Please Wait
8996
จากการศึกษาตำราฮะดีษ เราไม่พบหลักฐานใดๆที่ระบุว่าประโยคดังกล่าวเป็นฮาดีษบรรดามะศูมีน อย่างไรก็ดี ประโยคนี้ให้นิยามเหตุการณ์กัรบะลาและแนวทางอิมามัตไว้อย่างถูกต้อง อีกทั้งแฝงไว้ด้วยบทเรียนและคำสอนอันทรงคุณค่า เพราะแม้ว่าจะไม่มีวันใดเสมอเหมือนกับวันอาชูรออีกแล้ว แต่การกดขี่ผู้อ่อนแอโดยผู้อธรรมก็ยังคงมีอยู่จวบจนการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งจะจัดการถอนรากถอนโคนการกดขี่ให้หมดสิ้น ทั้งนี้ วัฒนธรรมของอาชูรอจะยังคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์ และกัรบะลาก็ยังคงเป็นเครื่องหมายของการทุ่มเทเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และการต่อสู้กับความอยุติธรรมต่อไป ผู้นำทางศาสนาของเราได้สอนเราเช่นนี้ว่า จะต้องต่อสู้กับการกดขี่ของผู้อธรรม และท่านเหล่านั้นก็ได้ปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์เสมอ ด้วยเหตุนี้ อาชูรอจึงมิได้จำกัดอยู่ในกรอบแห่งกาลเวลาหรือสถานที่
จากการศึกษาตำราฮะดีษ เราไม่พบหลักฐานใดๆ[1]ที่ระบุว่าประโยคดังกล่าวเป็นฮาดีษบรรดามะศูมีน[2]อย่างไรก็ดี ประโยคนี้ให้นิยามเหตุการณ์กัรบะลาและแนวทางอิมามัตไว้อย่างถูกต้อง อีกทั้งแฝงไว้ด้วยบทเรียนและคำสอนอันทรงคุณค่า เพราะแม้ว่าจะไม่มีวันใดเสมอเหมือนกับวันอาชูรออีกแล้ว แต่การกดขี่ผู้อ่อนแอโดยผู้อธรรมก็ยังคงมีอยู่จวบจนการปรากฏกายของอิมามมะฮ์ดี (อ.) ซึ่งจะจัดการถอนรากถอนโคนการกดขี่ให้หมดสิ้น ทั้งนี้ วัฒนธรรมของอาชูรอจะยังคงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์ และกัรบะลาก็ยังคงเป็นเครื่องหมายของการทุ่มเทเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ และการต่อสู้กับความอยุติธรรมต่อไป ผู้นำทางศาสนาของเราได้สอนเราเช่นนี้ว่า จะต้องต่อสู้กับการกดขี่ของผู้อธรรม และท่านเหล่านั้นก็ได้ปฏิบัติให้เป็นที่ประจักษ์เสมอ ด้วยเหตุนี้ อาชูรอจึงมิได้จำกัดอยู่ในกรอบแห่งกาลเวลาหรือสถานที่
ประโยค “กุลลุเยาวมินอาชูรอ กุลลุอัรฎินกัรบะลา” แสดงให้เห็นว่าการเผชิญหน้ากันระหว่างสัจธรรมและอธรรมยังคงมีอยู่ในทุกยุคสมัย อาชูรอและกัรบะลาเปรียบเสมือนโซ่ข้อสำคัญในกระบวนการเผชิญหน้าดังกล่าว สัจธรรมและความอธรรมจะเผชิญหน้ากันเสมอ โดยที่อิสรชนต่างมีหน้าที่ต้องปกป้องสัจธรรมและกำราบอธรรม การวางเฉยต่อการเผชิญหน้าดังกล่าวย่อมจะถือเป็นพฤติกรรมของคนที่ไม่ใส่ใจต่อศาสนา
อิมามโคมัยนี ซึ่งเป็นผู้เจริญรอยตามอิมามฮุเซน(อ.) และเป็นผู้สถาปนาสาธารณรัฐอิสลาม อีกทั้งเป็นผู้ที่ต่อกรกับทรราชย์ในยุคสมัยของท่าน ท่านเชื่อว่าประโยคนี้คือ “วาทะอันยิ่งใหญ่” และว่าจะต้องปกป้องนัยยะของอาชูรอ และจะต้องประยุกต์ใช้บทเรียนของกัรบะลาให้ได้ ท่านกล่าวว่า“ประโยคนี้ (กุลลุเยามินอาชูรอ กุลลุอัรฏินกัรบะลา)ถือเป็นวาทะอันยิ่งใหญ่ ประชาชาติของเราจะต้องคำนึงถึงความหมายนี้ทุกๆวันว่า วันนี้แหล่ะคืออาชูรอที่เราจะต้องต่อสู้กับการกดขี่ และสถานที่แห่งนี้แหล่ะคือกัรบะลาที่เราจะต้องแสดงบทบาทเฉกเช่นผู้ที่อยู่ในกัรบะลา สิ่งนี้หาได้จำกัดเฉพาะพื้นที่เดียวไม่ หาได้เจาะจงบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ เหตุการณ์กัรบะลาไม่ได้เจาะจงไว้สำหรับกลุ่มบุคคลเจ็ดสิบกว่าคน เพราะทุกจุดภูมิศาสตร์ในโลกจะต้องมีบทบาทนี้”[3]
อิมามโคมัยนีเชื่อว่าการปฏิวัติและการพลีชีพของท่านอิมามฮุเซน(อ.) ควรเป็นบรรทัดฐานสำหรับจารีตทางสังคมของมุสลิม พื้นฐานความเชื่อดังกล่าวช่วยให้ท่านสามารถขับเคลื่อนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ท่านกล่าวว่า “การกระทำของอิมามฮุเซน(อ.) วิสัยทัศน์ แนวทางของท่าน และชัยชนะที่ตัวท่านเองและอิสลามได้มาด้วยการพลีชะฮีดนั้น(ล้วนประยุกต์ใช้ได้) ส่วนประโยคอันแฝงด้วยบทเรียน(กุลลุเยาม์ฯ)นั้น ก่อให้เกิดหน้าที่และนิมิตหมายที่ดี หน้าที่ก็คือ ทำให้ทราบว่า แม้ผู้ที่อยู่ภายใต้การกดขี่จะมีกำลังพลอันน้อยนิด แต่ก็มีหน้าที่ลุกขึ้นต่อต้านผู้อธรรมที่มีแสนยานุภาพเยี่ยงซาตาน ดังที่อิมามฮุเซน(อ.)ได้ยืนหยัดมาแล้ว ส่วนที่ว่าเป็นนิมิตหมายอันดี ก็เนื่องจากว่า บรรดาชะฮีดของพวกเราได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชะฮีดแห่งกัรบะลาเช่นกัน”
ท่านยังได้กล่าวในช่วงสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรักว่า “แม้สมรภูมิอาชูรอจะเป็นสงครามที่สั้นที่สุดในแง่กาลเวลา(ครึ่งวัน) แต่ในแง่ของความต่อเนื่อง สงครามนี้เป็นสงครามที่มีการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมที่ยาวนานที่สุด และตราบใดที่ยังมีผู้ไฝ่ฝันอยากเป็นชะฮีดเพื่อช่วยเหลืออิมามฮุเซน ณ กัรบะลาดังประโยคที่ว่า
یا لیتنا کنا معکم فنفوز فوزا عظیما[4] เมื่อนั้นสมรภูมิแห่งกัรบะลาก็ยังคงร้อนระอุเสมอ[5]
กล่าวคือ ดังที่อิมามฮุเซน (อ.)เป็นผู้สืบเจตนารมณ์ของท่านนบีอาดัม(อ.) นบีอิบรอฮีม(อ.) นบีนูฮ์(อ.) นบีมูซา(อ.) นบีอีซา(อ.) และนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ฉันใด เหล่าบรรดาสาวกอาชูรอก็เป็นผู้สืบเจตนารมณ์ญิฮาดและการพลีชะฮีดฉันนั้น และพวกเขาไม่มีวันที่จะทิ้งธงชัยแห่งกัรบะลา เหล่านี้คือแก่นแท้ทางการเมืองการปกครองของชีอะฮ์ ดังที่อิมามฮุเซน (อ.) กล่าวไว้ว่า “فلکم فیّ اسوة วิถีของฉันคือแบบฉบับสำหรับพวกท่าน”[6]
แนวคิดนี้หักล้างความเชื่อที่ว่า กัรบะลาและการต่อสู้ของอิมามฮุเซน (อ.) เป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับอิมามผู้เดียวเท่านั้น โดยผู้อื่นไม่อาจจะปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้
“ชีอะฮ์คือผู้พร้อมทะยานมุ่ง
เมื่อเมฆหมอกเคลื่อนออกจากดวงตะวัน
ชีอะฮ์คือผู้กระหายการทดสอบ
ชีอะฮ์คือมหากาพย์การต่อสู้ ณ กัรบะลา
ชีอะฮ์คือแสงสะท้อนจากฟากฟ้า
สู่รุ้งงามที่โค้งผ่านปลายหอก
ขอสดับฟังเสียงท่านจากยอดคม
ถ้อยคารมที่ว่า“ฉันไม่เห็นความตายนอกจากความผาสุก”[7]
นักเขียนผู้หนึ่งได้บันทึกไว้ว่า “เราเชื่อมั่นว่า หากอิมามฮุเซน (อ.) อยู่ในยุคสมัยของเรา ท่านจะสร้างกัรบะลาคำรบสองในพื้นที่อัลกุดส์,ตอนใต้ของเลบานอนและพื้นที่ส่วนใหญ่ของมุสลิมอย่างแน่นอน และท่านจะยังคงรักษาจุดยืนเดิมเช่นที่เคยเผชิญหน้ามุอาวียะฮ์และยะซีด”[8]
[1] บ้างเชื่อว่าประโยคดังกล่าวเป็นฮะดีษจากอิมามศอดิก(อ.)แต่มิได้อ้างหลักฐานใดๆประกอบ ดู: สาส์นอาชูรอ,อับบาส อะซีซี,หน้า 28 และ ปทานุกรมอาชูรอ,ญะวาด มุฮัดดิซี,หน้า 371.
[2] บ้างกล่าวถึงเบาะแสที่ว่าประโยคดังกล่าวมิไช่ฮะดีษจากมะอ์ศูม ดู: นิตยสารอุลูมุลฮะดีษ,ฉบับที่ 26.
[3] ศ่อฮีฟะฮ์ นู้ร,เล่ม 9,หน้า 202.
[4] ซิยารัตอาชูรอ.
[5] ศ่อฮีฟะฮ์ นู้ร,เล่ม 20,หน้า 195.
[6] ตารีคฏอบะรี,เล่ม 4,หน้า 304.
[7] แปลจากบทกวี“จดหมายเหตุชีอะฮ์”,มุฮัมมัดริฎอ ออฆอซี(นสพ.เคย์ฮอน ฉบับ12/6/71)
[8] อัลอินติฟาฎอตุชชีอียะฮ์,ฮาชิม มะอ์รูฟ อัลฮะซะนี,หน้า 387.