Please Wait
6686
ฮะดีษนี้ปรากฏอยู่ในตำราฝ่ายซุนหนี่และชีอะฮ์ โดยมีความน่าเชื่อถือสูงเนื่องจากมีหลากสายรายงาน แต่คำถามที่มีมาตั้งแต่อดีตก็คือ ความหมายของลูกหลานในฮะดีษนี้ครอบคลุมเพียงใด? เมื่อพิจารณาเทียบกับฮะดีษอื่นๆก็จะเข้าใจได้ว่าฮะดีษนี้เจาะจงเฉพาะบุตรชั้นแรกของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)เท่านั้น ที่ได้รับความเมตตาให้มีภาวะปลอดบาปอันเป็นการสมนาคุณแด่การสงวนตนของท่านหญิง ทว่าลูกหลานชั้นต่อๆไปแม้จะได้รับสิทธิบางอย่าง แต่จะไม่ได้รับความปลอดภัยจากการลงทัณฑ์อย่างสมบูรณ์
มีฮะดีษปรากฏในบิฮารุลอันว้ารดังนี้:
بِإِسْنَادِ التَّمِیمِیِّ عَنِ الرِّضَا عَنْ آبَائِهِ ع قَالَ قَالَ النَّبِیُّ ص إِنَّ فَاطِمَةَ أَحْصَنَتْ فَرْجَهَا فَحَرَّمَ اللَّهُ ذُرِّیَّتَهَا عَلَى النَّار
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “อัลลอฮ์ทรงสมนาคุณความรักนวลสงวนตัวของฟาฏิมะฮ์ด้วยการบันดาลให้บุตรของเธอพ้นจากไฟนรก”[1]
ฮะดีษดังกล่าวมีอยู่ในหนังสืออุยูน อัคบาริรริฏอ(อ.) ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงของบิฮารุลอันว้ารในลักษณะสายรายงานเดียวกันนี้[2]
ฮะดีษนี้ได้รับการรายงานโดยนักรายงานฮะดีษและตำรับตำรามากมายทั้งฝ่ายซุนหนี่และชีอะฮ์ และมีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาอย่างแพร่หลาย อันแสดงว่าไม่มีข้อโต้แย้งในแง่ความน่าเชื่อถือของตัวบทฮะดีษ[3]
นักเขียนชาวซุนหนี่ในศตวรรษที่สิบท่านหนึ่งกล่าวถึงฮะดีษบทนี้ว่า ข้อสรุปที่ถูกต้องก็คือ สายรายงานของฮะดีษนี้ค่อนข้างดี และดังที่ฉันอธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสืออีกเล่มหนึ่งว่า ไม่ถูกต้องนักหากจะถือว่าฮะดีษนี้ถูกกุขึ้น[4]
แต่ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็คือ นัยยะของฮะดีษนี้ครอบคลุมเพียงใด? จำกัดเฉพาะบุคคลบางกลุ่ม หรือหมายรวมถึงลูกหลานทั้งหมดของท่านหญิง?
จากรายงานของฝ่ายชีอะฮ์ทำให้ทราบว่า มีลูกหลานนบีบางคนที่มองว่าฮะดีษนี้เปรียบเสมือนใบรับรองจากอัลลอฮ์ที่ว่า ความผิดทุกประการของพวกเขาจะได้รับอภัยโทษและจะไม่ถูกลงทัณฑ์ไม่ว่ากรณีใดๆ
บรรดาอิมาม(อ.)พยายามคัดค้านแนวคิดนี้ โดยถือว่าฮะดีษดังกล่าวไม่ควรเป็นเหตุให้บุคคลบางกลุ่มฉวยโอกาส ดังฮะดีษต่อไปนี้:
1. ฮะซัน บินมูซา เล่าว่าเขามีโอกาสเข้าพบอิมามริฎอ ซึ่งขณะนั้นมีเซด บิน มูซา น้องชายของท่านนั่งอยู่ด้วย เซดรวบรวมผู้คนมานั่งล้อมวงแล้วพยายามคุยโม้โอ้อวดว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านอิมามริฎอ(อ.)ได้ยินคำพูดของน้อยชายจึงพูดขึ้นว่า “ฮะดีษที่ว่าไฟนรกจะไม่ประสบแก่บุตรของฟาฏิมะฮ์เนื่องจากการสงวนตนของนาง ทำให้เจ้าเหิมเกริมกระนั้นหรือ? ขอสาบานต่อพระองค์ กรอบความหมายของฮะดีษนี้เจาะจงเฉพาะอิมามฮะซัน(อ.) อิมามฮุเซน(อ.) และลูกๆในชั้นแรกของท่านหญิงเท่านั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่พ่อของเรา มูซา บิน ญะฟัร(อ.)ที่เคารพภักดีต่อพระองค์ด้วยการถือศีลอดยามกลางวันและอิบาดัตยามค่ำคืน จะมีสถานะเท่ากับเจ้าในวันกิยามะฮ์หากเจ้าทำบาปกรรม?! หากเป็นเช่นนั้นจริงแสดงว่าเจ้ามีสถานะสูงกว่าพ่อ (เพราะทั้งที่ทำบาป แต่มีสถานะเท่ากับผู้ที่เคารพภักดีอัลลอฮ์) อิมามซัยนุลอาบิดีนเคยกล่าวไว้ว่า ลูกหลานนบีที่ประพฤติดีจะได้ผลบุญสองเท่า แต่หากประพฤติชั่วจะถูกลงทัณฑ์สองเท่าเช่นกัน”[5]
ฮะดีษคล้ายกันนี้ก็ปรากฏในตำราเล่มอื่นๆเช่นกัน[6]
2. ฮัมม้าด บิน อุษมานเล่าว่า ฉันได้ขอให้ท่านอิมามมูซา กาซิม(อ.)อธิบายฮะดีษนบีเกี่ยวกับการที่บุตรของฟาฏิมะฮ์จะรอดพ้นจากไฟนรก ท่านกล่าวว่า ฮะดีษนี้เจาะจงเฉพาะบุตรชั้นแรกของนาง ซึ่งก็คือท่านอิมามฮะซัน(อ.)และอิมามฮุเซน(อ.) ท่านหญิงซัยนับ และอุมมุกุลษูมเท่านั้น”[7]
3. มีผู้ถามอิมามศอดิก(อ.)ว่า ฮะดีษนี้จะไม่ถือเป็นใบเบิกทางสำหรับลูกหลานท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ทุกคนดอกหรือ? ท่านตอบว่า เธอไม่รู้หรืออย่างไรว่า ฮะดีษนี้เจาะจงเฉพาะฮะซันและฮุเซนเท่าผู้เป็นส่วนหนึ่งของอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้น แต่กรณีของคนอื่นๆจะต้องทราบว่า หากความประพฤติที่ไม่เหมาะสมได้ดึงบุคลิกภาพของเขาลงต่ำ เลือดเนื้อเชื้อไขของผู้ประพฤติดีก็ยกระดับเขาไม่ได้”[8]
อย่างไรก็ดี ยังมีฮะดีษบางบทที่อาจทำให้เข้าใจสวนทางกับที่อธิบายมา[9] แต่เมื่อคำนึงถึงหลักคำสอนของอิสลามและกุรอานแล้ว แม้บุคคลบางกลุ่มอาจได้รับเกียรติยศบางกรณี แต่การที่จะเชื่อว่าบุคคลเหล่านี้จะรอดพ้นการลงทัณฑ์แม้จะประพฤติชั่วนั้น ย่อมขัดต่อหลักคำสอนของศาสนา ส่วนเอกสิทธิ์การรอดพ้นไฟนรกที่บุตรชั้นแรกของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ได้รับนั้น ก็เนื่องมาจากวิสัยทัศน์ที่สูงส่งที่อัลลอฮ์ประทานให้บุตรของนางเป็นการสมนาคุณแก่ท่านหญิงที่ได้สงวนตนมาตลอด วิสัยทัศน์นี้เองที่ทำให้พวกเขาหลีกห่างจากการทำบาป
[1] มัจลิซี,มุฮัมมัดบากิร,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 43,หน้ 20,สำนักพิมพ์อัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ.1404
[2] เชคเศาะดู้ก,อุยูน อัคบาริร ริฎอ(อ.),เล่ม 2,หน้า 63,ฮะดีษที่ 264,สำนักพิมพ์ญะฮอน,เตหราน,ฮ.ศ.1378
[3] อิบนิชะฮ์รอชู้บ,มะนากิ๊บ อาลิอบีฏอลิบ,เล่ม 3,หน้า 325,สำนักพิมพ์อัลลามะฮ์,กุม,ฮ.ศ.1379 และ มักรีซี,ตะกียุดดีน,อัมตาอุ้ลอัสมาอ์,เล่ม 4,หน้า 196,เบรุต,ดารุลกุตุบิ้ลอิลมียะฮ์,ฮ.ศ.1420
[4] ศอลิฮี ชามี,สุบุลุ้ลฮุดา วัรเราะช้าด ฟี ซีเราะติค็อยริ้ลอิบ้าด,เล่ม 11,หน้ 50,ดารุลกุตุบิ้ลอิลมียะฮ์,เบรุต,ฮ.ศ.1414
[5] เชคเศาะดู้ก,อุยูน อัคบาริร ริฎอ(อ.),เล่ม 2,หน้า 232,ฮะดีษที่ 1
[6] อิรบิลี,อลี บิน อีซา,กัชฟุ้ลฆุมมะฮ์,เล่ม 2,หน้า 310,หอสมุดบนีฮาชิมี,ตับรี้ซ,ฮ.ศ.1381
[7] เชคเศาะดู้ก,มะอานิ้ลอัคบ้าร,หน้า 106,ฮะดีษที่ 3,สำนักพิมพ์ญามิอะฮ์มุดัรริซีนกุม, (ฮะดีษก่อนหน้านี้ก็เกี่ยวกับประเด็นนี้เช่นกัน)
[8] อิบนิ อบิ้ลฮะดี้ด,ชัรฮ์ นะฮ์ญุ้ลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 18,หน้า 252,หอสมุดอายะตุ้ลลอฮ์มัรอะชี,กุม,ฮ.ศ.1404
[9] รอวันดี้,กุฏบุดดีน,อัลเคาะรออิจ วัลญะรออิห์,เล่ม 1,หน้า 281,สถาบันอิมามมะฮ์ดี(อ.),กุม,ฮ.ศ.1409