Please Wait
14634
มุอ์มินีน คือกลุ่มผู้ศรัทธา ยอมจำนนต่ออัลลอฮ์ และเชื่อฟังศาสนทูตของพระองค์ทุกท่าน ซึ่งหากพิจารณาจากการที่อีหม่านของคนเรามีระดับที่ไม่เท่ากัน รวมถึงการที่กุรอานและฮะดีษถือว่าการเชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์เป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอีหม่านระดับสูง และจากการเปรียบเทียบแนวคิดของมัซฮับต่างๆกับเนื้อหาของอัลกุรอาน ก็จะได้ผลลัพธ์ว่า ผู้เจริญรอยตามอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้นที่เป็นผู้ศรัทธาที่มีระดับอีหม่านสูงเด่นตามทัศนะกุรอาน
อย่างไรก็ดี คำว่ามุอ์มินดังที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมหมายถึงผู้ที่เชื่อมั่นในอะฮ์ลุลบัยต์ ทั้งในแง่แนวคิดและภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง มิไช่บุคคลที่แอบอ้างอย่างฉาบฉวย
อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเตือนใจสามประการ คือ.
หนึ่ง: คำว่า“อิสลาม”กินความหมายกว้างกว่าคำว่า“อีหม่าน” โดยที่ฮะดีษบทต่างๆ ได้อธิบายคุณลักษณะของมุอ์มินไว้แล้ว ฉะนั้น แม้ผู้ใดมีคุณสมบัติไม่ครบ ก็มิได้หมายความว่า “เขามิไช่มุสลิม”
สอง: นับตั้งแต่อิสลามยุคแรกเป็นต้นมา ทุกมัซฮับต่างก็แสดงความรักและให้เกียรติอะฮ์ลุลบัยต์ด้วยกันทั้งสิ้น ผู้รู้ฝ่ายซุนหนี่หลายท่านก็เคยประพันธ์หนังสือมากมายเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของอะฮ์ลุลบัยต์ ซึ่งเราจะหยิบยกมานำเสนอในส่วนของรายละเอียดคำตอบ.
สาม: ผู้ที่ถือตามมัซฮับอื่นๆล้วนได้รับเกียรติในสายตาของผู้ยึดถือแนวทางอะฮ์ลุลบัยต์ และมีการถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว การศึกษา ความร่วมมือทางการเมืองและสังคม จึงทำให้สามารถพบเห็นผู้รู้ชีอะฮ์บางท่านเคยเล่าเรียนศาสตร์บางแขนงจากผู้รู้ฝ่ายซุนหนี่ ขณะเดียวกัน ในตำราฮะดีษของฝ่ายซุนหนี่ก็มีรายชื่อนักรายงานฮะดีษชีอะฮ์ปรากฏอยู่มากมาย
อย่างไรก็ดี การเสริมสร้างเอกภาพระหว่างพี่น้องมุสลิมถือเป็นวิธีขับเคลื่อนอิสลามสู่ความก้าวหน้า อีกทั้งยังเป็นปราการแข็งแกร่งที่ป้องกันศัตรูอิสลาม จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงเอกภาพมากกว่ารายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ.
คำว่า“มุอ์มิน”มาจากรากศัพท์ “امن” ซึ่งมีความหมายว่า การแสดงท่าทียอมรับ, เชื่อมัน และความอุ่นใจ, การยอมสยบ.[1] คำว่ามุอ์มินีนจึงแปลว่า กลุ่มผู้ให้การยอมรับ
ส่วนความหมายในแวดวงอิสลาม คำนี้ใช้กับผู้ศรัทธาในอัลลอฮ์ ภักดีและยอมสยบต่อพระองค์ รวมทั้งเชื่อฟังบรรดาศาสนทูต ท่านนบีกล่าวว่า “อีหม่านประกอบด้วยการบรรลุด้วยใจ เอ่ยด้วยวจี และปฏิบัติด้วยสรรพางค์กาย”[2]
สัญลักษณ์ของมุอ์มินที่ระบุในกุรอาน
กุรอานได้ระบุถึงสัญลักษณ์ของผู้ศรัทธาไว้ อาทิเช่น มุอ์มินเป็นผู้ที่ดำรงนมาซด้วยความนอบน้อม บริจาคในหนทางของพระองค์ หวังความสำเร็จจากพระองค์ กำชับกันในความดีและห้ามปรามจากความชั่ว หลีกห่างสิ่งไร้สาระ รักนวลสงวนตน เชื่อฟังและยอมสยบต่ออัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.)[3]
สัญลักษณ์ของมุอ์มินที่ระบุในกุรอานมิได้มีเพียงเท่านี้ สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า มุอ์มินที่แท้จริงคือผู้ที่สยบต่อคำบัญชาและสารธรรมจากอัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.)โดยดุษณี[4] มิไช่ผู้ที่เลือกปฏิบัติศาสนกิจตามใจชอบ ทั้งนี้ฮะดีษต่างๆได้สาธยายคุณสมบัติของมุอ์มินไว้ดังนี้: เป็นผู้สงวนตนจากกิเลศตัณหาแม้ในที่ลับตาคน บริจาคทานทั้งที่ตนเองขัดสน อดทนต่อความทุกข์ยากแ ระงับอารมณ์ยามโกรธ รักษาสัจจะ หวังความสำเร็จจากพระองค์ เชื่อฟังคำสั่งและพึงพอใจในลิขิตของพระองค์[5]
อนึ่ง แม้มุอ์มินทุกคนจะมีจุดร่วมเดียวกันในฐานะที่ยอมรับและเชื่อฟังพระองค์ แต่เนื่องจากมนุษย์เรามักจะมีความแตกต่างกันในแง่ของความรู้และความมุ่งมั่น จึงส่งผลให้ระดับอีหม่านของแต่ละคนแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ฐานะภาพของมุอ์มินไม่เท่าเทียมกัน[6]ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “อีหม่านเปรียบดั่งบันไดสิบขั้น ซึ่งจะต้องก้าวขึ้นไปละขั้น”[7]
การยอมรับในวิลายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ก็ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของอีหม่าน บทสรุปที่ได้จากการศึกษากุรอานและฮะดีษก็คือความเชื่อที่ว่า การเชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมอีหม่าน และหากผู้ใดมิได้ดำเนินชีวิตบนแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์ ย่อมถือว่าองค์ประกอบอีหม่านของเขายังบกพร่องอยู่
เราขอพิสูจน์วาทกรรมดังกล่าวโดยอ้างอิงโองการกุรอานและฮะดีษดังต่อไปนี้
1. โองการ“ตับลีฆ”ที่กล่าวว่า “โอ้ศาสนทูต จงเผยแผ่สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าประทานแด่เจ้า และมาตรว่าเจ้าไม่กระทำ (เท่ากับว่า)เจ้ามิได้เผยแผ่ศาสนสาส์นใดๆของพระองค์เลย”[8]
อิบนุ อะซากิร(ผู้รู้ที่มีชื่อเสียงฝ่ายซุนหนี่) ได้รายงานจากอิบนุ สะอี้ด คุดรีด้วยสายรายงานศ่อเฮี้ยะห์ว่า โองการนี้ประทานแก่ท่านนบีในวันแห่งเฆาะดีร คุม โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับท่านอลี(อ)[9] จากโองการนี้ทำให้ทราบว่า การเผยแผ่ตำแหน่งวิลายะฮ์ของท่านอิมามอลี(อ.)ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในภารกิจการเป็นศาสนทูตของท่านนบี(ซ.ล.) นั่นหมายความว่า การยอมรับวิลายะฮ์ของท่านอิมามอลี(อ.)คือองค์ประกอบหลักของการยอมรับความเป็นศาสดาของท่านนบี(ซ.ล.)
2. โองการ“วิลายะฮ์”ที่กล่าวว่า “ผู้มีสิทธิเหนือสูเจ้ามีเพียงอัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และเหล่ามุอ์มินที่ดำรงนมาซและบริจาคท่านแก่ผู้ยากไร้ขณะโค้งรุกู้อ์”[10]
ตำราอรรถาธิบายกุรอานและตำราฮะดีษของฝ่ายซุนหนี่ต่างเห็นพ้องกันว่า โองการดังกล่าวประทานลงมาในกรณีของท่านอลี (อ.)[11]
ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า หากผู้ใดเมินเฉยไม่ยอมรับวิลายะฮ์ของท่านอิมามอลี(อ.) เท่ากับว่าเขากำลังเมินเฉยต่อคำบัญชาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของพระองค์เลยทีเดียว โองการข้างต้นระบุชัดเจนว่าวิลายะฮ์ของท่านอิมามอลีอยู่เคียงข้างวิลายะฮ์ของอัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.) และในเมื่อความศรัทธาต่ออัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.)ถือเป็นองค์ประกอบหลักของอีหม่าน วิลายะฮ์ของท่านอิมามอลี(อ.)จึงนับเป็นองค์ประกอบหลักของอีหม่านด้วยเช่นกัน ยังมีอีกหลายโองการที่ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เพื่อไม่ให้คำตอบยืดยาวจึงขอยกมาเพียงสองโองการ
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษรายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)อีกมากมาย ซึ่งเราขอหยิบยกมาบางส่วนดังต่อไปนี้
1. ฮะดีษษะเกาะลัยน์: ทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่ต่างรายงานตรงกันว่า ท่านนบี(ซ.ล.)ได้กล่าวว่า “ฉันขอฝากฝังเกี่ยวกับสองสิ่งสำคัญ ที่หากพวกท่านยึดเหนี่ยวไว้ ก็จะไม่หลงทางอย่างแน่นอน, นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮ์ และวงศ์วานของฉัน”[12]
ฮะดีษนี้ชี้ชัดว่าหากไม่ยึดเหนี่ยวอะฮ์ลุลบัยต์ ย่อมต้องพบกับความหลงทางอย่างไม่ต้องสงสัย จึงเข้าใจได้ว่าการเชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์เป็นส่วนสำคัญของอีหม่านอย่างแท้จริง.
2. ฮะดีษสะฟีนะฮ์: ท่านนบีกล่าวว่า“อุปมาอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน อุปไมยสำเภาท่านนบีนู้ห์ ผู้ใดเมินเฉยไม่สนใจ เขาจะพินาศในไฟนรก”[13] ฮะดีษนี้มีนัยยะชัดเจนว่าการเคารพเชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแก่นแท้แห่งอีหม่าน.
3. ฮะดีษมันซิละฮ์: ท่านนบีกล่าวแก่อิมามอลีว่า“ฐานะภาพของเธอที่มีต่อฉัน เทียบเท่าฐานะภาพของนบีฮารูนที่มีต่อนบีมูซา จะต่างกันเพียงว่าหลังจากฉันจะไม่มีศาสดาคนใดอีก”[14] เนื้อหาของฮะดีษนี้ระบุชัดเจนว่า นอกจากตำแหน่งศาสดาแล้ว ท่านอิมามอลีมีฐานะภาพคล้ายคลึงกับท่านนบี(ซ.ล.)ทุกอย่าง ทำให้ทราบว่า การเคารพเชื่อฟังท่านอิมามอลีมีผลโดยตรงต่อระดับอีหม่านในทำนองเดียวกับการเคารพเชื่อฟังท่านนบี(ซ.ล.)
ท่านอิมามบากิร กล่าวว่า“อิสลามตั้งอยู่บนพื้นฐานห้าประการ นมาซ, ซะกาต, ศีลอด, ฮัจย์ และวิลายะฮ์ แต่ไม่มีประการใดจะได้รับการเน้นย้ำเชิญชวนเท่ากับวิลายะฮ์”[15]
ท่านอิมามศอดิก กล่าวว่า “หากแผ่นดินปราศจากอิมามเมื่อใด มันจะพังพินาศในบัดดล”[16]
ฮะดีษเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของหลักอิมามะฮ์และวิลายะฮ์(ภาวะผู้นำของอะฮ์ลุลบัยต์)ในการจุดคบเพลิงศรัทธาได้เป็นอย่างดี
จากเนื้อหาที่นำเสนอท่านผู้อ่านทั้งหมด ทำให้ทราบว่า มัซฮับเดียวที่สอดคล้องกับคำสอนของกุรอานอย่างแนบสนิท ทั้งในแง่ของความเชื่อ แนวคิด ทฤษฎีด้านศีลธรรม นิติศาสตร์และวิถีปฏิบัติ ก็คือมัซฮับที่เชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์ อันเป็นแนวทางที่ทำให้สามารถเข้าใจแก่นแท้ของกุรอานและฮะดีษ ทำให้รอดพ้นความหลงผิดและข้อบิดเบือนคำสอนอิสลาม
เพื่อพิสูจน์ทัศนคติดังกล่าว ควรคำนึงถึงสองประเด็นต่อไปนี้
หนึ่ง: ทั้งสายชีอะฮ์และซุนหนี่ต่างรายงานฮะดีษจากท่านนบีตรงกันว่า มุสลิมกลุ่มที่จะได้รับชัยชนะก็คือชีอะฮ์[17]
สอง: ควรศึกษาความเชื่อของฝ่ายชีอะฮ์โดยเปรียบเทียบกับกุรอาน
ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรศึกษาจากหนังสือที่ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์เขียนขึ้นเพื่อชี้แจงหลักความเชื่อของตน อาทิเช่น อะกออิดุช ชีอะฮ์ โดย มัรฮูม มุซ็อฟฟัร, บทเรียนอะกออิด โดย อุสตาซ มิศบาฮ์, ประมวลความเชื่อชีอะฮ์ โดย อุสตาซ ซุบฮานี, ชีอะฮ์ โดย อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี, อัลมุรอญะอ้าต และ อัศลุชชีอะฮ์ วะ อุศูลุฮา ...ฯลฯ
อย่างไรก็ดี การที่จะศึกษาความเชื่อของมัซฮับใดอย่างถ่องแท้ ควรพิจารณาดังนี้
1. ควรพิจารณาความเชื่อของมัซฮับที่ต้องการศึกษาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับของมัซฮับนั้นๆ ก่อนจะตัดสินว่ามัซฮับดังกล่าวถูกหรือผิด.
2. ไม่ควรนำระดับความเคร่งครัดของผู้นับถือมัซฮับมาใช้พิจารณาความถูกต้องของเนื้อหามัซฮับได้ ต้องทราบว่า ชีอะฮ์ที่แท้จริงคือผู้ที่เข้าใจและยึดมั่นในความเชื่อของชีอะฮ์ ไม่ว่าจะในแง่ความรู้ ทัศนคติ และแนวพฤติกรรม มิไช่ผู้ที่แอบอ้างอย่างฉาบฉวย หรือผู้ที่เป็นชีอะฮ์ตามผู้อื่น
ทั้งนี้ บรรดาอิมามได้ระบุคุณสมบัติของชีอะฮ์ไว้อย่างชัดเจน ท่านอิมามบากิรกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ บุคคลที่ขาดคุณสมบัติต่อไปนี้หาไช่ชีอะฮ์ของเราไม่ เขาต้องยำเกรงและเชื่อฟังอัลลอฮ์ เห็นได้จากการที่เขานอบน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ ปรนนิบัติบุพการี ช่วยเหลือเพื่อนบ้านผู้ยากไร้ ผู้มีหนี้สิน และลูกกำพร้า มีสัจจะวาจา อัญเชิญกุรอานเป็นประจำ และไม่เอ่ยวาจาต่อผู้ใดเว้นแต่คำอันไพเราะ”[18]
สุดท้ายนี้ไคร่ขอนำเสนอสามประเด็นสำคัญ
1. ความหมายของคำว่าอิสลามย่อมกว้างกว่าคำว่าอีหม่านเสมอ ส่วนคำว่ามุอ์มินเป็นศัพท์ที่ได้รับการอธิบายโดยฮะดีษต่างๆไว้แล้ว ซึ่งหมายความว่าหากผู้ใดยังมีคุณสมบัติไม่ครบตามเงื่อนไข ก็มิได้หมายความว่าเขาพ้นสภาพมุสลิมแต่อย่างใด.
อิมามบากิร(อ.) กล่าวว่า “อีหม่านคือสิ่งที่สถิตอยู่ ณ หัวใจ และจะเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งได้รับการยืนยันโดยการปฎิบัติตามคำบัญชาและยอมสยบต่อพระองค์ ส่วนอิสลามคือสิ่งที่เผยออกทางวาจาหรือพฤติกรรม อันเป็นสิ่งที่ผู้คนจากทุกมัซฮับล้วนให้การยอมรับ ส่งผลให้พวกเขาได้รับความปลอดภัยในชีวิต ได้รับมรดก และสมรสกันอย่างถูกทำนองคลองธรรม ผู้คนจะปฏิบัตินมาซ จ่ายซะกาต ถือศีลอด และประกอบพิธีฮัจย์ โดยสิ่งเหล่านี้จะจำแนกพวกเขาออกจากกุฟร์(มิจฉาทิฐิ) และนำพาสู่อีหม่าน...”[19]
2. ทุกมัซฮับล้วนให้เกียรติอะฮ์ลุลบัยต์ด้วยกันทั้งสิ้น เห็นได้จากการที่มุสลิมจากทุกมัซฮับนับตั้งแต่อิสลามยุคแรกจวบจนปัจจุบัน ล้วนแสดงความรักความนิยมต่ออะฮ์ลุลบัยต์มาโดยตลอด อุละมาอ์ฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์บางท่านได้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับบรรดาอิมามในวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์โดยเฉพาะ อาทิเช่น
มะวัดดะตุล กุรบา, มีร ซัยร์ อลี ชาฟิอี.
ยะนาบีอุล มะวัดดะฮ์, เชค สุลัยมาน บัลคี ฮะนะฟี.
มิอ์รอญุล วุศูล ฟี มะอ์ริฟะติ อาลิร เราะซูล, ฮาฟิซ ญะมาลุดดีน ซะร็อนดี.
มะนากิ้บ วะ ฟะฎออิล อะฮ์ลิลบัยต์, ฮาฟิซ อบูนะอีม อิศฟะฮานี.
มะนากิ้บ อะฮ์ลิลบัยต์, อิบนุ มะฆอซิลี ฟะกีฮ์ ชาฟิอี.
ร็อชฟะตุศ ศอดี มิน บะฮ์ริ ฟะฎออิลิ บะนิน นบียิล ฮาดี, ซัยยิด อบีบักร์ บิน ชะฮาดะตุดดีน อะละวี.
อัลอิตฮาฟ บิฮุบบิล อัชรอฟ, เชค อิบดุลลอฮ์ มุฮัมมัด บิน อามิร ชิบรอวี.
อิห์ยาอุล มัยยิต บิฟะฎออิลิ อะฮ์ลิลบัยต์, ญะลาลุดดีน สุยูฏี.
ฟะรออิดุส สิมฏ็อยน์ ฟี ฟะฎออิลิล มุรตะฎอ วัซซะฮ์รอ วัซซิบฏ็อยน์, ชัยคุลอิสลาม อิบรอฮีม บิน มุฮัมมัด เฮาบะนี.
ซะคออิรุล อุกบา, อิมามุล ฮะร็อม ชาฟิอี.
ฟุศูลุล มุฮิมมะฮ์ ฟี มะอ์ริฟะติล อะอิมมะฮ์, นูรุดดีน บิน ศ่อบ้าฆ มาลิกี.
ตัซกิเราะตุล เคาะวาศิล อุมมะฮ์ ฟี มะอ์ริฟะติล อะอิมมะฮ์, ยูซุฟ สิปฏ์ บิน เญาซี.
กิฟายะตุฏฏอลิบ, มุฮัมมัด บิน ยูสุฟ ฆันญี ชาฟิอี.
มะฏอลิบิส สุอ์ลิ ฟี มะนากิบิ อาลิร เราะซูล, มุฮัมมัด บิน ฏ็อลหะฮ์ ชาฟิอี.
3. กลุ่มผู้เจริญรอยตามอะฮลุลบัยต์ต่างให้เกียรติพี่น้องต่างมัซฮับ และมีพฤติกรรมถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในด้านความสัมพันธ์ฉันเครือญาติ การเรียนการสอน ความร่วมมือด้านการเมืองและสังคม. ดังจะเห็นได้จากการที่อุละมาอ์ชีอะฮ์บางท่านเรียนรู้ศาสตร์บางแขนงจากอาจารย์ฝ่ายซุนหนี่ ดังกรณีของชะฮีด เอาวัล(มุฮัมมัด บิน มักกี) ซึ่งกล่าวกันว่าท่านได้รับอนุญาตให้สามารถรายงานฮะดีษจากอุละมาอ์ซุนหนี่กว่าสี่สิบท่านอย่างเป็นทางการ.[20]
ในทางตรงกันข้าม นักรายงานฮะดีษชีอะฮ์ก็มีบทบาทในการสืบทอดฮะดีษตามตำราสำคัญๆของฝ่ายซุนหนี่ไม่น้อย โดยท่านซัยยิด ชะเราะฟุดดีนได้รวบรวมชื่อบุคคลเหล่านี้ไว้ถึงหนึ่งร้อยท่านในหนังสือ อัลมุรอญะอาต.
อย่างไรก็ดี เอกภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างพี่น้องมุสลิม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประชาคมมุสลิมสู่ความก้าวหน้า และยังเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดในการเผชิญหน้ากับศัตรูอิสลาม.
ผู้สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมจาก:
คำถาม248, ดัชนี ชีอะฮ์กับสวรรค์
คำถาม283, ดัชนี สวรรค์กับต่างศาสนิก
คำถาม323, ดัชนี ผู้ผิดกับการรอดพ้นจากนรก.
[1] มุอ์ญัม มะกอยีซุล ลุเฆาะฮ์, อักร่อบุลมะวาริด, พจนานุกรมรวม, คำว่า “امن”
[2] กันซุ้ล อุมม้าล, หน้า 95.
[3] อัลอันฟาล, 2-4 และ อัตเตาบะฮ์, 71 และ อัลมุอ์มินูน, 1-11.
[4] อันนิซาอ์, 65, 150.
[5] อุศู้ล อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 71, 232.
[6] อัลอันฟาล, 4 และ อัลมุญาดะละฮ์, 11 และ อัตเตาบะฮ์, 20.
[7] อุศู้ล อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 45.
[8] อัลมาอิดะฮ์, 67.
[9] อิบนุ อะซากิร, ตัรญิมะฮ์ อิมามอลี(อ), เล่ม 2, หน้า 86.
[10] อัลมาอิดะฮ์, 55.
[11] วาฮิดี, อัสบาบุ้นนุซูล,หน้า 133 และ อัลกัชช้าฟ เล่ม 1, หน้า 649. และ อบูบักร์ ญัศศอศ, อะห์กามุ้ลกุรอาน, เล่ม 2, หน้า 446.
[12] เศาะฮี้ห์ ติรมิซี, เล่ม 5, หน้า 621.
[13] อิบนิ อะษี้ร, นิฮายะฮ์, รากศัพท์ زخ
[14] เศาะฮี้ห์ ติรมิซี, เล่ม 5, หน้า 641.
[15] อัลกาฟี, เล่ม 2,หน้า 18.
[16] อ้างแล้ว, เล่ม 1,หน้า 179.
[17] ดุรรุ้ล มันษู้ร, เล่ม 6,อธิบายโองการ7 ซูเราะฮ์อัลบัยยินะฮ์ และ อัลมีซาน, เล่ม 2,หน้า 341.
[18] ตุฮะฟุ้ล อุกู้ล, หน้า 338.
[19] عِدَّةٌ مِنْ أَصْحَابِنَا عَنْ سَهْلِ بْنِ زِیَادٍ وَ مُحَمَّدُ بْنُ یَحْیَى عَنْ أَحْمَدَ بْنِ مُحَمَّدٍ جَمِیعاً عَنِ ابْنِ مَحْبُوبٍ عَنْ عَلِیِّ بْنِ رِئَابٍ عَنْ حُمْرَانَ بْنِ أَعْیَنَ عَنْ أَبِی جَعْفَرٍ ع قَالَ سَمِعْتُهُ یَقُولُ الْإِیمَانُ مَا اسْتَقَرَّ فِی الْقَلْبِ وَ أَفْضَى بِهِ إِلَى اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ وَ صَدَّقَهُ الْعَمَلُ بِالطَّاعَةِ لِلَّهِ وَ التَّسْلِیمِ لِأَمْرِهِ وَ الْإِسْلَامُ مَا ظَهَرَ مِنْ قَوْلٍ أَوْ فِعْلٍ وَ هُوَ الَّذِی عَلَیْهِ جَمَاعَةُ النَّاسِ مِنَ الْفِرَقِ کُلِّهَا وَ بِهِ حُقِنَتِ الدِّمَاءُ وَ عَلَیْهِ جَرَتِ الْمَوَارِیثُ وَ جَازَ النِّکَاحُ وَ اجْتَمَعُوا عَلَى الصَّلَاةِ وَ الزَّکَاةِ وَ الصَّوْمِ وَ الْحَجِّ فَخَرَجُوا بِذَلِکَ مِنَ الْکُفْرِ وَ أُضِیفُوا إِلَى الْإِیمَانِ وَ الْإِسْلَامُ لَا یَشْرَکُ الْإِیمَانَ وَ الْإِیمَانُ یَشْرَکُ الْإِسْلَامَ وَ هُمَا فِی الْقَوْلِ وَ الْفِعْلِ یَجْتَمِعَانِ کَمَا صَارَتِ الْکَعْبَةُ فِی الْمَسْجِدِ وَ الْمَسْجِدُ لَیْسَ فِی الْکَعْبَةِ وَ کَذَلِکَ الْإِیمَانُ یَشْرَکُ الْإِسْلَامَ وَ الْإِسْلَامُ لَا یَشْرَکُ الْإِیمَانَ وَ قَدْ قَالَ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ قالَتِ الْأَعْرابُ آمَنَّا قُلْ لَمْ تُؤْمِنُوا وَ لکِنْ قُولُوا أَسْلَمْنا وَ لَمَّا یَدْخُلِ الْإِیمانُ فِی قُلُوبِکُمْ فَقَوْلُ اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ أَصْدَقُ الْقَوْلِ قُلْتُ فَهَلْ لِلْمُؤْمِنِ فَضْلٌ عَلَى الْمُسْلِمِ فِی شَیْءٍ مِنَ الْفَضَائِلِ وَ الْأَحْکَامِ وَ الْحُدُودِ وَ غَیْرِ ذَلِکَ فَقَالَ لَا هُمَا یَجْرِیَانِ فِی ذَلِکَ مَجْرَى وَاحِدٍ وَ لَکِنْ لِلْمُؤْمِنِ فَضْلٌ عَلَى الْمُسْلِمอัลกาฟี, เล่ม 2,หน้า 26.
[20] อัลลุมอะฮ์ อัดดิมัชกียะฮ์, หน้า 16.