Please Wait
10521
ตามหลัก “لا شکّ لکثیر الشک”แล้ว ผู้ที่ชอบย้ำคิดย้ำทำ(ช่างสงสัย) ไม่ควรให้ความสำคัญแก่การสงสัยของตน อุละมาส่วนใหญ่เชื่อว่าหลักการนี้มิได้จำกัดเฉพาะกรณีการนมาซเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอะมั้ลที่กระทำก่อนนมาซ อาทิเช่น การอาบน้ำนมาซ, ฆุสุลและตะยัมมุม, อีกทั้งรวมไปถึงชุดอิบาดะฮ์อย่างเช่นการทำฮัจย์ และครอบคลุมถึงการทำธุรกรรม และประเด็นความศรัทธาด้วย อุละมายกหลักฐานสนับสนุนทัศนะของตนอันได้แก่ หลักการ لا شکّ لکثیر الشک ซึ่งมีลักษณะตะอ์ลี้ลและสื่อถึงความครอบคลุมวงกว้าง แต่มีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นๆจะต้องมีคุณสมบัติเป็น “คนย้ำคิดย้ำทำ” และจะต้องเป็นการสงสัยที่เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำเท่านั้น ในลักษณะที่คนทั่วไปถือว่าเขาเป็นบุคคลย้ำคิดย้ำทำ ]
ตามหลัก “لا شکّ لکثیر الشک”แล้ว ผู้ที่ชอบย้ำคิดย้ำทำ(ช่างสงสัย) ไม่ควรให้ความสำคัญแก่การสงสัยของตน แต่ในประเด็นที่ว่าหลักดังกล่าวจะครอบคลุมถึงการกระทำที่มิไช่อิบาดะฮ์ อันได้แก่ธุรกรรมประเภทต่างๆ, สิทธิบุคคล และประเด็นความศรัทธาด้วยหรือไม่? เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายทัศนะด้วยกัน ได้แก่:
หนึ่ง. ทัศนะของฟุเกาะฮาส่วนใหญ่: นักนิติศาสตร์อิสลามส่วนใหญ่เชื่อว่ากฏดังกล่าวมิได้จำกัดเฉพาะกรณีการนมาซเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอะมั้ลที่กระทำก่อนนมาซ อาทิเช่น การอาบน้ำนมาซ, ฆุสุลและตะยัมมุม, อีกทั้งรวมไปถึงชุดอิบาดะฮ์อย่างเช่นการทำฮัจย์ และครอบคลุมถึงการทำธุรกรรม และประเด็นความศรัทธาด้วย อุละมายกหลักฐานสนับสนุนทัศนะของตนอันได้แก่ หลักการ لا شکّ لکثیر الشک ซึ่งมีลักษณะตะอ์ลี้ลและสื่อถึงความครอบคลุมวงกว้าง[1] แต่มีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นๆจะต้องมีคุณสมบัติเป็น “คนย้ำคิดย้ำทำ” และจะต้องเป็นการสงสัยที่เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำเท่านั้น ในลักษณะที่คนทั่วไปถือว่าเขาเป็นบุคคลย้ำคิดย้ำทำ ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวกันว่า
1. ไม่ควรสนใจการสงสัยที่เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ[2]
2. หากไปร่วมรับประทานอาหารที่บ้านผู้อื่นแล้วเกิดสงสัยบ่อยครั้งว่าอาหารฮาล้าลหรือไม่ ไม่ควรสนใจและให้ถือว่าฮาล้าล[3]
3. เกี่ยวกับสิทธิบุคคล “ฮักกุนนาส” ผู้ย้ำคิดย้ำทำไม่ควรสนใจข้อเคลือบแคลงของตน และให้ถือว่าการกระทำของตนถูกต้องแล้ว[4]
4. หน้าที่ของผู้ที่สงสัยทุกเรื่องไม่ว่าในเรื่องอิบาดะฮ์หรือประเด็นอื่นๆก็คือ หากมีคุณสมบัติเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ ก็ไม่ควรสนใจการสงสัยของตน[5]
5. ผู้ที่ศรัทธาในอัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.) ทว่ามักจะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นและเป็นเหตุให้ต้องศึกษาหาคำตอบนั้น ข้อสงสัยเหล่านี้มิได้ทำให้เขาตกเป็นกาเฟรและกลายเป็นนะญิสแต่อย่างใด[6]
สอง. ทัศนะของฟุเกาะฮาที่เหลือ: บางท่านเชื่อว่ากฏดังกล่าวมีไว้เฉพาะกรณีการนมาซเท่านั้น และไม่ครอบคลุมถึงประเด็นอื่นๆ โดยเชื่อว่าในประเด็นอื่นๆจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฏเฉพาะของแต่ละกรณี[7]
เราจะกล่าวถึงคุณลักษณะของการสงสัยดังต่อไปนี้
1. การสงสัย การกระซิบกระซาบ และความหวั่นไหวทางความคิด เกิดจากการยุแยงของชัยฏอน ในทางกลับกัน ความมั่นใจและยะกีนเกิดจากความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ชัยฏอนมักจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายหลากรูปแบบเพื่อชักนำให้บ่าวของพระองค์หลุดจากหนทางที่เที่ยงตรง และเนื่องจากชัยฏอนมีความเจ้าเล่ห์สูง จึงมักปรับใช้วิธีหลอกล่อให้ตรงกับจุดอ่อนของแต่ละคน วิธีต่อสู้กับการกระซิบกระซาบของชัยฏอนก็คือ การไม่ให้ราคาไดๆแก่พฤติกรรมของมัน ฉะนั้น เมื่อชัยฏอนชักนำให้มนุษย์คิดเรื่องอันเป็นโมฆะ ก็ควรหันไปสนใจเรื่องอื่นๆแทน
2. มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพทางความคิด จึงต้องไตร่ตรองค้นหาแนวทางสัจธรรมและยึดถืออย่างเคร่งครัด แน่นอนว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นมิได้หากปราศจากการพากเพียรทางปัญญาอย่างมีระบบ เพื่อให้สามารถค้นหาความหมายของโลก และบรรลุถึงฮะย้าต ฏ็อยยิบะฮ์ (ชีวิตอันเปี่ยมสุข)ได้ แต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าใดก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการขวนขวายหาปัญญาธรรม และเพื่อการนี้ จำเป็นต้องเสริมสร้างพื้นฐานความศรัทธาให้แน่นหนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อมิให้โครงสร้างทางปัญญาต้องเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนทางความคิดจนเสียหาย ในการเดินทางครั้งนี้ สถานีแรกก็คือการครุ่นคิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง และหาข้อสรุปเกี่ยวกับความหมายของโลกและมนุษย์ ระหว่างนี้ก็อาจจะมีข้อสงสัยเกิดขึ้นในใจบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเพียงแรงสั่นสะเทือนทางความคิด ซึ่งมิได้เป็นอันตรายเสมอไป ซ้ำบางครั้งยังสามารถจะเป็นช่องทางไปสู่ระดับขั้นที่สูงขึ้นไปก็เป็นได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องรีบผ่านขั้นตอนนี้ไปให้เร็วที่สุด เนื่องจากการหยุดอยู่ ณ สถานีแห่งการสงสัยเป็นอันตรายอย่างยิ่ง[8]
ท้ายนี้ขอนำเสนอคำตอบจากบรรดามัรญะตักลี้ดต่อข้อซักถามข้างต้นดังนี้[9]
อายะตุลลอฮ์ คอเมเนอี: ผู้ที่สงสัยบ่อย ถือเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ (กะษีรุชชักก์) ส่วนในกรณีนมาซ หากผู้ใดสงสัยถึงสามครั้งในนมาซครั้งเดียว หรือสงสัยในนมาซสามเวลาติดต่อกัน (อย่างเช่น นมาซศุบฮิ ซุฮ์ริ และอัศริ) ล้วนถือเป็นคนย้ำคิดย้ำทำทั้งสิ้น ตราบใดที่การสงสัยดังกล่าวมิได้เกิดจากความหวั่นวิตกใดๆ ก็จงอย่าให้ความสำคัญ และตราบใดที่คนย้ำคิดย้ำทำยังมิได้รู้สึกว่าตนเองกลับสู่สภาวะปกติแล้ว ก็ให้ปล่อยวางความสงสัยต่อไป
อายะตุลลอฮ์ มะการิม ชีรอซี: ฟัตวาของเราก็คือ กะษีรุชชักก์ หมายถึงผู้ที่สงสัยบ่อยนั้น ไม่ควรให้ความสนใจการสงสัยของตน ไม่ว่าจะสงสัยในจำนวนเราะกะอัต หรือส่วนอื่นของนมาซ หรือเงื่อนไขของนมาซ
คนย้ำคิดย้ำทำคือบุคคลที่สงสัยบ่อยในทัศนะของคนทั่วไป และหากสงสัยถึงสามครั้งในนมาซครั้งเดียว หรือสงสัยในนมาซสามเวลาติดต่อกัน ถือว่าเป็นคนย้ำคิดย้ำทำ
อายะตุลลอฮ์ ศอฟี โฆลพอยฆอนี: โดยทั่วไปแล้ว คนย้ำคิดย้ำทำไม่ควรให้ความสำคัญแก่การสงสัยของตนในประเด็นการนมาซ ไม่ว่าจะในเรื่องซิเกร หรือจำนวนเราะกะอัต หรือส่วนอื่นๆอย่างเช่นรุกั้วอ์และสุญูด
อายะตุลลอฮ์ ซีสตานี: ไช่แล้ว (ไม่ควรให้ความสนใจ)
อายะตุลลอฮ์ ฮาดะวี เตหรานี: ผู้ที่ย้ำคิดย้ำทำ ไม่ควรสนใจข้อสงสัยของตนเฉพาะกรณีที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำเท่านั้น ส่วนเรื่องอื่นๆที่มีอัตราการสงสัยในระดับปกติ ให้ปฏิบัติเสมือนบุคคลทั่วไปยามเกิดข้อสงสัย
ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่
“ฮักกุนนาส” 9249, (ลำดับในเว็บไซต์ 9221)
“ฮักกุนนาสและการขออภัย” 7952, (ลำดับในเว็บไซต์ 8054)
“กฏการระวังในยามสงสัย” 3078, (ลำดับในเว็บไซต์ 3324)
[1] มูซะวี,บุจนูรดี,ซัยยิดฮะซัน, อัลเกาะวาอิดุ้ลฟิกฮียะฮ์,ค้นคว้าเพิ่มเติมโดย เมะฮ์รีซี,มะฮ์ดี และ ดิรอยะตี,มุฮัมมัด ฮะซัน,เล่ม 2,หน้า 353-356,สำนักพิมพ์อัลฮาดี,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1419 และ เฏาะบาเฏาะบาอี,กุมมี,ซัยยิดตะกี, อัลอันวารุ้ลบะฮียะฮ์ ฟีเกาะวาอิดิ้ลฟิกฮียะฮ์,หน้า 190-191, สำนักพิมพ์มะฮัลลอที,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1423 และ ตับรีซี,ญะว้าด,ถามตอบปัญหาศาสนาใหม่,เล่ม 2,หน้า 71,คำถามที่ 325,กุม,พิมพ์ครั้งแรก
[2] อิมามโคมัยนี,ซัยยิดรูฮุลลอฮ์,ถามตอบปัญหาศาสนา,เล่ม 1,หน้า 169,คำถามที่ 158,สำนึกพิมพ์อิสลามี,กุม,พิมพ์ครั้งที่ห้า,ฮ.ศ.1422
[3] เพิ่งอ้าง,หน้า 110,คำถามที่ 295
[4] ตับรีซี,ญะว้าด,ถามตอบปัญหาศาสนาใหม่,เล่ม 2,หน้า 71,คำถามที่ 325
[5] บะฮ์ญัต,มุฮัมมัดตะกี,ถามตอบปัญหาศาสนา,เล่ม 2,หน้า 215,คำถามที่ 2302, สำนักพิมพ์อายะตุลลอฮ์บะฮ์ญัต,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1428
[6] มะการิมชีรอซี,นาศิร,ประมวลปัญหาศาสนา,หน้า 36,ปัญหาที่ 114,สำนักพิมพ์โรงเรียนอิมามอลีบินอบีฏอลิบ(อ.),กุม,พิมพ์ครั้งที่ห้าสิบสอง,ฮ.ศ.1429
[7] ดู: อัลเกาะวาอิดุ้ลฟิกฮียะฮ์,เล่ม 2,หน้า 355,356
[8] ดู: ระเบียน “ข้อสงสัยในหลักศรัทธา” คำถามที่ 4895 (ลำดับในเว็บไซต์ 5356)
[9] สอบถามโดยเว็บไซต์อิสลามเควสท์