Please Wait
7802
กุรอานและฮะดีษจากนบีและบรรดาอิมามล้วนกำชับให้เห็นถึงความสำคัญของการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะมุอ์มิน
นอกจากนี้ยังได้สอนว่า การตั้งชื่ออันไพเราะและการเรียกขานผู้อื่นด้วยชื่ออันไพเราะนั้น นับเป็นการให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ประการหนึ่ง
เช่นในซูเราะฮ์ฮุญุรอตได้กล่าวว่า“จงอย่าเรียกขานกันและกันด้วยชื่ออันน่ารังเกียจ” ยิ่งไปกว่านั้น อิสลามสอนเราว่าผู้ศรัทธามีเกียรติยิ่งกว่าวิหารอัลกะอ์บะฮ์ ผู้ศรัทธาทุกคนจึงไม่ควรจะทำลายศักดิ์ศรีของตนเองหรือผู้อื่น
ท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)ก็คงจะไม่ยินดีปรีดา หากต้องเห็นกัลญาณมิตรดูถูกตนเองเพื่อเทิดเกียรติแด่ท่าน
อย่างไรก็ดี การจะตัดสินว่าพฤติกรรมใดขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมแต่ละพื้นที่ ชื่อบางชื่อในวัฒนธรรมหนึ่งอาจเป็นการดูหมิ่น แต่สำหรับอีกวัฒนธรรมหนึ่ง นอกจากจะไม่น่ารังเกียจแล้ว กลับจะเป็นที่ภาคภูมิใจด้วยซ้ำ แน่นอนว่าเขาภูมิใจในความหมายเชิงอุปมาอุปไมย และความหมายประเภทนี้ไม่ขัดต่อศักดิ์ศรีของผู้ศรัทธาแต่อย่างใด
อิสลามเคารพในศักดิ์ศรีและเกียรติยศของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะสำหรับมุสลิมและมุอ์มิน และถือว่ามนุษย์มีฐานะภาพที่สูงส่ง
อัลลอฮ์ได้กล่าวถึงคุณลักษณะและขั้นตอนการสร้างมนุษย์ไว้ว่า“แท้จริงเราได้สร้างมนุษย์ในรูปลักษณ์ที่ดีที่สุด” [1] และ “เราได้ประทานเกียรติยศแก่วงศ์วานอาดัม”[2]
จึงกล่าวได้ว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อัลลอฮ์ทรงสร้างอย่างวิจิตร ทรงคุณค่าและมีเกียรติยศสูงส่งในทัศนะของพระองค์ ในจำนวนนี้ ผู้ศรัทธาที่ยอมสยบต่อคำบัญชาของพระองค์จะได้รับเกียรติสูงกว่าผู้อื่น โดยกุรอานและฮะดีษได้เน้นย้ำให้ผู้ศรัทธารักษาฐานะภาพอันสูงส่งนี้ของตนเองและผู้อื่นไว้ให้นานเท่านาน[3]
ฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงผลบุญอันมหาศาลของการช่วยเหลือ[4] การให้เกียรติผู้ศรัทธา[5] และยังห้ามมิให้เมินเฉยต่อผู้ศรัทธาในยามยาก[6] ห้ามมิให้ยั่วโทสะพวกเขา[7] เหล่านี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องเคารพศักดิ์ศรีของผู้ศรัทธา ถึงขั้นที่มีฮะดีษระบุว่า “เกียรติของผู้ศรัทธาเหนือกว่าเกียรติของวิหารกะอ์บะฮ์”[8]
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อัลลอฮ์และบรรดามะอ์ศูมีนได้สอนให้เราตั้งชื่ออันดีงามแก่บุตรธิดา และยังสอนให้เรียกขานผู้อื่นด้วยชื่อหรือฉายาที่ดีเท่านั้น อิมามอลี(อ.)กล่าวว่า“สิทธิที่บุตรธิดามีต่อพ่อก็คือ จะต้องตั้งชื่อที่ดีแก่พวกเขา”[9]
กุรอานห้ามปรามไว้ว่า “ผู้ศรัทธาไม่ควรดูถูกกันและกัน ไม่ควรเรียกชื่อหรือฉายาอันไม่พึงประสงค์ ไม่ควรมีอคติกับพี่น้องมุสลิม ไม่ควรจ้องจับผิดและติฉินนินทากันและกัน”[10] เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะบ่อนทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และโดยเฉพาะผู้ศรัทธาอย่างร้ายแรง
ดังที่อัลลอฮ์ไม่ปรารถนาจะเห็นผู้ศรัทธาเรียกขานชื่อที่น่ารังเกียจและดูถูกกันและกัน แน่นอนว่าหากผู้ศรัทธาคนใดตั้งชื่อหรือฉายาที่น่ารังเกียจแก่ตนเอง อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นหมิ่นประมาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม[11]
สรุปคือ ศาสนาที่เคารพศักดิ์ศรีมนุษยชนเช่นอิสลาม ไม่อนุญาตให้ผู้ศรัทธาขนานนามตนเองหรือผู้อื่นด้วยชื่ออันไม่พึงประสงค์ บทบัญญัตินี้ครอบคลุมถึงวิธีการอะซอดอรี(ไว้ทุกข์แด่บรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์)ด้วย กล่าวคือ แม้จะด้วยเหตุผลที่ต้องการเทิดเกียรติบรรดาอิมามก็ไม่อนุญาตให้กระทำเช่นนั้น เนื่องจากการกระทำดังกล่าวขัดต่อคำสอนของกุรอานและบรรดาอิมาม บรรดาอิมามเองก็เคยห้ามปรามมิให้ผู้ที่เลื่อมใสแสดงพฤติกรรมที่ส่อถึงความต่ำต้อยเพื่อหวังจะให้เกียรติท่าน[12] หากได้ทราบว่านบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.)ไม่ประสงค์จะเห็นผู้เลื่อมใสแสดงความต่ำต้อยเพียงการโค้งตัวให้เกียรติท่าน แน่นอนว่าคงจะไม่ยอมให้ผู้ใดให้เกียรติท่านด้วยวิธีขนานนามตัวเองว่าเป็นสุนัขหรือสัตว์ประเภทอื่นๆอย่างเด็ดขาด
ในยุคของของนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมาม(อ.) เราไม่เคยพบเห็นเศาะฮาบะฮ์ยุคแรก หรือสาวกระดับแนวหน้า หรือผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ อาทิเช่น อายะตุลลอฮ์ บุรูเญรดี, อิมามโคมัยนี ฯลฯ แสดงพฤติกรรมดังกล่าวเลย นอกจากนี้ การกระทำที่จะเป็นเหตุให้มัซฮับชีอะฮ์ถูกเหยียดหยาม ย่อมส่งผลให้ภาพลักษณ์ของบรรดาอิมามเสื่อมเสียไปด้วย บรรดาอิมามจึงห้ามปรามมิให้กระทำเช่นนี้ ดังที่ท่านอิมามญะอ์ฟัร(อ.)กล่าวไว้ว่า“จงเป็นเครื่องประดับสำหรับเรา และจงอย่าเป็นเหตุให้เราเสื่อมเสีย”[13]
จึงเป็นการเหมาะสมกว่า หากเราจะแสดงออกถึงความรักในลักษณะที่สอดคล้องกับคำสอนของบรรดาอิมาม(อ.) ตลอดจนระมัดระวังคำพูดที่จะทำให้บุคคล การไว้อาลัย และมัซฮับได้รับความเสื่อมเสีย
สุดท้ายนี้ อยากจะฝากข้อคิดต่อไปนี้ว่า สิ่งที่จะเป็นตัวชี้วัดพฤติกรรมที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ความแตกต่างของวัฒนธรรมแต่ละท้องที่จะเป็นตัวแปรในการพิจารณาพฤติกรรม ยกตัวอย่างเช่น ในวัฒนธรรมของบางพื้นที่ ชื่อบางชื่ออาจนำมาซึ่งความอับอาย แต่ในวัฒนธรรมของอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่เพียงแต่จะไม่น่าอับอาย แต่อาจจะเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้ภาคภูมิใจก็คือความหมายเชิงอุปมาอุปไมย มิไช่ความหมายเชิงคำศัพท์ เนื่องจากความหมายเชิงอุปมาอุปไมย หรือกาพย์โคลงกลอน[14] ย่อมไม่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเป็นผู้ศรัทธาแต่อย่างใด
[1] ซูเราะฮ์ อัตตีน,4
[2] อัลอิสรออ์,70
[3] อันนู้ร,12 อัลฮุญุรอต,11,12 และ หนังสือวะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 11(หมวดว่าด้วยการกำชับความดีและห้ามปรามความชั่ว,ฮะดีษว่าด้วยการให้เกียรติมุอ์มิน)
[4] อ้างแล้ว, 582
[5] อ้างแล้ว, 590
[6] อ้างแล้ว, 597
[7] อ้างแล้ว, 569
[8] มุสตั้ดร่อกุลวะซาอิ้ล,เล่ม 9,หน้า 343,ฮะดีษที่ 9.
[9] นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,ฮิกมะฮ์ 399.
[10] ซูเราะฮ์ ฮุญุร้อต, 11-14
[11] อัลมีซานฉบับแปลฟารซี,เล่ม 18,หน้า 481.
[12] ดู: นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,ถ้อยธรรมสั้นลำดับที่ 37
[13] อัลกาฟี,เล่ม 2,หน้า 77,ฮะดีษที่ 9
[14] ดังที่ปรากฏในประวัติของเชคฏูซีว่า ท่านได้สั่งให้เขียนโองการที่เกี่ยวกับสุนัขของอัศฮาบุ้ลกะฮ์ฟิบนสุสานของท่าน หรือกรณีกลอนยกย่องอิ
ามอลี(อ.)ของท่านอายะตุลลอฮ์ วะฮีด โครอซอนี ที่ลงท้ายว่า “ฉันคือหนึ่งเดียวในเรื่องความผิดพลาด เป็นเพียงสุนัขที่บัดนี้ชราภาพในถิ่นฐานของท่าน” อย่างไรก็ดี เหล่านี้เป็นการอุปมาอุปไมยเชิงกาพย์โคลงกลอนเท่านั้น ซึ่งไม่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด