤติกรรมที่ผิดหลักศาสนาของผู้คนที่ไม่รู้ศาสนา กับคำสอนที่แท้จริงของอิสลามและบรรดาอุละมาอ์
เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสมจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่อไปนี้:
ฮะดีษที่มีอยู่ในตำราทั่วไป เชื่อถือได้ทั้งหมดหรือไม่?
ต้องเรียนว่าการจะเชื่อถือฮะดีษบทใดนั้น จะต้องพิจารณาทั้งในแง่สายรายงานและเนื้อหาเสียก่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญอิสลามหรือที่เรียกกันว่า"ฟะกีฮ์"หรือ"มุจตะฮิด"
แต่ก็ต้องคำนึงว่า แม้ฮะดีษใดจะถือเป็นฮะดีษเศาะฮี้ห์แล้วก็ตาม หากพบว่ามีฮะดีษเศาะฮี้ห์บทอื่นที่มีเนื้อหาไม่ตรงกัน ก็ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว การศึกษากุรอานและฮะดีษก็มีส่วนคล้ายการใช้คอมพิวเตอร์อยู่เหมือนกัน ปุ่มคีย์บอร์ดบางปุ่มสั่งการได้เลย แต่บางปุ่มต้องกดพร้อมกันสองหรือสามปุ่มพร้อมกัน การจะเริ่มโปรแกรมใดๆสามารถกดปุ่ม Enter เพียงปุ่มเดียว แต่การทำงานบางส่วนอาจต้องกดหลายปุ่มพร้อมกัน
กรณีกุรอานและฮะดีษก็เช่นเดียวกัน บางประเด็นได้ข้อสรุปด้วยโองการหรือฮะดีษเพียงบทเดียว แต่บางครั้งจะต้องนำมาเทียบเคียงกันมากกว่าสองบทขึ้นไป ยกตัวอย่างกรณีของนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ที่มีอยู่ว่า ท่านอิมามอลีกล่าวขณะกำลังอาบน้ำมัยยิตท่านนบี(ซ.ล.)ว่า "มาตรว่าท่านมิได้ยับยั้งมิให้อุมมัตแสดงอาการโอดครวญ และมิได้สั่งให้อดทนแล้วไซร้ ฉันจะร่ำไห้แก่ท่านกระทั่งน้ำตาหยดสุดท้าย ความปวดร้าวนี้จะอยู่ในใจฉันตลอดไป ความระทมจะตรึงอยู่ตลอดกาล เหล่านี้ทั้งหมดเป็นเพียงเศษเสี้ยวของการจากไปของท่าน"[1]
ในขณะที่อีกแห่งหนึ่งท่านกล่าวขณะฝังร่างท่านนบี(ซ.ล.)ว่า "แท้จริงการอดกลั้นเป็นสิ่งดี เว้นแต่สำหรับความโศกต่อการจากไปของท่าน การคร่ำครวญเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เว้นแต่สำหรับความระทมต่อการสิ้นชีพตักษัยของท่าน โศกนาฏกรรมก่อนและหลังจากการจากไปของท่านช่างเล็กน้อยนัก"[2]
ส่วนประเด็นเสื้อผ้าสีดำ มีฮะดีษหลายบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในนั้นกล่าวว่า "ท่านอิมามอลีกล่าวว่า พึงหลีกเลี่ยงอาภรณ์สีดำเถิด เพราะนั่นเป็นอาภรณ์ของฟาโรห์"[3]
อีกฮะดีษหนึ่งรายงานจากท่านอิมามศอดิก(อ.)ว่า "ท่านนบี(ซ.ล.)ไม่โปรดเสื้อฟ้าสีดำนอกจากสามสิ่ง ผ้าโพกหัว รองเท้า และผ้าคลุมกาย"[4]
2. ต้องคำนึงเสมอว่าปัจจัยกาลเวลาและสถานที่หรือ สถานะษานะวี(ต่างกรรมต่างวาระ)นั้น มีอิทธิพลต่อฮุก่มเสมอ ดังที่บรรดาอุละมาอ์ระดับสูงอย่างเช่นท่านอิมามโคมัยนีได้อธิบายไว้ ยุคของท่านนบีก็มีเหตุการณ์เช่นนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นประเด็นการเยี่ยมเยียนสุสาน ซึ่งผู้รู้ระดับสูงฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์เองก็รายงานไว้ว่าท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ฉันเคยระงับพวกท่านมิให้เยี่ยมเยียนสุสาน แต่บัดนี้จงไปเยี่ยมเยียนเถิด เพราะการเยี่ยมเยียนสุสานจะทำให้เป็นผู้สมถะในโลกนี้และทำให้รำลึกถึงอาคิเราะฮ์"[5]
อนึ่ง ยังมีหลักฐานจากกุรอานและฮะดีษอีกมากมายที่ระบุว่าสามารถเยี่ยมเยียนสุสานได้ แต่ไม่ขอนำเสนอเพราะเป็นเรื่องนอกประเด็น
ประเด็นของเราคือการสวมชุดดำ บรรดาอุละมาอ์ได้ให้ทัศนะไว้ว่า "สมมติว่าฮุก่มเบื้องแรกของการสวมใส่เสื้อผ้าสีดำคือ มักรู้ฮ์ (น่ารังเกียจ) แต่ปัจจุบันการกระทำดังกล่าวกลายเป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรติปูชณียบุคคลทางศาสนาไปแล้ว ทำให้ต้องฮุก่มเดิมแปรมาเป็นฮุก่มษานะวี(ฮุก่มที่เปลี่ยนไปตามตัวแปรที่เกิดขึ้น) ส่งผลให้ไม่เหมาะสมนักหากจะกลับไปใช้ฮุก่มเดิม
เป็นที่ทราบดีว่า ในหมู่ฮุก่มทั้งห้าประการ(วาญิบ,มุสตะฮับ,มุบาห์,มักรู้ฮ์,ฮะรอม)นั้น ฮุก่มวาญิบ(คำสั่งให้ปฏิบัติ)และฮุก่มฮะรอม(คำสั่งห้าม)ถือเป็นสองขั้วที่สำคัญที่สุด ที่เหลือสามประการไม่ไช่ภาคบังคับแต่อย่างใด ต้องคำนึงว่าตัวอย่างแต่ละกรณีที่ยกมาในคำถามมีฮุก่มที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะอธิบายในภายหลัง
ส่วนที่ตั้งปริศนาว่าควรเชื่อฟังนบี(ซ.ล.)และอิมาม(อ.)หรือจะเชื่อฟังอุละมายุคปัจจุบันมากกว่ากันนั้น มีประเด็นที่ต้องหยิบมาพูดคุยกันดังนี้
ก. การร้องไห้ในปริทรรศน์ปัญญาและวิทยาศาสตร์
มนุษย์มักจะมีอากัปกริยาที่แตกต่างกันออกไปตามปัจจัยต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสามัญ บางครั้งหัวเราะชอบใจ แต่บางครั้งก็ร้องไห้เสียใจ
การร้องไห้ถือเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตมนุษย์ ซึ่งหากเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
การร้องไห้ในสถานการณ์ตึงเครียด จะช่วยระบายความอัดอั้นและความทุกข์ระทมได้เป็นอย่างดี
บางครั้งการร้องไห้ก็ช่วยชำระจิตใจให้ผ่องใสและพร้อมที่จะกลับตัวกลับใจ เพื่อเริ่มขัดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์
การร้องไห้แก่ผู้ถูกกดขี่ถือเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ทางอารมณ์ และเป็นการคัดค้านผู้กดขี่
การร้องไห้มีคุณประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพกาย จิตใจ และมีผลทางการเมืองในบางกรณี
กรณีการร้องไห้ถึงคนที่ล่วงลับไปแล้วก็เช่นกัน เมื่อเราสูญเสียคนที่เรารักก็ย่อมจะหดหู่และเสียใจ อันเป็นเหตุให้น้ำตาใหลเป็นธรรมดา ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมชาติซึ่งอิสลามในฐานะที่เป็นศาสนาแห่งสัญชาตญาณมนุษย์ก็มิได้ขัดขวางแต่อย่างใด
ข. การร้องไห้ในทัศนะอิสลาม
1. ในมุมมองของกุรอาน
ซูเราะฮ์ยูซุฟเล่าว่าท่านนบียะอ์กู้บร้องไห้หนักถึงขั้นที่สูญเสียการมองเห็น[6]
อย่างไรก็ดี กรณีนี้หาได้ขัดต่อการอดทนไม่ แต่เนื่องจากหัวใจของบรรดานบีเปี่ยมด้วยเมตตาธรรม จึงไม่แปลกที่จะร่ำให้ต่อการพรากจากบุตรชายประดุจสายน้ำอันเชี่ยวกราก เพียงแต่จะต้องควบคุมตนเองให้ได้ด้วยการไม่ปฏิบัติหรือกล่าวสิ่งใดที่ขัดต่อความพอพระทัยของอัลลอฮ์
2. เกี่ยวกับวัตรปฏิบัติของท่านนบี(ซ.ล.)และอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)เกี่ยวกับการร้องไห้ต่อผู้ล่วงลับนั้น ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันทางวิชาการ หากพิจารณาในแง่ประวัติศาสตร์แล้วก็จะพบว่าหาได้เป็นอย่างที่วะฮาบีกล่าวอ้างไม่(ร้องไห้เป็นฮะรอม) เนื่องจากท่านนบีและเหล่าสาวกของท่านต่างก็เคยมีพฤติกรรมดังกล่าวอันสอดคล้องกับสัญชาตณาณมนุษย์ทั่วไป ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ท่านนบี(ซ.ล.)หลั่งน้ำตาต่อการสูญเสียบุตรชายนามอิบรอฮีม เมื่อมีผู้ติติงท่าน ท่านนบี(ซ.ล.)ตอบว่า "ดวงตาร่ำไห้ และหัวใจโศกสลด ทว่าฉันไม่พูดในสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงกริ้ว"[7]
อีกเหตุการณ์หนึ่งท่านกล่าวว่า "นี่หาไช่การร้องไห้อันเกิดจากความอ่อนแอ แต่เป็นเมตตาธรรม"
เสมือนต้องการจะกล่าวว่าสิ่งที่อยู่ในทรวงอกมนุษย์คือหัวใจ มิไช่ก้อนหิน จึงเป็นธรรมดาที่จะมีปฏิกริยาต่อเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งจะเผยออกมาในรูปของน้ำตา นี่ไม่ไช่จุดอ่อนแต่เป็นจุดเด่น การพูดวาจาที่พระองค์กริ้วต่างหากที่เป็นจุดอ่อน[8]
อีกเหตุการณ์หนึ่งก็คือกรณีโศกนาฏกรรมของท่านฮัมซะฮ์ รายงานกันว่าหลังจากที่ท่านฮัมซะฮ์เป็นชะฮีดในสมรภูมิอุฮุด น้องสาวของท่านนาม "เศาะฟียะฮ์"ได้ตามหาท่านนบี(ซ.ล.) เมื่อพบแล้ว ท่านนบีได้กล่าวแก่ชาวอันศ้อรว่า "จงปล่อยเธอเถิด" เศาะฟียะฮ์ได้นั่งลงใกล้ท่านนบี(บางรายงานกล่าวว่านั่งใกล้ศพพี่ชาย)แล้วร่ำไห้ ทุกครั้งที่เสียงร่ำไห้ของนางดัง เสียงร่ำไห้ของท่านนบีก็ดังตามไปด้วย และทุกครั้งที่นางร่ำไห้เสียงค่อย ท่านนบีก็เสียงค่อยด้วย ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)ก็ร้องไห้พร้อมกับท่านนบี(ซ.ล.) โดยท่านนบีกล่าวว่า "จะไม่มีผู้ใดเผชิญความปวดร้าวอย่างเธออีกแล้ว"[9]
บางรายงานระบุว่า ภายหลังสงครามอุฮุด เมื่อท่านนบีเห็นว่าทุกบ้านมีเสียงร้องไห้ให้กับชะฮีดในครอบครัวตนเอง ท่านกล่าวขึ้นว่า "ไร้ผู้ใดร่ำไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์" ท่านสะอด์ บิน มุอาซได้ยินเช่นนี้จึงชักชวนให้สตรีเผ่าบนี อับดุลอัชฮั้ลมาร้องไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ นับแต่นั้นมา ทุกครั้งที่สตรีชาวอันศ้อรจะร้องไห้ให้กับคนในครอบครัวของตน จะร้องไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ก่อนเสมอ[10]
จากจุดนี้ทำให้ทราบว่าไม่เพียงแต่ท่านนบี(ซ,ล.)ร่ำไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ แต่ยังประหนึ่งว่ารณรงค์ให้สตรีชาวอันศ้อรร่ำไห้ร่วมไปด้วย
รายงานว่าเมื่อท่านนบี(ซ.ล.)เยี่ยมเยียนสุสานของมารดา ท่านจะร่ำไห้อย่างหนัก กระทั่งสาวกที่รายล้อมอยู่ร่ำไห้ตามไปด้วย[11]
เกี่ยวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ มีรายงานดังต่อไปนี้
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)ร่ำไห้ต่อการจากไปของท่านนบี(ซ.ล.)และพร่ำรำพันว่า "โอ้พ่อจ๋า พ่อสถิตใกล้ชิดพระองค์ พ่อรับคำเชื้อเชิญของพระองค์ และ ณ บัดนี้ พ่อจะประทับอยู่ในวิมานแห่งฟิรเดาส์"[12]
ยังมีตัวอย่างอีกมากมายเกี่ยวกับการร่ำไห้ของท่านนบี(ซ.ล.) ตลอดจนบุตรหลานและมิตรสหายของท่าน แต่เพื่อมิให้เยิ่นเย้อจึงยกมาเพียงเท่านี้
ค. จริงหรือไม่ที่บรรดาฟุก่อฮาและผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาอนุโลมให้ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ในการไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับหรือเมื่อประสบภัยพิบัติและโศกนาฏกรรม? ขอหยิบยกทัศนะของผู้รู้บางท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้มานำเสนอดังต่อไปนี้
การร้องไห้ให้กับผู้ตายถือว่าอนุญาต โดยหากเป็นไปเพื่อระบายความทุกข์ที่อัดอั้นในทรวงก็ถือว่ามุสตะฮับ แต่จะต้องไม่เอ่ยคำพูดที่ทำให้พระองค์ทรงกริ้ว นอกจากนี้ การอ่านบทโศกก็ดี ร้อยแก้วหรือร้อยกรองก็ดี หากไม่มีเนื้อหาที่โมฆะ อาทิเช่น การโกหกหรือถ้อยคำต้องห้ามอื่นๆ ก็ถือว่ากระทำได้ เอียะฮ์ติยาฏวาญิบ(พึงระวัง)ไม่ให้มีคำที่ส่อไปในการตัดพ้อโอดครวญเกินเหตุ และเอียะห์ติยาฏวาญิบไม่ให้ข่วนหน้า หรือจิกผมตนเอง หรือตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ซึ่งบางกรณีจะทำให้มีภาระต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮ์(สินไหม)อีกด้วย [13]
จึงกล่าวได้ว่าบรรดาอุละมาอ์ระดับสูงของฝ่ายชีอะฮ์มีความเห็นสอดคล้องกับฮะดีษและวัตรปฏิบัติของบรรพชนอิสลามทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี อุละมาอ์ทุกฝ่ายต่างยึดถือคำแนะนำของอิสลาม โดยถือว่าการอดทนเป็นคุณค่าอันสูงส่งและกำชับให้ถือปฏิบัติในยามประสบภัยพิบัติและการสูญเสียเพื่อจะได้รับผลบุญอันมหาศาลจากพระองค์
ฉะนั้น สิ่งแรกที่มุสลิมพึงกระทำเมื่อต้องประสบกับภัยพิบัตินานาชนิดก็คือ อดทนเข้าไว้ ซึ่งหากจะร้องไห้ก็ไม่ไช่เรื่องเสียหายอะไร แต่จะต้องไม่แสดงพฤติกรรมบางอย่าง อาทิเช่น ข่วนใบหน้าตนเอง ตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ดึงผม ฯลฯ ซึ่งถือว่าขัดต่อคำสอนของอิสลามและอุละมาอ์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ตั้งคำถามข้างต้นควรจะปรับทัศนคติให้ถูกต้อง
ง. ประเด็นสำคัญก็คือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลากหลายแง่มุม โดยแต่ละแง่มุมมีปฏิกริยาต่อกัน ศาสนาเล็งเห็นความสำคัญทางจิตวิทยาในจุดนี้จึงได้ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมศาสนา เห็นได้จากการทีท่านนบี(ซ.ล.)รณรงค์ให้ร่ำไห้ให้กับท่านฮัมซะฮ์ โดยตัวท่าน(ซ.ล.)เองก็ร่ำไห้ด้วย ด้วยเหตุนี้ บรรดาอิมาม(อ.)จึงได้รณรงค์ให้มีการไว้อาลัยแด่อิมามฮุเซน(อ.)ในฐานะประมุขแห่งบรรดาชะฮีด[14]
เรื่องที่เกี่ยวข้อง: การร่ำไห้ของผู้เยี่ยมเยียนสุสานบะกี้อ์, คำถามที่ 171
[1] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,ดัชตี,ฮิกมัตที่ 235
[2] เพิ่งอ้าง,ฮิกมัตที่ 292
[3] เชคศ่อดู้ก,อิละลุชชะรอยิอ์,เล่ม 2,หน้า 347
[4] เพิ่งอ้าง
[5] สุนัน อิบนิมาญะฮ์,เล่ม 1,หน้า 144
[6] ซูเราะฮ์ยูซุฟ, 84
[7] กาฟีย์,เล่ม 3,หน้า 262
[8] ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 9,หน้า 352
[9] มักรีซี,อัลอัสมาอ์, หน้า 154
[10] อิบนิสะอ์ด,เฏาะบะกอตุลกุบรอ,เล่ม 3,หน้า 11 และ มุสนัดอะหมัด,เล่ม 2,หน้า 129
[11] อ.ญะฟัร ซุบฮานี, นำทางสู่สัจธรรม,หน้า 231
[12] เพิ่งอ้าง,หน้า 232
[13] อิมามโคมัยนี,ตะห์รีรุ้ลวะซีละฮ์,เล่ม 1,หน้า 93
[14] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 44,หน้า 292